ปมลึกเด้ง เลขาธิการปปง. งัดข้อ “ปธ.บอร์ด” ลือหึ่งเมินเช็กทุนการเมือง

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกประชุม คสช.ด่วน โดยผู้บัญชาการเหล่าทัพทยอยเดินทางเข้ามาในทำเนียบรัฐบาลเวลาประมาณ 11.30 น. เช่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ สมาชิก คสช.ระบุว่า ไม่ทราบเป็นวาระใด เพราะเพิ่งได้รับแจ้งให้มาประชุม โดยเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากเวลาปกติ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายกฯเรียกประชุม คสช.เป็นการด่วนว่า เป็นการประชุมธรรมดา ไม่ได้ด่วน อยากประชุมเมื่อไหร่ คสช.ก็ประชุมได้ 24 ชั่วโมง ก็มีเรื่องหารือที่เป็นเรื่องลับ จะบอกสื่อทำไม ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีเรื่องประเมินสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง แต่เป็นเรื่องตัวบุคคล เปิดเผยไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประชุมด่วน คสช. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งที่ 12/2561 ให้ข้าราชการพ้นจากตําแหน่ง โดยระบุว่า โดยที่มีความจําเป็นต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจําเป็นต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา การบริหารราชการที่เกิดขึ้นและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.จึงมีคําสั่งให้ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร พ้นจากตําแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากําลังที่กําหนดในคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 โดยคําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2561

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ให้ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์พ้นจากตําแหน่งเลขาฯ ปปง. ว่าเหตุผลของคำสั่งดังกล่าวมีอย่างไรนั้น ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์เคยถูกร้องเรียนกรณีทุจริตหรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า ไม่มีร้องเรียนโดยตรงมาที่ตน แต่จะมีร้องเรียนไปที่ คสช.โดยตรงหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

Advertisement

เมื่อถามว่า พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาฯ ปปง.ได้ไม่นาน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ทั้งนี้ การพ้นจากตำแหน่งโดยกฎหมายสามารถทำได้อยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการให้ออกตามวาระ 4 ปี แต่เมื่อเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ก็ไม่เห็นจะต้องไปพูดถึงความผิดว่าเป็นกรณีใด ร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร และคงไม่ต้องถามด้วยว่าเหตุร้ายแรงคืออะไร ไม่ทราบและไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุม คสช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะรองนายกฯที่กำกับดูแล ปปง. จะมีคำสั่งใดออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม คสช. แต่เท่าที่ทราบคือไม่มี และที่ผมไม่ต้องเข้าร่วมประชุม เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะกำกับดูแล จึงไม่ต้องเข้าไปเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อตำแหน่งเลขาฯ ปปง.ว่างลง ต้องให้รองเลขาฯ ปปง.อันดับ 1 รักษาการแทน จากนั้นจึงดำเนินการสรรหาและพิจารณาเสนอตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่กำหนดว่าให้คณะกรรมการ ปปง.เป็นผู้พิจารณาและเสนอมายังนายกฯ เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่หัวหน้า คสช.จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ปปง.คนใหม่ในทันที นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้ถ้าจะตั้งก็คงเขียนลงในคำสั่งเดียวกันนั้นแล้ว ในเมื่อไม่เขียนก็แสดงว่าปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการปกติในการสรรหา

Advertisement

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคำสั่งเด้ง พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ดังกล่าว เกิดจากข้อขัดแย้งในวิธีการทำงานกับ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ประธานกรรมการ ปปง. ทำให้การทำงานนโยบายบางเรื่องไม่คืบหน้า การตัดสินใจคดีความใช้เวลานาน นอกจากนี้ ยังมีบางกรณีเกี่ยวข้องกับนักการเมือง ฝ่ายบริหารต้องการให้รวดเร็ว แต่เมื่อดำเนินการไม่สอดคล้องกัน จึงมีคำสั่งดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image