“อลงกรณ์” ชี้ ต้องยอมรับ หากประชาชนโหวตโนคำถามพ่วง ยี้ สูตรเลือกตั้งกรธ. ไม่ตอบโจทย์

“อลงกรณ์” ชี้ ต้องยอมรับ หากปชช. โหวตโนคำถามพ่วง ยี้ สูตรเลือกตั้งกรธ. ไม่ตอบโจทย์ ยังมีจุดอ่อนเปิดช่องทุจริต เชื่อ กกต.เปิดกว้างรณรงค์ “รับ-ไม่รับ” ร่างรธน.

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กล่าวถึงคำถามพ่วงที่เปิดช่องให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า ความเห็นของแม่น้ำ 4 สายที่ส่งถึง กรธ.ได้รับการตอบสนอง เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งสปท.สนช.ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สายก็มีความเห็นว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยยังมีความจำเป็นต้องมีกลไกป้องกันวิกฤตทางการเมืองที่อาจเกิดซ้ำรอยขึ้น เพราะขณะนี้แม่น้ำสายต่างๆยังไม่มั่นใจ เพราะท่าทีของพรรคการเมืองหลักๆยังไม่เป็นมิตรต่อกันเหมือนก่อนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อยู่ จึงเสนอคำถามพ่วง แต่ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญควรเขียนบนพื้นฐานประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับให้มากที่สุด ขณะที่กลไกและมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ควรเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนถึงระยะเวลาเพื่อป้องกันความสับสนจนอาจถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากประชาชนเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ว.ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกฯก็ต้องยอมรับความเห็นประชาชน

เมื่อถามถึง เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนทำประชามติ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จะให้ผ่านหรือไม่ ตนก็จะไปใช้สิทธิในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่โดยส่วนตัวมีประเด็นที่ถูกใจ กับที่ไม่เห็นด้วย สำหรับประเด็นที่ไม่เห็นด้วย อาทิ ระบบเลือกตั้ง เพราะด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการเลือกตั้งในช่วง20 ปีที่ผ่านมา ตนคิดว่า ระบบเลือกตั้งที่กรธ.ออกแบบ ยังไม่ตอบโจทย์ปัญหาการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องทุจริตคอรัปชั่น เพราะระบบนี้จะทำให้อิทธิพลของทุนทางการเมืองมีสูงมากกว่าในอดีต ใครที่บอกว่าพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็กจะได้เปรียบนั้น เป็นลับลวงพราง เพราะนี่เป็นระบบที่เอื้อให้กับพรรคขนาดใหญ่ การเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว จะทำให้คนในภาคใต้หรือภาคอีสานตัดสินใจง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนที่อาจจะเลือก ส.ส.แบบเขต กับพรรคไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นจุดอ่อนที่จะทำให้มีทุจริตมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นจุดวิกฤตต่อไปด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ ตนคิดว่า วิธีการใหม่ๆที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนว่า ประเทศไม่ใช่หนู อย่านำไปเสี่ยงกับระบบที่ไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรมาทดลองในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะหากผ่านช่วงนี้ไปไม่ได้ อาจกลับมาเป็นวิกฤตซ้ำขึ้นอีกก็เป็นได้

เมื่อถามว่า การรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลงประชามติควรเป็นอย่างไร นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การสร้างความรู้ควาามเข้าใจให้ประชาชนรับรู้สาระของร่างรัฐธรรมนูญสำคัญมาก เพราะจะมีผลต่อการทำประชามติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งพื้นที่การสื่อสารวันนี้เปิดกว้างมาก โดยเฉพาะ โซเซียลมีเดีย ที่เปิดกว้างจนไร้การปิดกั้นแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระเป็นผู้รับผิดชอบ จึงคิดว่า คงยึดหลักการเปิดกว้าง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่าใช้เฮดสปีดก้าวหากันเพื่อมุ่งทำลายความได้เปรียบทางการเมือง แต่ขอให้นำเสนอความเห็นข้อมูลที่มีคุณภาพ รับไม่รับเพราะอะไร ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีเหตุอะไรที่กกต.จะไม่เปิดพื้นที่ และหาก ต้องการให้ สปท.ช่วยรณรงค์เรื่องการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติเราก็พร้อมให้ความร่วมมือ” นายอลงกรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image