ถอดรหัสรับมือรธน.ไม่ผ่าน ยำร่างเก่า 4 ฉบับมาใช้แทน

หมายเหตุ – นักวิชาการแสดงความเห็นกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ไม่ผ่านการทำประชามติ อาจะนำรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ได้แก่ ฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และฉบับนายมีชัยมายำรวมกัน เพื่อประกาศใช้ดังนี้

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
โอฬาร ถิ่นบางเตียว

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การจะนำรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับมารวมกันนั้นทำได้ คิดว่า คสช.จะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ ทาง คสช.ควรให้มีความชัดเจนกับประชาชนมากกว่านี้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณมีชัยไม่ผ่านนั้น รัฐบาลจะมีทางเลือกให้ประชาชนอย่างไรบ้าง เช่น นำฉบับปี 2540 หรือ 2550 มาปรับใหม่ หรือเอาทั้งหมดที่มีมาปรับใหม่หมดเลย ให้ประชาชนรู้ว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน เราจะไปถึงจุดไหนด้วยกัน เพราะจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าโรดแมปเป็นไปในทิศทางที่ประชาชนรับรู้เท่ากับที่ คสช.รู้ กรณี คสช.มาอุบไต๋ มาแง้มๆ แบบนี้ เป็นการเล่นเกมกับประชาชนมากเกินไป ท้ายสุดประชาชนจะเกิดความรู้สึกเคลือบแคลงใจว่า คสช.ไม่จริงใจกับประชาชน แม้กระทั่งกฎหมายหลักจะใช้ร่วมกันกับคนทั้งชาติ คสช.ยังไม่จริงใจ มาอุบไต๋กับประชาชน

Advertisement

จุดประสงค์หลักๆ ของ กรธ. ในการยำรัฐธรรมนูญในกรณีประชามติไม่ผ่าน คือยำเพื่อทำให้การรักษาอำนาจของ คสช.ดำรงต่อไปได้อย่างแนบเนียนพยายามจะรักษาอำนาจ คสช. ไว้ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นเป้าประสงค์แรกของ คสช. และ กรธ. เพื่อให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อไปได้ใต้ร่มเงาของประชาธิปไตย เพื่ออ้างความชอบธรรมกับสังคมและประชาคมโลกต่อไปในระยะยาวว่าไม่ได้มาโดยใช้อำนาจหรือผ่านกองทัพ ไม่ได้มาจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่มาเพราะกลไกจากรัฐธรรมนูญ หากจะยำรวมรัฐธรรมนูญก็เพื่อการนี้นั่นเอง

แต่แน่นอนว่า นี่ย่อมไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย กลับกัน วิธีนี้คือทางออกของ คสช.และ กรธ. ต่างหากทางออกของประเทศคือการสื่อสารกับสังคมชัดๆ ว่าหากประชามติไม่ผ่านจะหาทางออกอย่างไร เพราะกระแสสังคมต้องการรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับปรุงใหม่ในการพัฒนาประเทศ ถามว่าทำไมต้องรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญมาจากความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีปัญหาบ้างในกรณีพรรคไทยรักไทย แต่ก็ควรแก้ปัญหานั้นไป เช่น อย่าให้รัฐบาลคุมอำนาจของกลไกสภาได้ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

 

Advertisement
ชำนาญ จันทร์เรือง
ชำนาญ จันทร์เรือง

ชำนาญ จันทร์เรือง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

จริงๆ แล้วก็ต้องเอามาจากรัฐธรรมนูญทั้งหมด เขาคงไม่กล้าหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหาร รัฐธรรมนูญร่างคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ถูกคว่ำโดย สปช.ตั้งจากคณะรัฐประหาร ฉะนั้นเขาคงเอามาจากหลายฉบับ คงไม่เอาฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นตัวตั้ง เชื่อว่าเขาคงไม่ตั้งคณะกรรมการยกร่างอีกแล้ว คงจะร่างกัน 3-4 คน

แนวทางนี้ไม่ผิดจากคาด พอรัฐธรรมนูญไม่ผ่านปุ๊บ เขาต้องเสนอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ต่อ สนช. ภายใน 20 วัน พอแก้เสร็จ เขาคงเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเลย แต่กว่าจะไปถึงตอนนั้นผลสะเทือนทางการเมืองจะเยอะกว่ามาก ก็ทำได้ เพียงแต่การลงประชามติเมื่อบล็อกทุกอย่างแล้ว โอกาสรณรงค์ก็ทำไม่ได้ ถ้ายังแพ้อยู่ ความชอบธรรมทางการเมืองก็จะหายไปเยอะ

ส่วนการยำรัฐธรรมนูญนั้น ให้นึกถึงข้าวยำทางภาคเหนือก็เหมือนแกงโฮะ คลุกๆ กันแล้วก็หยิบเอาหัวมังกุท้ายมังกรต่างๆ นานามาใส่ คลุกกันมา ไม่เอาอันใดอันหนึ่งมาเป็นตัวหลัก เป็นตัวหลักไม่ได้เพราะเขาฉีกรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด การยำคือการคลุกกัน เขาคงหยิบมาเป็นบางส่วน แต่ส่วนที่เขาต้องเอามาแน่ๆ คือ ส่วนในการจำกัดสิทธิของนักการเมือง ในการใช้สิทธิเลือกตั้งเกี่ยวพันกับเรื่องการทุจริตต่างๆ นานา และพยายามจะไม่ให้พรรคใหญ่โตเกินไป จำกัดโควต้าบัญชีรายชื่อออก ถ้าได้ ส.ส.เขตแล้ว บัญชีรายชื่อก็ต้องลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งร่างของคุณบวรศักดิ์ และของคุณมีชัยนั้นเหมือนกัน หลักการนี้ยังคงอยู่แน่ๆ เรื่องนี้เขาเอาแน่ๆ

คาดว่าเขาจะไม่ตั้งคณะกรรมการยกร่างอีกแล้วเพราะ 1.เสียเวลา 2.เขาประกาศโรดแมปไปแล้วว่าจะเลือกตั้งให้ได้ภายในปี 2560 เขาก็คงมองว่า ขนาดคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดคุณบวรศักดิ์ 36 คน ก็เรื่องเยอะแล้ว พอมาเหลือ 21 คน นึกว่าเรื่องจะไม่เยอะ แต่ก็ยังเยอะอยู่ เขาก็คงทำกัน 3-4 คน ชุดร่างคงไม่ต่างจากชุดร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มีคุณวิษณุ เครืองาม คุณพรเพชร วิชิตชลชัย และมีฝ่ายเป็นไม้เป็นมือ อาจมาจากฝ่ายกฤษฎีกาที่เป็นฝ่ายธุรการ

การร่างจริงๆ ไม่ได้ยากอะไรมากมาย สังเกตไหมว่าตอนที่คณะกรรมการร่างของคุณมีชัยบอกว่าหมดเขตตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ 16 ข้อที่ส่งไปจาก ผบ.ทบ.เหลือเวลา 2 อาทิตย์เองเขายังทำได้เลย เพียงแต่เขาไม่ทำเท่านั้นเอง

ถ้ายำได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาเขาไม่ทำประชามติแน่นอน และเขาจะประกาศใช้เลย ผลที่ตามมาจะร้ายแรงเพราะ 1.ความชอบธรรมในต่างประเทศไม่มี 2.ความชอบธรรมในเมืองไทยก็ไม่มี ผลสะเทือนทางการเมืองจะเยอะ เขาต้องคิดหนัก ต้องหาทางลงให้สวย เชื่อว่าเขาต้องมีทีหนีทีไล่อยู่แล้วคงไม่ดันประกาศโต้งๆ ออกมา จะทุบโต๊ะไม่ได้หรอก นี่ศตวรรษไหนแล้วจะไปใช้แบบเดิมไม่ได้

หากทำประชามติไม่ผ่านจะสะเทือนภาพลักษณ์แน่นอน ขนาดบล็อกแล้วบล็อกอีก คราวก่อนประชามติปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์เอาด้วยเต็มที่ยังชนะกันไม่ขาดเลย ชนะกัน 4 ล้านเสียง ตอนนี้ยิ่งประชาธิปัตย์หันมาทางนี้ อาจหันมาไม่เต็มตัวโดยไม่เห็นด้วยในประเด็นพ่วง แต่โอกาสจะชนะขาดนั้นยาก

ยอดพล เทพสิทธา
ยอดพล เทพสิทธา

ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ข้อเสนอของนายวิษณุ ทำไมถึงไม่ทำให้ง่ายกว่านั้น ทำไมไม่นำรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 มาปรับตรงที่เขาคิดว่าจะเป็นการปฏิรูป ไม่ต้องเปลืองงบมาร่างสองถึงสามฉบับเช่นนี้ เสียเวลา นายวิษณุน่าจะทราบหากไม่ปิดหูปิดตา ดูกระแสสังคมก็น่าจะทราบว่าร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยไม่เวิร์ก และมีการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 มาปรับส่วนที่ไม่โอเค เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 ต่างกันไม่มาก คือทำไมต้องทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ทั้งที่มีวิธีการประหยัดอยู่แล้ว

ส่วนที่รัฐบาลไม่ยอมระบุมาก่อนว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร คิดว่าเขาไม่ได้ต้องการแทงกั๊ก แต่คิดว่าเขาไม่ทราบจะทำอย่างไร เพราะหากนำ 40 หรือ 50 มาปรับใช้จะเป็นการเสียหน้า เนื่องจากต้องไม่ลืมรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ถูกฉีกโดยการทำรัฐประหาร แล้วหากจะนำวิธีนี้จริงก็ทำแต่แรกก็ได้และต้องไม่ลืมนายบวรศักดิ์เองก็เป็นเลขานุการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 จึงอาจจะเป็นการเสียหน้า คิดว่าเขาไม่บอกเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ขณะนี้ทาง กรธ. สปท. รัฐบาล และ คสช.ต้องมาดูแล้วว่า เขาไม่รับเพราะอะไร ไม่ใช่เพราะเสียผลประโยชน์หรือเขาเห็นด้วยกับการโกงไม่เกี่ยวกันแล้ว และผมเคยพูดแล้วไม่มีประเทศไหนใช้รัฐธรรมนูญมาปราบโกง รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายที่ตั้งสถาบันทางการเมือง สร้างความสัมพันธ์ ประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันทางการเมือง แต่ไม่มีใครเอารัฐธรรมนูญมาปราบโกง ผิดคอนเซ็ปต์แต่แรก

หากมองรัฐธรรมนูญมีโอกาสผ่านประชามติหรือไม่ คิดว่ามีแต่น้อย ส่วนหากไม่ผ่านอาจมีโอกาสเป็นแบบที่นายวิษณุระบุ แต่ท้ายสุดก็ต้องอยู่ที่หัวหน้า คสช. ต้องถามเขา เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วหากประชามติไม่ผ่าน แล้วจะไม่มีใครรับผิดชอบหน่อยหรือ ต้องมีเส้นทางสำรองไว้ ไม่ใช่อยู่เพื่อดึงดันร่างกันไปจนตาย แบบนี้ไม่ใช่ ประเทศต้องมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่เอะอะอะไรใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตราที่รู้กัน นี้ทุกอย่างควรออกมาก่อนวันทำประชามติ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางต่างๆ หากไม่ผ่าน แต่อย่างที่ผมบอก คือเขายังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร แต่การไม่ระบุอะไรเลยก็มีเหมือนกัน ในการลงประชามติรัฐธรรมนูญยุโรป ประชามติไม่ผ่านไม่มีการพูดอะไร เพียงแต่กลับไปใช้ระบบเดิมของยุโรปก่อน แต่อย่างไรหากประชามติไม่ผ่านต้องมีคนรับผิดชอบ

เพราะเป็นการรับผิดชอบทางการเมือง เรามีจารีตประเพณีอย่างหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ คือ หากเป็นนโยบายสำคัญไม่ผ่านนายกฯต้องลาออก และประชามติถือว่าใหญ่กว่าการแถลงนโยบาย แล้วทำไมไม่มีการรับผิดชอบอะไรกันเลยหากไม่ผ่าน คิดว่าทุกปัญหามีทางออก อย่าไปดึงดัน หากไม่ผ่านก็ให้ปรับใช้ไปก่อนรัฐธรรมนูญ 40 หรือ 50 เพื่อให้มีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาก่อน แล้วก็ไปแก้ไขต่อไปเพราะในหมวดของรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มีหมวดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งดึงดันยิ่งเสียหายมาก

ยุทธพร อิสรชัย
ยุทธพร อิสรชัย

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายวิษณุเสนอทางออกนำเอาร่างรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มาพิจารณาปรับใช้รวมกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เป็นทางออกที่น่าสนใจทางหนึ่ง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีการฉายภาพชัดเจนเลยว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะมีทางออกอย่างไร ถ้าไม่มีทางออกชัดเจนก็จะส่งผลให้ความไม่เชื่อมั่นอะไรต่างๆ เกิดขึ้น และท้ายที่สุดจะไปกระทบมิติด้านการเมือง และเศรษฐกิจอีกด้วย

เพราะฉะนั้นหากมีการฉายภาพทางออกของประเทศอย่างชัดเจนแล้วก็สะท้อนให้สังคมพอจะเห็นทางออกว่าสังคมไทยจะเดินไปทางไหน ทำนองเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 นั้น ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกภาคส่วนเรียกร้องให้นำกลับมาใช้ ขณะเดียวกันหากนำร่างฯของนายบวรศักดิ์ และนายมีชัยมาประยุกต์ใช้ด้วยแล้ว คิดว่าจะเป็นประเด็นน่าสนใจมาก อย่างไรก็ตามเราต้องติดตามรายละเอียดกันอีกทีว่าจะปรับใช้เรื่องอะไร ประเด็นใดเหมาะสม อะไรไม่เหมาะสม

ส่วนทางออกดังกล่าวนี้จะเป็นสิ่งที่สูญเปล่าหรือไม่นั้น คิดว่าแน่นอน เพราะที่ทำมาตลอดมันสูญเปล่าอยู่แล้ว เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเลย หนำซ้ำฝ่ายรับต้องประเมินตั้งแต่ต้นแล้วว่าต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย ดังนั้นการเสนอทางออกมาเช่นนี้ความนสูญเปล่า และสิ้นเปลืองเวลาคงไม่เกิดซ้ำแน่นอน

หากสมมุติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจริงๆ และทางออกเป็นไปตามที่ว่ามา คิดว่าฝ่ายรัฐควรกำหนดการเลือกตั้งให้ชัดเจน เพราะการเลือกตั้งเป็นทางออกหนึ่งสำคัญ จะทำให้สังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤตได้ หากไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งแล้วสังคมไทยคงไม่มีวันเห็นทางออกได้เลย ทั้งยังการเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเสรี และอย่างเปิดเผยด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image