ประเด็นร้อนรธน.”ฉบับกรธ.” วัดใจ”ประชามติ”รับ-ไม่รับ

เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ภายใต้การนำของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.พร้อมคณะ ภายหลังผ่านการร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ (สัญจร) ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 11-17 มกราคมที่ผ่านมา โดย กรธ.ได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้ว 13 หมวด 261 มาตรา เหลือเพียงบทเฉพาะกาลและตรวจความถูกต้องของถ้อยคำในแต่ละมาตรา

โดย “มีชัย” มอบฉายาให้รัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับต่อต้านการทุจริต” เพราะหากจะไล่เรียงดูจุดแข็งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะพบว่า กรธ.ได้วางกลไกการตรวจสอบไว้อย่างเข้มข้น 10 ประเด็น

ตั้งแต่ ประเด็นแรก บัญญัติให้สิทธิของประชาชนเป็นสิทธิที่กินได้ หรือสามารถบังคับใช้ได้จริง กำหนดให้สิทธิที่สำคัญถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องจัดให้ประชาชนได้รับสิทธิ โดยไม่ต้องรอการเรียกร้องให้ได้สิทธินั้นมา แต่ทั้งนี้การใช้สิทธิต้องคำนึงถึงหน้าที่ ผลกระทบต่อผู้อื่นและชาติ รวมทั้งบทบัญญัติที่เขียนว่า อำนาจและหน้าที่ของทุกองค์กรนั้น ได้ปรับวิธีการเขียนให้เป็นหน้าที่และอำนาจเพื่อเป็นเจตนาที่เน้นเรื่องหน้าที่ต้องมาก่อนอำนาจ

ประเด็นที่ 2 เรื่องศาสนา อย่าง “ศาสนาพุทธ” แม้ กรธ.จะไม่บัญญัติให้ชัดว่าเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ได้บัญญัติบังคับรัฐให้คุ้มครองให้พ้นจากการบ่อนทำลาย ทั้งจากเหตุภายในและภายนอกของศาสนาพุทธเอง

Advertisement

ประเด็นที่ 3 ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่เปลี่ยนจากผู้ชนะเท่านั้นที่จะได้รับเลือกตั้ง เป็นให้มีความหมายทุกคะแนน ส่งผลให้คนส่วนน้อยจะได้รู้สึกว่ามีความหมาย ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข นอกจากนี้ กรธ.ได้ให้ความสำคัญด้วยการกำหนดให้ผู้แทนเสียงข้างน้อยได้มีส่วนในการแก้รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 4 การมีส่วนร่วม หากเป็นเรื่องสำคัญเป็นหน้าที่รัฐต้องทำให้มีส่วนร่วม เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม กำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือแสดงความเห็น ข้อเสนอ ในสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ คนในพื้นที่ต้องได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรนั้นด้วย ไม่ใช่ถูกใครก็ไม่รู้มาเอาทรัพยากรในพื้นที่ไป

ประเด็นที่ 5 การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น กรธ.ได้วางกลไกเข้มข้นทั้งคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามหลายขั้นตอน เพื่อสกัดคนทุจริตหน้าที่ หรือทุจริตต่อการเลือกตั้งถูกขจัดออก เรื่องใดที่เป็นการทุจริตร่วมกันทั้งองคาพยพ ตั้งแต่นักการเมืองจนถึงข้าราชการร่วมมือกัน เช่น เรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตน มีบทลงโทษให้ต้องพ้นทั้งคณะ

Advertisement

ประเด็นที่ 6 องค์กรอิสระ กรธ.บัญญัติให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำงานคล่องตัวสามารถดำเนินการตามหน้าที่เมื่อรู้ว่ามีเหตุ โดยไม่ต้องรอคนฟ้อง และมุ่งทำงานที่สำคัญเป็นหลัก ไม่ต้องทำทุกเรื่อง และให้ช่วยกันทำหลายองค์กร รวมทั้งกำหนดระยะเวลาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องทุจริตให้ชัดเจน

ประเด็นที่ 7 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บัญญัติให้มาจากการเลือกทางอ้อมของกลุ่มสังคม 20 กลุ่มมาเลือกไขว้กัน เพื่อให้มีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาเสียงมากมาย ไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง

ประเด็นที่ 8 กำหนดให้สามองค์กรอิสระ คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหน้าที่เตือนนโยบายหรือการกระทำของรัฐ ที่ส่อว่าทำให้ก่อความเสียหายต่อประเทศอย่างรุนแรง เพื่อให้รัฐไปตัดสินใจจะปรับปรุงแก้ไขหรือระงับนโยบาย โครงการหรือการกระทำนั้นหรือไม่

ประเด็นที่ 9 กลไกการปรองดอง นอกจากกลไกด้านสิทธิที่ประชาชนได้รับการคุ้มครองเป็นจริงแล้ว ยังมีกลไกเลือกตั้งที่ทุกสิทธิมีความหมาย กำหนดเป็นหน้าที่รัฐในการสร้างความปรองดอง รวมทั้งในกลไกของรัฐสภา เช่น การเปิดช่องให้ผู้นำฝ่ายค้านเสนอแนะรัฐบาลได้ และทุกเรื่องที่อาจมีข้อขัดแย้งจะมีคนชี้ขาดให้ยุติเด็ดขาดสิ้นประเด็นถกเถียง

ประเด็นที่ 10 การปฏิรูปประเทศ แม้ กรธ.จะไม่ได้กำหนดเป็นหมวดเฉพาะ แต่ได้บัญญัติไว้ในหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายของรัฐ ที่จะบอกทิศทางและจุดหมาย เช่น การกำหนดให้ต้องออกกฎหมายอะไร เป็นต้น และกำหนดให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติที่มีความยืดหยุ่น หวังให้ประชาชน การเมือง และข้าราชการประจำร่วมกันกำหนด

อย่างไรก็ตาม 10 ประเด็นร้อนดังกล่าว เมื่อมีการเปิดประเด็นออกมานั้น ย่อมมีปฏิกิริยาคัดค้านจากฝ่ายการเมืองในทันที โดยเฉพาะตัวแทนจาก 2 พรรคใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) และ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงกับออกมาประกาศท่าทีว่าถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะพรรคไหนต้องมาหารือกันว่าจะกำหนดทิศทางอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ที่มีเนื้อหาทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ในช่วงการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

จากนี้ กรธ.จะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายอีกครั้ง ก่อนที่จะนำความเห็นมาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายให้กับรัฐบาลในวันที่ 29 มีนาคม หลังจากนั้นจะเป็นห้วงเวลาที่ กรธ.จะต้องเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

ก่อนที่ประชาชนจะชี้ขาดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image