บทนำ : ยังมีทางออก

การผลักดันแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เพื่อยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 616 ที่ กกต.ชุดเดิมเป็นผู้ดำเนินการออกระเบียบและจัดให้มีการสรรหา ได้รับการสนับสนุนจาก สนช.บางส่วน นายกรัฐมนตรีเองได้กล่าวทำนองสนับสนุน อย่างไรก็ตาม กกต.ชุดเดิม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.ป.กกต. และพรรคการเมือง ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า มีขั้นตอนที่จะต้องใช้เวลามาก อาจส่งผลต่อการได้มาของ ส.ว. 250 คน และกำหนดเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้เตือนว่า ทันทีที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. บังคับใช้ราวกลางเดือนกันยายน กกต.จะดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. ชุดแรก 250 คน ตามบทเฉพาะกาล โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งมีหน้าที่ตามกระบวนการเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ จนเหลือ 200 คน ก่อนให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน เพื่อรวมกับ ส.ว.อีก 200 คน ที่ คสช.คัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งกระบวนการนี้ต้องเสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่หาก สนช.ย้อนกลับไปแก้ พ.ร.ป.กกต. การเลือกตั้ง ส.ส.จะไม่เกิดในเดือน ก.พ.2562 ทำให้การเลือกตั้งยืดไปถึงปลายปี 2562 เพราะ การแก้ พ.ร.ป. กว่าจะมีผลบังคับใช้ ต้องใช้เวลา 180 วัน และตามสถิติเดิม กกต.ใช้เวลาอีก 100 วัน กว่าจะได้ผู้ตรวจฯ 616 คน รวมยืดไปราว 9 เดือน ข้อเสนอของอดีต ส.ส.ปชป.คือ ให้ 36 สนช.ถอนร่างแก้ไข และให้ กกต.ชุดใหม่ มาจับสลากผู้ตรวจฯ มากหรือน้อยตามจำนวนเขตเลือกตั้ง จากบัญชี 616 ก็ถือว่าเป็นทางออกที่น่าจะยุติธรรมแล้ว

ปัญหาข้อห่วงใยของ สนช.และผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ที่เกรงว่า กกต.ชุดใหม่จะไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีผู้ตรวจฯ จึงมีทางออก โดยไม่ต้องหวนกลับไปแก้ไข พ.ร.ป.อีกครั้ง เป็นทางออกที่ไม่สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ และ กกต.ชุดใหม่ จะเป็นผู้ดำเนินการให้ได้รายชื่อผู้ตรวจฯ ที่จะต้องปฏิบัติการงานจริง ตามเจตนารมณ์ของผู้เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายน่าจะพิจารณาดำเนินการในแนวทางนี้ เว้นแต่ สนช.จะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากการให้มีกลไกเลือกตั้งที่เหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image