สถานีคิดเลขที่12 : หวังดี-ประสงค์ร้าย? : โดย จำลอง ดอกปิก

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีประกาศ ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องลง

พื้นที่มากขึ้น เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจนโยบาย-เรื่องต่างๆ

แต่อีกด้าน ดูย้อนแย้ง ตรงข้าม

เมื่อมีการจัดระเบียบ คุมช่างภาพ สื่อมวลชน โดยสันติบาลที่น่าเชื่อได้ว่า คงไม่ดำเนินการโดยพลการ

Advertisement

การลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม ติดตามผลการปฏิบัติงาน หรือประชุม ครม.สัญจร

เป้าหมายหลักๆ คือพบปะ ดูแลทุกข์สุข รับรู้ปัญหาความเดือดร้อน ของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด ด้วยตัวเอง รวมถึงสื่อสาร ชี้แจงนโยบายรัฐบาล ให้ได้รับรู้ หรือที่นายกฯพูดบ่อยครั้งว่า เป็นการสร้างความรับรู้นั่นเอง

แต่โดยที่นายกฯไม่อาจลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนได้ทุกวัน

Advertisement

ส่วนใหญ่จึงต้องสื่อสาร ส่งผ่านข้อมูล ถึงประชาชน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดในอีกรูปแบบหนึ่ง

ผ่านทางรายการคืนวันศุกร์ การแถลงข่าวผลการประชุม ครม.ประจำสัปดาห์ ฯลฯ ผ่านสื่อรัฐ และภาคเอกชน

ที่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางเชื่อมประชาชน

เนื่องจากในทางวิชาการ มีความเป็นไปได้น้อยมากจนกระทั่งถึงไม่มีความเป็นไปได้เลย ที่ประชาชน หรือผู้รับสารจะมีโอกาสเข้าถึง ติดต่อ รับสารโดยตรงจากนายกฯ รัฐมนตรี ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่ประชาชนเสพข่าวสาร ผ่านสื่อเป็นหลัก และมากกว่าช่องทางอื่น

ฉะนั้น การที่ด้านหนึ่งดูเหมือน “บิ๊กตู่” พยายามใกล้ชิดประชาชน ด้วยการลงพื้นที่สม่ำเสมอ

แต่อีกด้านการณ์กลับ เป็นภาพตัด-ย้อนแย้ง

ถอยห่างประชาชน

ด้วยการคุมสื่อคุมการถ่ายภาพ ทำข่าว

การแต่งกาย เครื่องไม้เครื่องมือในการปฏิบัติงาน ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เรื่องกาลเทศะ ประการต่างๆ อาจถูกมอง ไม่เหมาะสม หรือเป็นอุปสรรค ยากต่อการแยกแยะของเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญอย่างนายกรัฐมนตรีในทำเนียบรัฐบาล มีอยู่จริงและมีอยู่บ้าง

คำถามก็คือ ร้ายแรง ถึงขั้นต้องคุมหรือไม่

และหากจำเป็นต้องจัดระเบียบ แค่ไหนถึงมีความพอเหมาะพอดีเคารพสถานที่ เคารพบุคคล

โดยไม่ละเมิดเสรีภาพ หัวใจสำคัญการทำงานสื่อมวลชน

การจัดระเบียบ เข้มงวดกับสื่อมวลชนและช่างภาพเป็นครั้งแรก ขณะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันศุกร์ โดยตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อิมแพค

นอกจาก ให้ลงทะเบียน สังกัด เบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ยังตีกรอบ มารยาท การถ่ายภาพของช่างภาพ

1.ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกฯและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ 2.แต่งกายสุภาพบุรุษชุดสูทสากล สตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น 3.กล้องบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากสันติบาล 4.จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียนเท่านั้น 5.ไม่แสดงกิริยาวาจาหรือมารยาทอันไม่สมควร 6.การถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกฯ 5 เมตรเป็นอย่างน้อย 7.ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่นหรือยื่นกล้องถ่ายภาพ ข้ามนายกฯ

และยังออกข้อควรปฏิบัติ 1.ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกฯอยู่ในห้องรับรอง 2.ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได 3.ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร 4.ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน 5.ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้ 6.การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์ และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง 7.หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ

ระเบียบข้อห้ามบางประการเยอะไป เกินเลยความพอดี ละเมิดเสรีภาพหรือไม่

คงเป็นที่วิพากษ์ ถกเถียง บนพื้นฐานการรักษาหลักการ ทบทวนหาจุดสมดุลต่อไป

แต่การที่สันติบาลทำอย่างนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการวางยา

เข้าทำนองหวังดีประสงค์ร้ายต่อ ‘บิ๊กตู่’

เนื่องจากรัฐบาลประชาธิปไตยเขาไม่ทำกัน

ไม่ทำลาย ถ่างกว้างช่องความใกล้ชิด ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประชาชน

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image