รายงาน : เช็กความมั่นใจแผนรับมือท่วม (ไม่)ห่วงซ้ำรอยปี’54

หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการรับมือปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล มีโอกาสจะซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 หรือไม่

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์

รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง

Advertisement

จากการที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำทราบว่าขณะนี้ระดับน้ำกำลังจะล้นสปิลเวย์ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งกระจานที่เป็นเขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่ จุน้ำได้ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 98% แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมบางพื้นที่ในครั้งนี้จะไม่เกิดผลกระทบมากเท่ากับปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีการวางแผนการรับมือที่เข้มข้นขึ้น อาทิ การเตือนล่วงหน้า เพื่อแจ้งให้กับประชาชนได้รับทราบ สืบเนื่องจากปีก่อนประชาชนไม่ได้ทราบข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำ หรือมวลน้ำว่ามีปริมาณมาก-น้อยอย่างไร จึงทำให้ปีที่ผ่านมามีผลความเสียหายเป็นจำนวนมาก และเมื่อประชาชนมีประสบการณ์จากการเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งก่อน จึงทำให้ครั้งนี้ประชาชนมีความตื่นตัว และพร้อมที่จะรับมือมากยิ่งขึ้นอีก ขณะที่ภายในชุมชนก็มีการช่วยเหลือตัวเอง เพื่อลดภาระการช่วยเหลือจากภาครัฐ เนื่องจากครั้งก่อนการบริหารจัดการของท้องถิ่นมีความหละหลวม และประมาท จึงทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

หากการป้องกันในครั้งนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี ความเสียหายที่จะตามมาก็ไม่มากนัก ทั้งนี้ หากเตือนมากแล้วเกิดผลกระทบน้อยก็ไม่เป็นไร แต่หากเตือนน้อยแล้วเกิดผลกระทบมากนั้นก็จะเสียหายมากกว่า ดังนั้น จึงเชื่อว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก เป็นเพียงในระยะสั้น โดยจะสามารถฟื้นตัว
ได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา

Advertisement

สุพันธุ์ มงคลสุธี

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ภาคเอกชนติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหมือนปี 2554 ที่ครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะขาดการรายงานข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และทราบว่าต้องการป้องกันพื้นที่เกษตรบางพื้นที่เอาไว้ จนกระทั่งน้ำท่วมภาคอุตสาหกรรมและสุดท้ายกลายเป็นความเสียหายทุกภาคส่วน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และสังคม

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ค่อนข้างมั่นใจว่าปริมาณน้ำในปัจจุบันจะไม่สร้างผลกระทบรุนแรง แต่อาจมีพื้นที่ท่วมอยู่บ้างในจุดที่มีความเสี่ยง เพราะรัฐบาลมีบทเรียนและน่าจะมีการวางแผนดูแล ซึ่งประเด็นนี้อยากให้ภาครัฐมีการตั้งวอร์รูมด้านข้อมูลซึ่งอาจมีอยู่แล้วและควรมีการให้ข้อมูลปริมาณน้ำ คาดการณ์ต่างๆ ผลกระทบเป็นลำดับหนึ่ง สอง สาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมตัว หากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติจะได้เตรียมรับมือได้ทันเวลา

ทั้งนี้ ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมกังวลส่วนใหญ่จะเป็นด้านอัตราแลกเปลี่ยน ราคาพลังงาน ยังไม่มีประเด็นสถานการณ์น้ำ แต่เดือนสิงหาคมนี้ปริมาณน้ำเริ่มมากขึ้น จึงต้องติดตามอีกครั้งว่าประเด็นนี้จะสร้างความกังวลต่อภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ แต่จากการที่หารือร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมมีการวางแผนเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมอยู่แล้ว หลายแห่งมีการทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม มีมาตรการติดตามสถานการณ์น้ำรอบโรงงาน มีแผนการยกเครื่องจักรขึ้นที่สูง และในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งก็มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเช่นกัน

ธานินทร์ ถิตตยานุรักษ์

ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี

ฝนตกในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ปีนี้เป็นฝนต้นฤดูกาล ต่างจาก 2 ปีที่ผ่านมาตกปลายฤดูกาล คือ เดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม ดังนั้น อีก 2-3 เดือนข้างหน้า จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จังหวัดต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมในแต่ละเขื่อน ไม่เฉพาะแต่เขื่อนแก่งกระจานที่จุน้ำได้ 710 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น แต่ยังมีเขื่อนแม่ประจันต์ 42 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนห้วยผาก 27 ล้าน ลบ.ม. ทางตอนเหนือของจังหวัดที่มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนในช่วงเวลาต่อจากนี้ด้วย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รับน้ำที่เคยเป็นแก้มลิงและการปรับปรุงแนวตลิ่งของแม่น้ำเพชรบุรีก่อนถึงตัวเมือง ทำให้มีความเสี่ยงในพื้นที่เศษฐกิจในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรีที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย

ประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนของจังหวัดได้เตรียมความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ขณะนี้น้ำยังมาไม่ถึงเขตเศรษฐกิจใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี แต่หอการค้าได้ประสานไปยังภาคธุรกิจเอกชนให้รับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น สำหรับผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่เชื่อว่าจากบทเรียนที่เคยเกิดอุทกภัยในพื้นที่มา 2 ปีต่อเนื่อง ประกอบกับโครงการป้องกันบางส่วนที่เกิดขึ้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ไม่มากก็น้อย

ศศิน เฉลิมลาภ

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและนักอนุรักษ์

ในความเห็นส่วนตัวมองว่า ระดับน้ำในเขื่อนที่วิกฤตนั้น ไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมทั้งประเทศ เพราะเกิดวิกฤตในเขื่อนตามลุ่มน้ำเฉพาะจังหวัด ได้แก่ ลุ่มน้ำทาง จ.เพชรบุรี ฉะนั้น ภาพใหญ่ระดับประเทศไม่มีปัญหา
ส่วนข้อวิตกกังวลหวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ไม่เกี่ยวกัน เพราะสาเหตุเกิดขึ้นคนละลุ่มน้ำกัน แต่บางจังหวัดที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แน่ๆ คือ จ.เพชรบุรี และ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนที่ว่าแล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพฯหรือไม่นั้น มองว่าพื้นที่ภาคกลางไม่มีความรุนแรง

ฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

จังหวัดเพชรบุรีได้เตรียมการเต็มที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดห้วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีภาวะอุทกภัยในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีและบางตำบลของ อ.บ้านแหลม เป็นพื้นที่ปลายน้ำ ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้รับความสะดวกในการเบิกทรายตามจุดต่างๆ อาทิ เทศบาล อบต. และหน่วยงานต่างๆ ในทุกระดับ จังหวัดได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อการนี้มาตั้งแต่ต้น บ้านเรือนย่านพาณิชย์ในเขตเทศบาลเมือง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของบ้านได้ดำเนินการป้องกันหน้าบ้านหรือหน้าร้านตัวเอง ทราบดีว่าน้ำจะท่วมสูงระดับใดจากประสบการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนการป้องกันในพื้นที่สาธารณะก็จะมีองค์กรท้องถิ่นที่อาจเกิดอุทกภัยได้ดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือในทุกทาง เช่นทำคันดินกั้น บางแห่งก็ทำเป็นพนังกั้นน้ำริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ขณะนี้จังหวัดได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมในจุดสำคัญต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากกองทัพเรือนำเครื่องดันน้ำ ทร. จะเดินทางมาถึงในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ เราติดตามน้ำทุกชั่วโมง มีการแจ้งเตือนให้ชาวบ้านทราบเป็นระยะ ให้หมายเลขโทรศัพท์เพื่อสอบถามสถานการณ์น้ำและวางแนวทางการช่วยเหลือตลอดเวลาหากน้ำเดินทางมาถึงในพื้นที่วิกฤต

บทเรียนจากอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีที่น้ำท่วมต่อเนื่องเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดได้ทำเขื่อนกั้นริมตลิ่งที่เป็นปัญหาน้ำท่วมทะลักหลังมณฑลทหารบกที่ 15 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จุดนั้นน้ำไม่เข้าแน่ การขุดลอกแม่น้ำเพชรก็ดำเนินการไปแล้วโดยเจ้าท่าภูมิภาค ทหารช่างราชบุรีก็มาช่วยขุดลอก ส่วนคลองระบายน้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะสายใหญ่คลองดี 9 ที่ขุดไปลงทะเลปึกเตียน อ.ท่ายาง ก็สามารถระบายน้ำในด้านนั้นได้มากพอสมควร คลองสายต่างๆ ในปีนี้จะสามารถแบ่งเบาภาระของน้ำที่ล้นมาจากแก่งกระจานได้มาก ตนได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี ออกไปพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงน้ำ แนะนำการแก้ไขปัญหาเมื่อน้ำหลากเข้ามาในพื้นที่การเกษตร ก็พยายามจะดักน้ำไม่ให้เข้ามาในเขตเทศบาลเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

หากวันที่ 6 สิงหาคม ประเมินน้ำที่ปล่อยมาตามที่ชลประทานรายงาน ก็น่าจะไม่หนักกว่าปีที่แล้ว แต่ตัวแปรสำคัญคือปริมาณฝนที่กรมอุตุฯแจ้งว่าจะมีฝนตกหนักในห้วงระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค.นี้ ซึ่งสำนักงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และสำนักชลประทานเพชรบุรีได้รายงานสถานการณ์ในลักษณะการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ทางสื่อต่างๆ ทราบอย่างต่อเนื่อง

หาญณรงค์ เยาวเลิศ

ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ

จากสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณมาก มองว่าถ้าน้ำเต็มก็ต้องปล่อย ส่วนในเรื่องความเชื่อมั่นนั้นมันก็เคยมีประสบการณ์ของเขื่อนแก่งกระจาน ถ้าน้ำเต็มก็ปล่อยได้ 2 ทาง คือไปทางเขื่อนเพชรฯ ไปทางท่ายาง กับอีกทางคือไปทางแม่น้ำเพชร ก็มาเข้าทางตัวเมืองเพชรบุรี ถ้าวันนี้ดูข้อมูลน้ำมันเกิน 99% ไปแล้ว ถ้ามากไปกว่านี้บางจุดก็อาจล้นตลิ่งก็อาจจะท่วมบางจุด แต่ถ้าถามว่ามั่นใจหรือไม่ถ้าน้ำมากขนาดนี้มั่นใจว่าท่วม

เเละถ้าพรุ่งนี้ปริมาณฝนที่ตกลงมาตรงรอยต่อเขา และฝั่งที่อยู่ติดกันนั้นตกรวมกับมีน้ำไหลเข้าอ่างในปริมาณที่มากขึ้น ผมคิดว่าก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำ เพราะบางจุดต้องล้นตลิ่งอยู่ดี

สำหรับการเตรียมตัวของภาครัฐนั้น ไม่เห็นรายละเอียดการเตรียมตัว แต่มีการประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำและก็ทำแล้ว ไม่ใช่น้ำมาแล้วค่อยบอก อันนี้ถือว่าบอกล่วงหน้าตั้งแต่น้ำเริ่มเข้ามาปริมาณมาก

ทั้งนี้ เมื่อคืนขับรถผ่านมาก็เห็นว่าเขาก็มีจุดตรงไหนที่น้ำจะท่วมไม่ท่วม เป็นการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดี ส่วนขั้นตอนต่อไปคือถ้าประชาชนเห็นว่ามีจุดที่เคยท่วมและเป็นจุดต่ำก็สามารถช่วยตัวเองด้วยการยกของหรือ
ย้ายหนีขึ้นบนที่สูง ส่วนการช่วยเหลือคิดว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเพชรบุรี และ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะช่วยเหลือก็คือในกรณีที่บางจุดชาวบ้านไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ในส่วนของภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2554 นั้น เข้าใจว่าขณะนี้เป็นที่น่ากังวลอยู่ที่ 3-4 เขื่อนเท่านั้นเอง แต่ตอนปี 2554 เป็นเรื่องของการบริหารและแย่งกันบริหาร คนไม่รู้ก็มาบริหาร มองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองด้วย แต่เข้าใจว่าสถานการณ์วันนี้ถ้านายกรัฐมนตรีปล่อย ไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ให้ทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานที่เขามีข้อมูลอยู่ ทั้งกรมชลฯ กรมน้ำ ปภ. กรมอุตุฯ และตั้งศูนย์แบบที่กำลังทำอยู่บางจุดและดูตัวเลขน้ำที่จะเข้ามาถ้าทำอย่างนี้ได้ ผมมั่นใจว่าไม่เหมือนปี 2554 เเละจะสามารถพร่องน้ำได้ทันและรับมือกับน้ำที่จะเข้ามาได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ สำหรับเขื่อนอื่นๆ เช่น เขื่อนน้ำอูน ถ้ามีน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังรับน้ำได้อีกกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. ถ้าจะถึงสันเขื่อนจริงต้องมีน้ำถึง 120 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เร่งระบายน้ำบางจุดก็อาจจะมีน้ำท่วมคล้ายกับแก่งกระจานเหมือนปี 2560 ส่วนเขื่อนอื่นๆ เช่น ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ ผมคิดว่ายังรับน้ำได้อีกเป็นพันล้าน แล้วถ้าเร่งระบายน้ำ ข้างล่างนี้ปริมาณน้ำยังไม่สูง จะทำให้ระบายน้ำได้คล่องตัวกว่าเดิม ถ้าแบบปี 2554 ที่เราระบายน้ำไม่ได้เพราะข้างล่างมันก็เต็มตลิ่งอยู่แล้ว เขื่อนเต็มก็ยิ่งระบายไม่ได้ พอฝืนระบายน้ำก็ยิ่งท่วมหนักขึ้น

ดังนั้น ผมเลยมองว่าสถานการณ์มันต่างกัน และในช่วง 2-3 วันนี้มองว่าสถานการณ์ยังไม่วิกฤต ถ้าดูตัวเลขน้ำในเขื่อนภาคเหนือ ยังไม่มีปริมาณเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ สักเท่าไหร่ มีอยู่แค่ 4 เขื่อนหลักที่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ไปแล้วเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image