พิสูจน์ด้วย‘เลื่อนเลือกตั้ง’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

ภาพรวมทางการเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจจะอยู่ที่ความละเหี่ยใจที่จู่ๆ เกม “เลื่อนเลือกตั้ง” ก็ถูกงัดขึ้นมาเล่นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ยากจะเดาล่วงหน้าได้

“ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ตำแหน่งที่งอกมาจากกติกาใหม่ ที่ชงกันเอง ตบกันเอง ตามด้วยประกาศฟาวล์กันเอง จนความเดือดร้อนมาตกที่ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกครั้ง

เป็นเกมซ้ำซากที่เชื่อว่าประชาชนจะอดทนต่อไปได้ เหมือนที่เคยอดทนกันมาครั้งแล้วครั้งเล่ากับคำพูด คำสัญญาที่ไม่เคยเชื่อถือได้

ซึ่งแม้เรื่องนี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่คงไม่ทำให้ “คำพูดที่ไม่เป็นไปตามคำพูด” ส่งผลอะไรขึ้นมา

Advertisement

ความเฉียวฉุน โกรธาที่แสดงออกตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงให้เห็นว่าพร้อมจะใช้อำนาจกดข่มทุกการต่อต้านอย่างเข้มข้น

ศักดิ์สิทธิ์กว่าเสียงบ่น ความรู้สึกเชื่อถือไม่ได้เป็นแค่ความคิดในใจ ที่ไม่ทำให้ความอดทนจำยอมลดน้อยลง

ภาพรวมการเมืองจึงเป็นเรื่องที่สร้างความอึดอัดอยู่บ้างแต่ไม่ส่งผลอะไร

Advertisement

ดังนั้น ความเป็นไปทางการเมืองที่น่าสนใจกว่า คือ “ความคิดที่จะทำให้ประชาธิปไตยยั่งยืน” หรือ “ทำให้การรัฐประหารนำประเทศสู่เผด็จการไม่กลับมาอีก” ได้มาเป็นประเด็นที่พูดถึงกันถี่ขึ้น ด้วยความรู้สึกจริงจังมากขึ้น พร้อมๆ กับวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างหลากหลาย

คนที่สนใจการเมืองจริงๆ คงไม่พลาด บันทึกรายการ
“10 พรรคการเมือง มอง 86 ปีประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน” ซึ่งเป็นรายการพิเศษของ “VOICE TV” ที่เชิญผู้นำพรรคการเมืองระดับแนวหน้า 10 พรรค มาเสนอรูปแบบที่ทำให้ “ประชาธิปไตยยั่งยืน เผด็จการไม่กลับมา” ซึ่งสามารถหาดูย้อนหลังได้จาก “ยูทูบ”

ความรู้สึกว่า “เผด็จการเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย” และ “ต้องหาทางไม่ให้เกิดขึ้น” ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นในความคิดของผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ มีการนำเสนออย่างเข้มข้นที่ให้ “รักษาอำนาจของประชาชน” ไว้อย่างรู้ว่าส่วนใหญ่เอาเป็นเอาตายกันอย่างไร ลองไปหาฟังได้

แน่นอนว่ามีบ้างที่ยังออกมาในทางไม่เต็มร้อย หรือบางคนชูธงสนับสนุนเผด็จการกันเลย แต่เสียงในทางนี้ดูจะอ้อมแอ้มพูดไม่เต็มปากเต็มคำกันสักเท่าไร

แสดงว่าความรู้สึกว่า “รัฐบาลเผด็จการ” เป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ เป็นกระแสที่เริ่มมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักการเมืองมากขึ้น

เรื่องนี้ หากหาข้อมูลเพื่อประเมินกระแสต่อไป ซึ่งในโลกที่ช่องทางการแสดงความคิดเห็นเปิดทางด้วยสังคมออนไลน์ที่ต่างคนต่างหาช่องทางแสดงท่าทีได้ไม่ยาก

จะเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง

เมื่อครั้งที่มีการรัฐประหารใหม่ๆ การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในสังคมออนไลน์ที่เป็นกระแสหลัก จะเป็นการโจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และเห็นดีเห็นงามกับอำนาจเด็ดขาดของรัฐบาลทหารที่ทำให้บ้านเมืองสงบ

เรียกว่าใครโผล่มาเข้าข้างนักการเมือง จะเสี่ยงต่อการถูกไล่ถล่มเละ

กระแสหลักจะยืนอยู่ข้างรัฐบาลจากกองทัพในฐานะผู้เข้ามากู้วิกฤตของประเทศ

นั่นคือที่เป็นมา

ทว่าวันนี้ดูจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว หากติดตามความ
เป็นไปของโลกออนไลน์อย่างใจกว้าง คือเข้าไปดูเพื่อรู้กระแส และความเป็นไปที่เปลี่ยนแปลงแนวโน้ม จะพบว่า “เสียงที่เคยไชโยโห่ร้องกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร” เงียบไปมาก

เงียบมานาน และทำท่าจะเงียบมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่เคยพูดถึงการเมืองในมุมชื่นชม เริ่มไปคิดไปเห็นเรื่องสายลมแสงแดดมากขึ้น

และกลับกลายเป็นว่า คนที่เห็นความทุกข์ร้อนของประเทศจากอำนาจเผด็จการ เริ่มมากขึ้น

มากทั้งปริมาณผู้กล้าที่เดินออกมาแสดงความคิดความเห็นกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น

มากทั้งเรื่องราวที่ไปขุดคุ้ยกันมา หรือรูปแบบการนำเสนอที่กระตุ้นให้ผู้คนสนใจมากขึ้น

แนวโน้มนี้เช่นนี้บอกอะไร

เป็นเรื่องของผู้ติดตามการเมืองอย่างชาญฉลาดจะต้องวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจ

ด้วยว่าถึงอย่างไร แม้จะเคยชินกับการยอมจำนนแค่ไหน แต่เสียงของประชาชนจะยังมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงเสมอ

หากอยากเห็นว่า มีอิทธิพลอย่างไร

ขอให้ติดตามอย่างใกล้ชิดในวันที่มีการประกาศ “เลื่อนวันเลือกตั้ง” ออกไปอีก

อย่างเป็นทางการ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image