‘มาร์ค’ ยัน ปชป.ไม่ร่วมรัฐบาลกับ ‘ทหาร-รปช.’ หากแนวทางการพัฒนาไม่ตรงกัน

“มาร์ค” ยัน ปชป.ไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับ “ทหาร-รปช.” หากแนวทางไม่ตรงกัน โว ยอมเป็นฝ่ายค้านดีกว่า ชี้เลือกตั้งยุคใหม่โซเชียลมีเดียมีผลมากที่สุด แนะ กกต.จัดเว็บไซต์เป็นเวทีกลางรับมือสื่อโซเชียลฯ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เคยระบุไว้ชัดเจนว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกอย่างเปลี่ยนไป เพราะล่าสุดเมื่อมีการเลือกตั้ง ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล เป็นหัวหน้าพรรค รปช.แล้ว ตัวหัวหน้าพรรค รปช.เองก็ยังพูดไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ แต่เป็นที่แน่นอนว่าเขาจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในส่วนของพรรค ปชป.ขอยืนยันว่า เราคือทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณมาโดยตลอด ซึ่งเรามองว่าแนวทางของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับ ปชป.

เมื่อถามว่า อาจเป็นเพราะพรรคทหาร ที่อาจมีพรรค รปช.เข้าไปเอี่ยวจะมีแนวทางที่เป็นไปได้มากกว่าระบอบทักษิณหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับแนวทาง เพราะเราเป็นห่วงว่าแนวคิดเบื้องหลังของรัฐบาลที่เน้นการรวมศูนย์ แนวคิดแบบราชการ เป็นตัวกำหนดนโยบาย มันไม่สอดคล้องกับแนวทางของ ปชป. ดังนั้น ปชป.จะเสนอแนวทางที่แตกต่างจากกลุ่ม คสช.และระบอบทักษิณ และหลังเลือกตั้งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน เพราะการตัดสินใจของประชาชนมีความหมาย เมื่อประชาชนได้รับทราบแนวทางที่ต่างกัน เช่น กลุ่มรัฐราชการ กลุ่มระบอบทักษิณประชานิยม และกลุ่มประชาธิปัตย์เสรีนิยมประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งออกมาจะรู้ว่าประชาชนสนับสนุนแนวทางไหนเท่าไหร่บ้าง

“ตรงนี้ถ้ามีความเด็ดขาดก็จบ แต่ถ้าไม่มีความเด็ดขาดก็ต้องมีการเจรจาว่าจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างใครกับใคร สำหรับ ปชป.ยืนยันว่าจะยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศเป็นหลัก ผมไม่เห็นประโยชน์ที่พรรค ปชป.จะไปร่วมเป็นรัฐบาลกับใคร ถ้าหากว่านโยบายที่ปชป.นำเสนอต่อประชาชน ไม่ถูกนำเสนอ ไม่ถูกนำไปใช้ ถ้า ปชป.ไปเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้นำพาบ้านเมืองไปในทิศทางที่เราอยากจะเห็น ผมว่า ปชป.ก็ควรจะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ใช่ว่าอยากเป็น แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างการเป็นรัฐบาล แล้วบ้านเมืองเป็นไปในทิศทางที่ไม่ใช่ ปชป. มันก็ไม่ใช่อุดมการณ์ของพรรค” หัวหน้า ปชป.กล่าว

Advertisement

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การเมือง 20 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปมาก ประชาชนมองว่าการเลือกตั้งของเขาจะได้อะไรมากกว่า ซึ่งโซเชียลมีเดียมีผลมากในขณะนี้ เพราะมีคนใช้มากที่สุด ไม่มีรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว ต่อไปนี้เราจะเห็นว่าโซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลสูงมากในการเลือกตั้งทั่วโลก ดังนั้นในการโฆษณา หาเสียง หรือการเผยแพร่ข้อความที่เป็นคุณเป็นโทษในโซเชียลมีเดียจะมีผลมาก ตนจึงอยากเรียกร้องว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะทำความเข้าใจตรงนี้ให้ทัน ตนมองว่าทุกคนกลัวในเรื่องของการใส่ร้ายทางโซเชียลมีเดีย การหาเสียงในทางการเมืองมีทั้งการบวกและการลบ แต่การตรวจสอบกันเองระหว่างพรรคการเมืองนั้นสำคัญ อย่ามองว่าการตรวจสอบเป็นการโจมตี เพราะอาจจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ประชาชนควรจะรู้ และสิ่งสำคัญในยุคนี้หาก กกต.ไม่มีความเป็นกลางเราจะยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น กกต.ควรจัดเวทีกลางเป็นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาดูได้ เพราะเป็นองค์กรที่ทำได้ง่ายที่สุด น่าเชื่อถือที่สุด ตนเชื่อว่าคนจะเข้ามาดูเพื่อข้อเท็จจริงต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image