บทนำ : แผงกั้นบีทีเอส

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมามีกระแสข่าว ผู้โดยสารเกิดอาการวูบ ตกจากชานชาลารถไฟฟ้าบีทีเอส และแอร์พอร์ตลิงก์ และมีการกล่าวถึงมาตรการป้องกัน อาทิ การทำรั้ว แผงกั้น หรือจัดเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์ แต่ก็ยังเกิดเหตุอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด เมื่อเช้าวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้โดยสารหญิงเกิดอาการอ่อนเพลีย เป็นลมพลัดตกลงไปในรางรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีราชเทวี ฝั่งมุ่งหน้าสำโรง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้กดปุ่มฉุกเฉินหยุดรถทั้งสองฝั่ง มีรถพยาบาลมารับตัว และถือว่าเป็นเรื่องดีที่ฟื้นตัวและอยู่ในสภาพปลอดภัยแล้ว

นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการติดตั้งแผงกั้นผู้โดยสารตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ว่า เคยมีการหารือกัน และทราบว่าต้องใช้งบประมาณสูงมาก กทม.จะเชิญบีทีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อติดตั้งแผงกั้นในทุกสถานีรถไฟฟ้าภายในสัปดาห์หน้า เพราะมองว่าต้องปลอดภัยกว่าที่ไม่ได้ติดตั้งอะไรเลย ตามสัญญาสัมปทานไม่ได้กำหนดให้บีทีเอสติดตั้ง แต่ กทม.จะขอให้ร่วมพิจารณาดำเนินการในรูปแบบของความร่วมมือ ยกตัวอย่าง การติดตั้งแผงกั้นที่สถานีสยามนั้น ไม่ได้ระบุในสัญญา แต่ทางบีทีเอสติดตั้งให้ เพราะเล็งเห็นความจำเป็นและความปลอดภัย เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดซ้ำรอยอีกในอนาคต จึงต้องพูดคุยกับบีทีเอส ส่วนเส้นทางที่ กทม.เป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้าง ความเป็นไปได้ในการติดตั้งแผงกั้นยิ่งง่ายขึ้น เพราะ กทม.สามารถดำเนินการได้เอง

การติดตั้งแผงกั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก แต่หากเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลักแล้ว ก็ถือว่าไม่มีเหตุผลที่จะไม่จ่ายหรือไม่ดำเนินการ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดในบริการสาธารณะ มีผลไม่เพียงแต่ประชาชนต้องเสียชีวิตทรัพย์สินเท่านั้น แต่บ่งบอกถึงคุณภาพของสังคม ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของส่วนรวมเท่าที่ควร ดังนั้น หากจะมีมาตรการใดที่จะสร้างความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ และอย่างเร่งด่วน มิใช่ปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำกันหลายครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image