รายงาน : บอร์ดบริหาร‘อีอีซี’แจง แผนลงทุน‘บิ๊กโปรเจ็กต์’

หมายเหตุนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 1/2561 ของคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งแต่งตั้งภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

Advertisement

ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมืองถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และขายเอกสารการคัดเลือก มีบริษัทเอกชนสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกทั้งสิ้น 31 ราย จาก 7 ประเทศ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม มีการจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 1 และวันที่ 24 และ 26 กรกฎาคม ได้จัดให้เอกชนลงพื้นที่ดูเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 และขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารคัดเลือกตรวจสอบเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่วันที่ 1-31 สิงหาคม 2561

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะมีการจัดประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 กันยายน 2561 และเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ 12 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะมีการประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินและผ่านการเจรจาช่วงเดือนธันวาคม 2561 และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 และเปิดให้บริการโครงการประมาณปลายปี 2566

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 (ช่วงต่อขยายจากท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่าน จ.ระยอง จันทบุรี และตราด) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมการพัฒนาโครงการภายใต้กรอบเวลาดังนี้ จัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบโครงการส่วนต่อขยาย และลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในตุลาคม 2561 และเริ่มศึกษาและออกแบบโครงการส่วนต่อขยาย พฤศจิกายน 2561 ใช้เวลา 4 เดือน โดยเบื้องต้นจะมีการศึกษาเส้นทางอู่ตะเภา-ระยองก่อน ระยะทางประมาณ 30 กม. เพราะเดิมเส้นทางดังกล่าวอยู่ในเฟส 1 แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะกำหนดให้รถไฟวิ่งเข้ามาบตาพุดทำให้เกิดความกังวลว่าจะสร้างปัญหาให้พื้นที่ จึงต้องปรับเส้นทาง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท และเริ่มเดินหน้าลงทุนปี 2567 ภายหลังเฟส 1 เสร็จพร้อมเปิดให้บริการปี 2566

Advertisement

โดยความก้าวหน้าการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะที่ 1 โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการพัฒนาโครงการ โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกครั้งที่ 2/2561 จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบหลักการของโครงการในวันที่ 10 สิงหาคม 2561 เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการและวงเงิน ซึ่งคาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน (ขายซอง) ภายในเดือนกันยายน 2561 พร้อมคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนแล้วเสร็จ รวมถึงจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน/ลงนามสัญญา ภายในเดือนธันวาคม 2561 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการในปี 2564

ด้านความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพให้พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางน้ำ และทางบก การขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ โดยใช้ระบบการจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ โดยเป้าหมายการพัฒนาโครงการเป็นดังนี้ ประเภท ท่าเรือสินค้าประเภทตู้ ปัจจุบันจำนวนสินค้า 11.1 ล้านทีอียู (TEU) ปี 2576 จะเพิ่มเป็น 18.1 ล้านทีอียู, ท่าเรือสินค้าประเภทรถยนต์ ปัจจุบันจำนวนสินค้า 2 ล้านคัน ปี 2576 จะเพิ่มเป็น 3 ล้านคัน, ท่าเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ ปัจจุบันจำนวนสินค้า 0.3 ล้านทีอียู ปี 2576 จะเพิ่มเป็น 0.3 ล้านทีอียู, ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศ ปัจจุบันไม่มีสินค้า 2576 จะเพิ่มเป็น 1 ล้านทีอียู, สินค้าตู้ผ่านทางรถไฟ ปัจจุบันจำนวนสินค้า 2 ล้านทีอียู ปี 2576 จะเพิ่มเป็น 6 ล้านทีอียู

โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งภายหลังจากที่เปิดรับฟังไปแล้ว 2 ครั้ง โดยการประชุมในครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื้อหาการพิจารณายังไม่ครอบคลุมตามประกาศของ สกพอ.ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พ.ศ.2560 จึงมีความจำเป็นในการจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับแผนงานดำเนินโครงการในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการการท่าเรือฯ และเพื่อเสนอต่อคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นตามกระบวนการของประกาศอีอีซีแทรค (EEC track) คาดว่าจะสามารถดำเนินการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน ภายในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งขั้นตอนต่อไปกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในต้นเดือนมกราคม 2562 และเสนอขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ขณะที่ความก้าวหน้าและแผนดำเนินงานการโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และที่ปรึกษาโครงการได้ดำเนินการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะซึ่งมีแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า ดังนี้ ก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันความสามารถในการรองรับการขนถ่าย 10 ล้านตัน/ปี จะเพิ่มเป็น 20 ล้านตันในปี 2597 และสินค้าเหลวผ่านท่าเทียบเรือสาธารณะ 6 ล้านตัน/ปี จะเพิ่มเป็น 10 ล้านตันในปี 2597

ทั้งนี้ กนอ.ได้เปิดสัมมนาการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง และจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนครั้งที่ 3 รวมทั้งจะมีการสรุปรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA Report) ในเดือนสิงหาคม 2561 และจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ที่ประชุมยังหารือถึงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (ดิจิทัลปาร์ก หรืออีอีซีดี) ที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ดูแล โดยจากการพิจารณาพบว่าเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน และมีผู้พัฒนาหลักเพื่อทำให้โครงการมีความคืบหน้าชัดเจน ดังนั้นจะกำหนดให้ดิจิทัลปาร์กต้องลงทุนรูปแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน (พีพีพี) โดยอีอีซีดีจะเป็นสมาร์ทซิตี้แห่งแรกของไทย ขนาดพื้นที่ 1 ตร.กม. ขณะเดียวกันที่ประชุมได้หารือถึงการจัดทำผังเมืองอีอีซี ที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจากการหารือได้เร่งรัดให้ผังเมืองอีอีซีเสร็จน้อยกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ยังหารือถึงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตั้งเป้าหมายคำขอลงทุนรวม 300,000 ล้านบาท จากเป้าหมายคำขอรวมทั่วประเทศ 720,000 ล้านบาท ซึ่งช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท หรือ 67% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริม เพิ่มขึ้นเป็น 122% (เทียบกับมูลค่า 77,069 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน) โดยแบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 19 โครงการ จ.ชลบุรี จำนวน 74 โครงการ และ จ.ระยอง จำนวน 49 โครงการ

ทั้งนี้ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 175,149 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (นิว-เอสเคิร์ฟ) มูลค่า 161,811 ล้านบาท จำแนกเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าการลงทุน 161,245 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล ตามลำดับ

โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาสอบถามถึงแนวทางการลงทุนในอีอีซี เพราะเป็นโครงการที่รอคอยมานาน ซึ่งรัฐบาลได้ออกไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) ประเทศสำคัญหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน ทำให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ต่างเข้ามาลงทุนในไทย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ 2 แห่ง คือ แหลมฉบังและมาบตาพุด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) และสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จะทำให้มีคำขอส่งเสริมการลงทุนจากโครงการดังกล่าวเข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงและท่าเรือแหลมฉบังที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)

ยืนยันว่าทุกโครงการจะได้ผู้ลงทุนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก่อนการเลือกตั้ง เพราะอีอีซีเป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องการพัฒนา ยกระดับประเทศ โดยรัฐจะลงทุน 20% จากวงเงินลงทุนอีอีซีรวม 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นวงเงินประมาณ 300,000 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image