โครงร่างตำนานคน : เสน่ห์ ป่วงรัมย์‘ข้าวหมาก’สู่‘เหลื่อมล้ำ’ : โดย การ์ตอง

แม้จะประเมินว่าที่สุดแล้ว คดีของ นางเสน่ห์ ป่วงรัมย์ จากข่าว “ป้าขายข้าวหมากถูกจับเรียกค่าปรับ 5 หมื่น” จะเงียบหายไปหลังจาก “กรมสรรพาสามิต” ออกมาชี้แจงว่า ที่จับไม่ใช่ข้าวหมาก แต่เป็น“สาโท” ที่ถือเป็น “สุราแช่” ซึ่งมีกฎหมายชัดเจนว่าผู้ผลิตและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตถือว่ามีความผิด และต่อมาลูกหลานของนางเสน่ห์ได้หาเงินมาเสียค่าปรับ 10,000 บาท แล้วปล่อยตัวไป

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคดีของ “ป้าข้าวหมากจากบุรีรัมย์” นี้ คงไม่เงียบไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยอย่างน้อยเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จุดกระแสให้เกิดการถกเถียงในสังคมอีกครั้ง

ที่น่าสนใจคือประเด็นที่ถกเถียงกันนั้นถือเป็นวาระใหญ่ของประเทศกันเลย นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำ”

ทางหนึ่งในมุมของผู้ยึดถือกฎหมายเป็นหลัก ที่เห็นว่าอะไรที่ผิดกฎหมายไม่สมควรจะมีข้ออ้างอะไรทั้งนั้น ต่างพากันหยิบยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้กับสังคมกันเป็นการใหญ่ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า “เจ้าหน้าที่สรรพากร” มีหน้าที่จะต้องจัดการกับ “คนที่ทำผิดกฎหมาย” คือ “ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่ได้รับอนุญาต”

Advertisement

จะอ้างความยากจนเพื่อผลิตของผิดกฎหมายออกมาขายไม่ได้

แต่เรื่องนี้ก็เป็นอีกจังหวะที่ทำให้ประเด็นเรื่องที่มาของ “กฎหมาย” ที่ทำลายภูมิปัญญาชาวบ้าน ออกมาเพื่อผูกขาดการผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้กับนายทุนรายใหญ่

เป็นการออกกฎหมายเพื่อทำลายวิถีชีวิตของคนในชุมชนย่อยๆ

Advertisement

เลยไปถึงการหยิบยก เรื่องทำนองเดียวกันของต่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นพัฒนาสูตรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามหมู่บ้านต่างๆ ขึ้นมาเป็นสินค้าชุมชนอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไวน์ เบียร์ สาเก เหมาไถ วอดก้า

และตั้งคำถามขึ้นมาว่าประเทศที่มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายมันยุติธรรมแล้วหรือ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเติบโตมากับวิถีชีวิตของคนทุกชุมชน

แน่นอน แม้จะเป็นคำถามไม่มีอะไรใหม่ เพราะถามกันมาเนิ่นนาน เพียงแต่ไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนและหาทางออกที่เหมาะสมให้กับความขัดแย้งระหว่าง “ทุนผูกขาด” กับ “โอกาสพึ่งพาตัวเองของชาวบ้าน” ได้เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ “ความไม่เท่าเทียมกันของประชาชน” เป็นประเด็นขึ้นมาให้ขบคิด และเรื่องราวของการ “เอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน ปิดกันโอกาสพัฒนาตัวเองของคนระดับล่าง” ถูกหยิบยกขึ้นมาถามถึง “ความเหลื่อมล้ำ”

“ป้าข้าวหมาก” ถูกจับปรับ จึงเป็นประเด็นที่คนต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่น่าจะปล่อยให้ผ่านเลยไปแบบเงียบๆ

ยิ่งย้อนถึงไปที่ “เซียนกฎหมาย” ฝ่าย “นิติบริกร” อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกมา “สำนึกบาป” ด้วยการระบายว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่ทำกฎหมายมหาศาลออกมา แต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ก่อนออกกฎหมาย เอาเข้าจริงกลับสร้างความไม่เป็นธรรม อึดอัดขัดข้องต่อการดำรงชีวิตและการงาน การออกกฎหมายจำนวนมาก จึงไม่ใช่ของดี วันนึงผมก็สำนึกบาป กฎหมายที่ออกไปไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะมันจะไปตกในมือคนที่ใช้ระบบพรรคพวกตามวัฒนธรรมแบบไทยๆ ไม่บังคับใช้อย่างที่ควรเป็น ผมคิดแบบนี้มา 20 ปีแล้ว ปราชญ์กรีกท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า อันกฎหมายก็เสมือนใยแมงมุม คอยขยุ้มแมงตัวน้อยไม่ปล่อยหนี แต่แมงตัวใหญ่ผ่านไปได้ทุกที”

เรื่องราวของ “สาโทแป้งข้าวหมาก” กับ “ธุรกิจน้ำเมาผูกขาด” จึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนที่พร้อมจะโผล่ขึ้นมาบอกเล่าถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ทุกครั้งที่โอกาสเปิดให้พูดถึง

และน่าจะทำให้หลายคนอยู่ในสภาวะ “ตายตาไม่หลับ”

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image