เปิดแถลงการณ์! “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คสช.” โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 เมษายน ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง แถลงข่าว “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ริดลอนสิทธิเสรีภาพประชาชน” นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา, นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, นายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร, นางพวงทอง ภวัครพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์, น.ส.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, นายบารมี ชัยรัตน์ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน, เคท ครั้งพิบูลย์ นักวิชาการอิสระ

แถลงการณ์ระบุว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ขอร่วมแสดงความเห็นพ้องกับกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วยเหตุผลเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

12980916_10153995973089892_298831615_o

1. รัฐธรรมนูญเป็น ‘สัญญาประชาคม’ ที่ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันตกลงและสร้างขึ้นเพื่อเป็นกติกาแม่แบบในการดำเนินชีวิตทางการเมืองและสังคมเพื่อความไพบูลย์ร่วมกัน แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของ คสช. ขาดหลักการและความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะกฎหมายอันสูงสุดของประเทศ กลับเป็นเพียงกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มบางฝ่ายเท่านั้น

Advertisement

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขัดกับหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงทางการเมืองของประชาชน และจงใจสร้างความอ่อนแอแก่ระบบรัฐสภา อาทิ นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. อำนาจอันกว้างขวางของสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดจำนวนสมาชิกวุฒิสภาแก่ผู้นำทหาร ระบบการคำนวณคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ไม่สอดคล้องกับสถานะตัวแทนของราษฎร และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ แทนที่ คสช. จะสิ้นสุดลงตามที่มีสัญญาวาจาไว้ กลับยังคงอำนาจต่อไปอีก อย่างน้อยหนึ่งปีหลังการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ

3. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำลายหลักนิติธรรมที่ยึดถือ ‘หลักการแบ่งแยกอำนาจ’ อันเป็นแก่นแท้ของการปกครองในระบบเสรีประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมอบอำนาจทางการเมือง การปกครองอย่างสูงแก่องค์กรตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ในการตรวจสอบควบคุมการทำหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และองค์กรบริหาร (รัฐบาล) ทว่ากลับไม่มีกลไกที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรนั้นๆ ทั้งๆ ที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ว่าการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรเหล่านี้มีส่วนในการบั่นทอนตั้งแต่กฎเกณฑ์ทางกฎหมายเบื้องต้นไปจนถึงสนับสนุนการทำลายหลักการประชาธิปไตย

4. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้รัฐละเมิดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขในการบังคับใช้กฎหมายในนามของความมั่นคง และทำให้การตีความขอบเขตอำนาจของความมั่นคงอยู่ในมือของกองทัพและกลุ่มคนที่อยู่นอกองค์กรการบริหารของรัฐ ทั้งนี้ ในสังคมเสรีประชาธิปไตย กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งให้อำนาจแก่รัฐเท่านั้น แต่ยังต้องมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้มีอำนาจจนเกินขอบเขต นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

Advertisement

5. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขให้การแก้ไขเนื้อหาในระดับที่ยากอย่างยิ่ง หรือไม่อยู่ในวิสัยจะทำได้เลย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองจึงเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นอกจากการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนนับแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรงยิ่งขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังจะไม่สามารถเป็นทั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมและฐานของการพัฒนาบ้านเมืองอีกด้วย

หากในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ยอมรับตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน คสช. พึงคืนอำนาจด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และให้รัฐบาลและรัฐสภาหลังการเลือกตั้งดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปที่คำนึงถึงหลักการเสรีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ และการพัฒนาสังคม การเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มต่างๆได้แสดงออกถึงการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหากผ่านการทำประชาติจากประชาชน จึงร่วมกันออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน จากนี้กลุ่มตนในฐานะนักวิชาการจะดำเนินกิจกรรมภายใต้ที่พ.ร.บ.ประชามติอนุญาตให้ทำ คือการแสดงความเห็นเป็นรายมาตราแต่ห้ามแสดงความเห็นว่ารับหรือไม่รับ เราเป็นพลเมืองที่เคารพกฎหมาย คิดว่าจะมีการจัดเสวนาทางวิชาการ แม้ทางกลุ่มนิติราษฎร์ จะแสดงความเห็นรายมาตราไว้อย่างละเอียดแล้ว แต่เราจึงจะจัดเสวนาต่อไปเพื่อให้เห็นปัญหาและข้อจำกัดในร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้บอกว่าควรจะเลือกรับหรือไม่รับ

นอกจากนี้อาจจัดกิจกรรมโดยสร้างโรดแมปเป็นทางเลือก หากไม่เดินตามที่ คสช. วางไว้ จะมีทางเลือกอื่นให้สังคมไทยไหม เราจะเสนอโรดแมปเป็นทางเลือกให้สังคมไทยก่อนการทำประชามติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image