เปิดสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’

หมายเหตุ – สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ซึ่งผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานกรรมการ และอยู่ระหว่างขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดรับฟังความเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว


การอารักขาบุคคลสำคัญ
มาตรา 7 ในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โดยในการออกคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญดังกล่าวนั้น ให้เป็นไปตามความสมัครใจของข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวออกจากส่วนราชการเดิมไปดำรงตำแหน่งในกองบังคับการ 4 ตำรวจสันติบาล โดยต้องแต่งตั้งผู้อื่นทดแทนตำแหน่งเดิม

เมื่อบุคคลสำคัญดังกล่าวพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ให้ ผบ.ตร.ส่งตัวข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยนั้นคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลสำคัญนั้นเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯที่มิเคยถูกศาลมีคำพิพากษาลงโทษจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อไปได้

ให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วม
ในการจัดระบบบริหาร
รวมถึงอุดหนุนงบประมาณแก่ตำรวจ
มาตรา 8 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดระบบการบริหาร การปฏิบัติงาน ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน โดยต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานตำรวจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ตร.กำหนด

Advertisement

เงินอุดหนุนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรให้แก่สถานีตำรวจ ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตารวจและกิจการในสถานีตารวจนั้น โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ประเภทข้าราชการตำรวจ

มาตรา 9 ข้าราชการตำรวจ มี 2 ประเภท ได้แก่ 1.ข้าราชการตำรวจที่มียศ ซึ่งได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 54 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองจเรตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการ ผู้บัญชาการสอบสวน และจเรตำรวจ รองผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการสอบสวน และรองจเรตำรวจ ผู้บังคับการและผู้บังคับการสอบสวน รองผู้บังคับการและรองผู้บังคับการสอบสวน ผู้กำกับการและผู้กำกับการสอบสวน รองผู้กำกับการและรองผู้กำกับการสอบสวน สารวัตรและสารวัตรสอบสวน รองสารวัตร รองสารวัตรสอบสวน รองสารวัตรสืบสวนในการสอบสวน ผู้บังคับหมู่และผู้ช่วยพนักงานสอบสวนรองผู้บังคับหมู่

Advertisement

2.ข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ ได้แก่ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ การพยาบาล การพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตารวจ หรือสถาบันการศึกษาอื่นในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เฉพาะที่เกี่ยวกับการสอนวิชาที่ ก.ตร.กำหนด หรือหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

การแบ่งส่วนราชการ

มาตรา 13 เพื่อประโยชน์ในการบริการประชาชนในการอำนวยความยุติธรรม การปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความสงบเรียบร้อย และการรักษาความปลอดภัยของประชาชนในส่วนภูมิภาค การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างน้อยต้องมีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

1.กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค เรียกโดยย่อว่า “ตำรวจภูธรภาค” ต้องกำหนดเขตพื้นที่ให้ชัดเจน มีหน้าที่อำนวยการ ประสานงาน และสั่งการเกี่ยวกับการสนธิกำลัง หรือสั่งให้ข้าราชการตำรวจที่อยู่ในกองบังคับการมาปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจภายใต้การกำกับของผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการเป็นการเฉพาะชั่วคราว ซึ่งต้องไม่เกิน 6 เดือน เมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้ส่งกลับต้นสังกัด
2.กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เรียกโดยย่อว่า “ตำรวจภูธรจังหวัด”
3.สถานีตำรวจ
สำหรับในเขตกรุงเทพฯ จะจัดให้มีกองบัญชาการตารวจนครบาล กองบังคับการ และสถานีตำรวจก็ได้

มาตรา 13/1 ให้แบ่งสถานีตำรวจเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้ สถานีตำรวจระดับเล็ก สถานีตำรวจระดับกลาง สถานีตำรวจระดับใหญ่

มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร. 1 คณะ ประกอบด้วย
1.นายกฯเป็นประธานกรรมการ
2.ผบ.ตร.เป็นกรรมการ
3.รอง ผบ.ตร.ด้านป้องกันและปราบปราม ด้านสอบสวน และด้านบริหาร ที่นายกฯแต่งตั้งด้านละ 1 คน และจเรตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
4.อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการ
5.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาจาก (ก.) ผู้ซึ่งเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ผู้บัญชาการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป 5 คน แต่ต้องเป็นผู้ซึ่งพ้นจากความเป็นข้าราชการตำรวจไปแล้ว เกินหนึ่งปี (ข.) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เคยเป็นข้าราชการตำรวจ 3 คน โดยนายกฯ ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา หารือร่วมกันเสนอชื่อ

มาตรา 25 ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.ค.ตร.” ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งนายกฯแต่งตั้ง กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ต้องทำงานเต็มเวลา ให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขาธิการ และผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
ก.พ.ค.ตร.ต้องมีคุณสมบัติอื่นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(ก) เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า
(ข) รับราชการหรือเคยรับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าขึ้นไป
(ค) รับราชการหรือเคยรับราชการเป็นข้าราชการทหารในตำแหน่งตั้งแต่ แม่ทัพภาคหรือเทียบเท่าขึ้นไป
(ง) เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือเทียบเท่า หรือตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น
(จ) เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอัยการพิเศษฝ่ายหรือเทียบเท่า
(ฉ) เคยเป็นผู้สอนวิชาในสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์ แต่ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ต้องดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตาแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

อำนาจหน้าที่ของก.พ.ค.ตร.

เสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร.ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบาย การบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. ถ้าเป็นการวินิจฉัยว่ากฎ ก.ตร.ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ ให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด

มาตรา 35 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.ร.ตร.” มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ

แบ่ง 5 สายงาน

มาตรา 53 ตำแหน่งข้าราชการตำรวจมี 5 สายงาน ดังต่อไปนี้
1.สายงานบริหาร
2.สายงานอำนวยการและสนับสนุน ได้แก่ งานที่ ก.ตร.กำหนด
3.สายงานสอบสวน ได้แก่ งานเกี่ยวกับการสอบสวนและงานสืบสวนที่เกี่ยวเนื่องกับงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการสอบสวน และกฎหมายอื่น
4.สายงานป้องกันและปราบปราม ได้แก่ งานสืบสวน งานป้องกันและปราบปราม และงานตำรวจตระเวนชายแดน
5.สายงานวิชาชีพเฉพาะ ได้แก่ งานเกี่ยวกับการแพทย์ การพยาบาล การพิสูจน์หลักฐาน และการสอนในกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือสถาบันการศึกษาอื่น ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และงานอื่นที่มีลักษณะเป็นวิชาชีพตามที่ ก.ตร.กำหนด

การบรรจุแต่งตั้ง

มาตรา 67 การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.อ.ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรอง ผบ.ตร. ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถในการบริหารงาน และประสบการณ์ ในงานด้านสอบสวนและงานป้องกันและปราบปรามประกอบกัน
ตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.ท.หรือ พล.ต.อ. และเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.หรือรองจเรตำรวจแห่งชาติมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
ตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสอบสวนอย่างน้อย 1 คน และผู้บัญชาการในสายงานป้องกันและปราบปรามอย่างน้อย 1 คน แต่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดเคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. มาแล้วถึง 2 ปี ให้แต่งตั้งผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. นานที่สุดเรียงตามลำดับ

บทเฉพาะกาล

มาตรา 150 ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ การตราพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวง ห้ามมิให้จัดตั้งส่วนราชการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ เว้นแต่จะมีการจัดสรรอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดเพียงพอและครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังแล้ว

มาตรา 151 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ และให้โอนเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยในส่วนที่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดินสำหรับเงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นของข้าราชการตำรวจในกองบังคับการตำรวจรถไฟ มาเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มาตรา 154 ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้โอนงานจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้แก่กรุงเทพฯ เมืองพัทยา และเทศบาลนคร

มาตรา 155 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้โอนหน้าที่ และอำนาจในการเป็นนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัดตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ไปเป็นของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี

มาตรา 156 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้โอนหน้าที่ และอำนาจในการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสำหรับในเขตกรุงเทพฯ ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ไปเป็นของปลัดกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image