สถานีคิดเลขที่12 : เขื่อนแตกที่อัตตะปือ : โดย ปราปต์ บุนปาน

เหตุการณ์เขื่อนย่อยของเขื่อนหลัก “เซเปียน-เซน้ำน้อย” แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เกิดปัญหาสันเขื่อนทรุดตัว ร้าว และแตก หลังต้องรับมือปริมาณฝนจากพายุเซินติญ

ส่งผลกระทบมหาศาลต่อชาวลาวหลายพันคน

ซึ่งมีทั้งที่เสียชีวิต สูญหาย และสูญเสียทรัพย์สิน-บ้านเรือน

รายงานพิเศษชื่อ “เขื่อน โคลน คน และ ระเบิด ที่อัตตะปือ” โดย ปิยมิตร ปัญญา ในคอลัมน์โกลบอล โฟกัส หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม กล่าวถึงพื้นฐานปัญหาอันสลับซับซ้อน ซึ่งดำรงอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

รายงานพิเศษชิ้นนั้นพยายามบ่งชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างโครงการพัฒนา (เขื่อน), อุทกภัย/ภัยธรรมชาติ และ “มรดก” จากยุคสงครามเย็น กับข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อหลายทศวรรษก่อน แขวงอัตตะปือ คือ พื้นที่ซึ่งถูกบอมบ์ใส่ด้วย “กับระเบิด” และ “ระเบิดดาวกระจาย” อย่างหนาแน่นมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง

พายุฝนและสถานการณ์เขื่อนแตกจึงอาจส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมากไปชะล้างผิวหน้าดิน จนวัตถุระเบิดตกค้างเหล่านั้นมีโอกาสจะคุกคามผู้คนได้อีกครั้ง

ขณะเดียวกัน น้ำอาจพัดพาวัตถุระเบิดจากพื้นที่ที่ยังไม่มีการเก็บกวาด ไปสู่ “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งเคยเก็บกวาดมรดกบาดแผลทั้งหลายไปเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน

Advertisement

งานของปิยมิตรทำให้นึกถึงภาพยนตร์ลาว-ออสเตรเลียชื่อ “The Rocket” ที่โด่งดังตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ และได้เข้าฉายเชิงพาณิชย์ในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อราว 4-5 ปีก่อน

หากมองเผินๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนังดูสนุก เล่าเรื่องราวแนวสุขระคนเศร้าของเหล่า “อันเดอร์ด็อก” ทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ชาวลาว ซึ่งมีบาดแผลในชีวิตมากน้อยแตกต่างกันไป โดยห่อหุ้มด้วยบรรยากาศ ความเชื่อ วิถีชีวิต ซึ่งอาจแลดูแปลกประหลาดน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ชมในโลกตะวันตก

ทว่าจริงๆ แล้ว มีแง่มุมรายละเอียดน่าสนใจหลายประการที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่อง “The Rocket”

ข้อแรกสุด นี่คือ “โปรเจ็กต์ร่วม” ระดับนานาชาติ หากพิจารณาว่าหนังถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมลาวและตัวละครในประเทศลาว แต่มีผู้กำกับฯ เป็นชาวออสเตรเลีย ชื่อ “คิม มอร์ดันท์” (ทุนสร้างส่วนใหญ่ก็มาจากออสเตรเลีย) มีนักแสดงนำบางรายเป็นคนไทย (อาทิ ดาวตลก “เทพ โพธิ์งาม”) เช่นเดียวกับสถานที่ถ่ายทำบางส่วนซึ่งต้องข้ามมาใช้พื้นที่ฝั่งไทย

นอกจากนี้ ประเด็นหลักของหนังดูจะสอดคล้องกับเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” ที่อัตตะปือ และรายงานของปิยมิตร อยู่ไม่น้อย

ด้านหนึ่ง หนังกล่าวถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงจากโครงการพัฒนาที่นำเข้ามาจากภายนอก (ตามท้องเรื่อง คือ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลลาว)

อีกด้าน หนังพูดถึงตัวละครชื่อ “Purple” (รับบทโดยเทพ โพธิ์งาม) อดีตทหารม้ง ซึ่งเคยรับจ้างรบให้รัฐบาลสหรัฐในยุคสงครามเย็น

เขาคือมรดกบาดแผลครั้งกระโน้นที่ยังตกค้างหลงเหลืออยู่อย่างเคว้งคว้างเลื่อนลอย เขาคือตัวแทนของ “คนใน” ที่ร่วมมือกับ “คนนอก” เพื่อต่อสู้ประหัตประหารชีวิต “คนใน” ด้วยกันเอง

ชะตากรรมของตัวละครรายนี้ดำเนินคู่ขนานไปกับวัตถุระเบิดจำนวนมากที่ยังเก็บกู้ได้ไม่หมด และภารกิจช่วยเหลือเด็กๆ สร้างสรรค์ “บั้งไฟ” ซึ่งสื่อถึงความใฝ่ฝันใหม่ๆ และอนาคตที่ดีกว่าเดิม ด้วยมันสมอง สองมือ เรี่ยวแรง และหัวจิตหัวใจ ของผู้คนในท้องถิ่น

มองในภาพรวม “The Rocket” ถือเป็นผลผลิตจากการพยายามคิดวิพากษ์วิจารณ์ตนเองของคนทำ ซึ่งเป็นฝรั่ง/คนนอก ว่าโครงการพัฒนาและสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ที่ (พวก) ตน มีส่วนผลักดันนำเข้าไปสู่ประเทศลาวนั้น ส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้คนในประเทศดังกล่าวอย่างไรบ้าง

นี่เป็นกรอบคิด/มุมมองหนึ่ง ที่คนไทยและสังคมไทยไม่ค่อยหรือไม่เคยกล้านำมาใช้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับประเทศเพื่อนบ้านสักเท่าไหร่

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image