7 สิงหา ออกเสียงประชามติ เตรียมเผยแพร่ร่างรธน.-สรุปสาระสำคัญ – คำถามพ่วง 23 พ.ค.

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานกกต. แถลงว่า ที่ประชุมกกต.มีมติกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็นวันออกเสียงประชามติ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 39/ 1 ที่กำหนดว่าหลังกกต.ได้รับสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ให้กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงโดยต้องไม่น้อยกว่า 90 แต่ไม่เกิน 120 วัน ซึ่งวันที่ 7 สิงหาคม ถือเป็นวันที่ 117 ของกรอบเวลา 120 วัน ส่วนระเบียบต่างๆ ทางสำนักงานได้มีการเตรียมการต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว ขณะนี้รอเพียงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จึงจะมีการประชุมพิจารณาประกาศใช้ระเบียบต่อไป

ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการกกต.ด้านบริหารงานทั่วไป กล่าวว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ล้านฉบับ สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้จัดทำขึ้น จัดพิมพ์ อย่างละ 4 ล้านฉบับ หลักการ เหตุผลประกอบคำถามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดพิมพ์อีก 4 ล้านฉบับ และสรุปย่อร่างรัฐธรรมนูญ (บุ๊คเล็ต)ที่จะพิมพ์รวม 17 ล้านฉบับ โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 96 ล้านบาท ซึ่งการจัดส่ง ในส่วนของบุ๊คเล็ต จะส่งพร้อมกับหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน ไปยัง 19 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ส่วนที่เหลือจะเริ่มจัดส่งในวันที่ 23 พฤษภาคมเป็นวันแรก ทั้งนี้ การจัดส่งจะทำเป็นชุด โดย 1 ชุดจะประกอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญ 1 เล่ม และสรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ และ คำอธิบายคำถามของสนช.อย่างละ 4 เล่ม ซึ่งกกต.จะจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวม 846,491 ชุด โดยจะกระจายไปยัง ศาลากลางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยของกกต. กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ กองบัญชาการรักษาดินแดน ศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยระดับตำบล สถาบันการศึกษาทุกระดับ สื่อมวลชน รวมถึงมีการส่งให้กับสนช. และกรธ.ด้วย โดยส่วนหนึ่งก็จะมีการเก็บไว้ที่สำนักงานกกต.ด้วย ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

นายธนิศร์ กล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้กกต.กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรทำได้ไม่ได้ในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้อยู่ในการดำเนินการของสำนักกฎหมายและคดี ของสำนักงานกกต. ซึ่งยังต้องรอดูพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่จะออกมาก่อน เพราะมีบทกำหนดโทษต่างๆ ที่ต้องมาเป็นหลักในการพิจารณา ทั้งนี้ ตามกฎหมายดังกล่าวมีโทษทางอาญา ดังนั้นถือว่าภาครัฐเป็นผู้เสียหาย หากเกิดเหตุและมีผู้พบเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดก็สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ตามป.วิอาญา ไม่ต้องมาร้องต่อกกต.

เมื่อถามต่อว่า ประเมินหรือไม่ว่าอาจจะมีการร้องทุกข์มากและทำให้การประกาศผลออกเสียงล่าช้า นายธนิศร์ กล่าวว่า ไม่อยากให้คาดเดากันไป เพราะทุกอย่างอาจจะเรียบร้อยก็ได้ รวมถึงเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินในเรื่องเหล่านี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image