ส่องโซเชียลพรรค เปิดช่องทางสื่อสาร ในวันที่ยังติดล็อก

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ พร้อมออกกฎเหล็ก ทั้งประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ยังห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

กฎเหล็กดังกล่าว เพื่อไม่ให้นักการเมืองและพรรคการเมืองขยับตัวประชุมพรรค แอ๊กชั่นทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเสรี

เมื่อช่องทางตามกฎหมายปกติยังไม่มีการปลดล็อกจาก คสช.ให้นักการเมืองได้หายใจหายคอ ออกแอ๊กชั่นปล่อยของขายนโยบายของแต่ละพรรคได้อย่างถูกกฎหมาย

สื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก เฟซไลฟ์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ จึงเป็นทางเลือกเดียวและเป็นทางเลือกที่น่าจะดีที่สุดในเวลาของนักการเมืองและพรรคการเมือง เพื่อใช้สื่อสารกับสาธารณะ ด้วยข้อดีนานัปการทั้งไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา สถานที่ ไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งยังแพร่หลายได้รวดเร็ว ส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย (หรือแม้แต่กลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น ฝ่ายตรงข้าม)

Advertisement

บรรดาพรรคและนักการเมืองระดับเซเลบจึงอาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียดังกล่าวในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใน โลกเสมือนŽ ที่จับต้องเสียงตอบรับได้ใน โลกแห่งความเป็นจริงŽ โดยเนื้อหา รูปแบบ รายการของแต่ละพรรคในช่องทางโซเชียลมีเดียนั้น จะมีแกนนำและฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรคร่วมกันรับผิดชอบ ในการสกรีนทั้งเรื่องความน่าสนใจ และเนื้อหาที่ไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

เริ่มจากพรรคเก่าแก่อย่าง ประชาธิปัตย์Ž (ปชป.) ที่มีเพจประจำพรรคชื่อ Democrat Party, Thailand ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2555 มียอดผู้ติดตามมากกว่า 650,000 คน ในปัจจุบัน ภาพรวมของเพจเน้นรายงานภารกิจของบุคคลภายในพรรคเป็นข่าวสั้นๆ พร้อมภาพประกอบ มีถ่ายทอดสดหรือไลฟ์ (Live) บ้างเป็นครั้งคราว ตามที่่มีวาระสำคัญ

กระทั่งปี 2559 จึงเริ่มมีการแชร์รายการ ต้องถามŽ ที่ออกอากาศทางช่องฟ้าวันใหม่ บนหน้าเพจพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี หัวหน้ามาร์คŽ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นผู้ตอบคำถามประเด็นต่างๆ ที่ชงให้โดยพิธีกรคนคุ้นเคยอย่าง เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยยอดการรับชมถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ คือปลายหลักพันไปจนถึงต้นหลักหมื่นคน

Advertisement

ส่วนพรรคใหญ่ที่ครองเสียงข้างมากในสภา อย่าง เพื่อไทยŽ (พท.) ก็จะมีทั้ง เว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก ไอจี และอินสตาแกรมของพรรค พท. โดยเพจเฟซบุ๊กมีผู้ติดตาม 122,446 คน จะเน้นการสื่อสารกับประชาชน ตามที่แกนนำพรรคต้องการสื่อสาร เช่น ออกแถลงการณ์พรรค การสื่อสารในวันสำคัญๆ ต่างๆ ในนามพรรค พท. จะมีแกนนำพรรคและทีมกฎหมายร่วมกันพิจารณาก่อนนำเสนอ ขณะที่อดีต ส.ส.และรัฐมนตรีของพรรค พท.จะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่จะเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียกันเอง

ขยับมาที่พรรคขนาดกลาง แต่รัศมีร่วม (ทุก) รัฐบาลอยู่ในอันดับต้นอย่าง ภูมิใจไทยŽ (ภท.) ของ เสี่ยหนูŽ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ขยันโชว์วิชั่นตามสไตล์นักธุรกิจและนักการเมืองมากประสบการณ์ผ่านเพจ Ringside การเมืองŽ ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 มียอดผู้ติดตามกว่า 25,000 คน โดยเพจดังกล่าวนิยามตัวเองว่าเป็น สำนักข่าวทางเลือก เพื่อนำเสนอข่าวอย่างหลากหลาย จากนักการเมือง นักวิชาการ กูรูด้านรัฐศาสตร์Ž รูปแบบเป็นการไลฟ์สด มีพิธีกรหลักประมาณ 2-3 คน ผลัดเปลี่ยนมาดำเนินรายการ มีแขกรับเชิญทั้งนักวิชาการและนักการเมือง (ที่ส่วนใหญ่มาจากพรรคภูมิใจไทย) หมุนเวียนมาพูดคุยและตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและนโยบายด้านต่างๆ

ซึ่งแม้ยอดผู้ติดตามอาจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเพจการเมืองอื่นๆ แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้แต่พรรคมีเดียมไซซ์อย่างภูมิใจไทยก็ไม่มองข้ามกระแสในโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ปล่อยให้โอกาสจากการหยิบฉวยเทคโนโลยีเพื่อวัดฟีดแบ๊กจากประชาชนกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หลุดมือไป

เปลี่ยนฝั่งมาดูพรรคน้องใหม่ที่ดูจะฮอตฮิตที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ อย่าง อนาคตใหม่Ž (อนค.) ซึ่งมีเพจ อนาคตใหม่ – The Future We WantŽ และ เพจ Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจŽผู้เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค

ทั้งที่เพจเพิ่งเปิดได้เพียง 3-4 เดือน แต่ยอดผู้ติดตามรวมกันมีกว่า 140,000 คน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้อาจมาจากผู้ใช้

เฟซบุ๊กบัญชีเดียวกัน จึงไม่อาจการันตีตัวเลขผู้ติดตามที่แน่นอนของพรรคสีส้มได้ ส่วนที่เพจอนาคตใหม่ฮอตฮิตขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะทั้งสองเพจเพิ่งกลายมาเป็นคู่กรณีกับ คสช. ถูกฝ่ายกฎหมายของ คสช.แจ้งความในข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ สร้างความตื่นตระหนก ยุยง และเป็นภัยต่อความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

เนื่องจากการจัดรายการ คืนวันศุกร์ให้ประชาชนŽ จนเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ว่าที่หัวหน้าพรรคเจ้าของฉายา ไพร่หมื่นล้านŽ ยืนยันเรื่องนี้ด้วย 4 ไม่ คือ ไม่กลัว ไม่น่ากระทบต่อชื่อเสียงของตนหรือต่อพรรค ไม่ได้ทำผิดกฎหมายชุมนุมเกิน 5 คน และไม่ปรับเนื้อหารายการ และพร้อมสู้คดีตามกฎหมาย

พูดถึงพรรคอนาคตใหม่แล้ว จะลืมเอ่ยถึงพรรคขั้วตรงข้ามอย่าง รวมพลังประชาชาติไทยŽ (รปช.) ที่มีลุงกำนัน
สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งแท่นเป็นกุนซือใหญ่คงไม่ได้

แม้ขณะนี้พรรค รปช.จะยังไม่มีเพจอย่างเป็นทางการของพรรค แต่ก็มีช่องทางสื่อสารให้แฟนคลับลุงกำนันสุเทพให้หายคิดถึง เพราะยังมีเพจเฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)Ž ที่ออกมาเรียกเรตติ้งอยู่เป็นระยะ ด้วยดีกรีนักการเมืองเขี้ยวลากดิน ที่เคยนั่งเป็นทั้งอดีตเลขาพรรค ปชป. และอดีตเลขาธิการ กปปส.ที่มีมวลมหาประชาชนสนับสนุนเรียกหา ลุงกำนันŽ กันทั้งบ้านทั้งเมือง ก่อนที่ทหารจะ จำเป็นต้องรักษาความสงบŽ ด้วยการรัฐประหารปี 2557

จึงไม่น่าแปลกใจที่เพจของนายสุเทพ กุนซือใหญ่แห่งพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะมียอดผู้ติดตามสูงลิ่วมากกว่า 2.7 ล้านคน ทำให้ยอดการรับชมไลฟ์แต่ละครั้งของเขาสามารถแตะหลักแสนคนได้ไม่ยากเย็น
ซึ่งนายสุเทพยอมรับว่า ในเมื่อกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามปกติ การติดต่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนทั้งในส่วนของ กปปส.และผู้สนับสนุนพรรค รปช.จึงต้องใช้ช่องทางผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไปก่อน อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ในยุคโซเชียลมีเดียได้ง่ายขึ้นด้วย

ดังนั้น ช่องทางการสื่อสารผ่านโลกโซเชียลของนักการเมืองและพรรคการเมือง ในห้วงที่เต็มไปด้วยสารพัดกฎเหล็กห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง

ส่วนเพจของพรรคไหน คนใด จะโดนใจคงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image