‘สดศรี-สมชัย’ เสียงสะท้อน ขยายเวลาปิดหีบ เลิกเลือกตั้งล่วงหน้า

หมายเหตุ – ความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งอดีตและปัจจุบัน ต่อกรณีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เห็นชอบให้มีการขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.อีก 2 ชั่วโมงตามข้อเสนอของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอ คือจากเดิมกำหนดเวลาลงคะแนน 08.00-15.00 น. ขยายเป็น 08.00-17.00 น. โดยจะนำไปบัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และมีแนวโน้มที่จะให้ยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้าภายในประเทศ

 

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมือง

สําหรับเรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขยายเวลาออกเสียงการเลือกตั้งออกไปอีก 2 ชั่งโมงนั้น เข้าใจว่าต้องการให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งมากขึ้น ทำให้มีผู้มาออกเสียงมากขึ้นตาม แต่ทั้งนี้แม้จะมีการขยายการเลือกตั้งออกไปแล้วนั้นก็ต้องมากำหนดวันให้ดีด้วย เพราะหากเป็นวันหยุดติดกันหลายวันหรือเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ คนส่วนใหญ่ก็จะออกไปเที่ยวกัน ดังนั้นควรเลือกวันที่เป็นวันทำงานแล้วขอความร่วมมือทั้งจากส่วนราชการและเอกชนให้คนมาลงคะแนนเสียงโดยไม่ได้นับวันดังกล่าวเป็นวันหยุด เช่น ให้ข้าราชการมากันในช่วงเช้าโดยไม่ถือว่าเป็นการขาดหรือหยุดงานแล้วกลับทำงานต่อ ช่วงบ่ายก็รณรงค์ให้เอกชนมากันโดยขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนต่างๆ อย่างไรก็ดีแม้จะมีการขยายเวลาเลือกตั้งออกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ประชาชน เขาดูที่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญและไม่เชื่อพรรคการเมืองเลยเขาก็รับไม่ได้ แน่นอนสุดก็ไม่ผ่านการทำประชามติเพราะประชาชนทุกจังหวัดก็มีความใกล้ชิดกับนักการเมือง พรรคการเมือง แม้จะไม่ให้ประชุมหรือรณรงค์ก็ตามแต่คนก็พูดต่อๆ กันไม่รับร่างนะ เนื่องจากเนื้อหาสาระเป็นการควบคุมการทำงานรัฐบาล และการลงคะแนนในส่วนของสัดส่วนผสมก็ดีซึ่งพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย สุดท้ายก็จบ แต่ทั้งนี้หากพรรคการเมืองต้องการการเลือกตั้งให้เร็วต้องการกลับมาบริหารก็อาจจะผ่าน

Advertisement

หากมองสถานการณ์เลือกตั้งออกมาอยู่แบบกดคอเช่นนี้และเมื่อมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลก็อยู่ได้ไม่นาน ดังนั้นคิดว่าผลของประชามติจะออกมาเป็นอย่างไรพรรคการเมืองย่อมรู้ดีเพราะเขามีฐานเสียงของเขาอยู่แล้ว อย่างไรก็ดีการทำประชามติครั้งที่ผ่านมาก็เกือบไม่ผ่านแล้ว ขนาดพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยเพียงพรรคเดียว แต่ครั้งนี้หลายพรรคอาจจะไม่เห็นด้วย และนักการเมืองเขาก็ต้องมองแล้วว่า หากยอมรับให้ผ่านแล้วมีการเลือกตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ไม่คุ้มค่ากับที่เสียไป งั้นไม่ให้ผ่านก่อนดีกว่า ผ่านไปมีการเลือกตั้งได้ไม่นานไม่มีประโยชน์

ส่วนประเด็นการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจมีแนวโน้มไม่ให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าภายในประเทศนั้น อาจจะมาจากประเด็นปัญหาการล็อบบี้ การลงคะแนน บางคนแจ้งลงมาเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เมื่อวันจริงก็ไม่มา มีปัญหาเรื่องการเตรียมบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า บางครั้งไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้าแล้วไม่สามารถใช้สิทธิได้ แต่หลายปัญหาเป็นเรื่องที่ กกต.ต้องแก้ไขเอง อย่างไรก็ดีมองว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าไม่ควรเป็นวันเดียวเพราะอย่างในต่างประเทศก็ทำทั้งอาทิตย์และที่สำคัญคิดว่าการเลือกตั้งล่วงหน้า ยังมีความจำเป็นเนื่องจากบางคนที่ไปใช้สิทธิอาจจะไม่ว่างวันดังกล่าว จึงต้องการใช้สิทธิล่วงหน้าในวันอื่น นอกจากนี้ในการเลือกตั้งนอกอาณาเขตที่ผ่านมา เอกอัครราชทูต เคยให้ความเห็นเรื่องนี้มาแล้ว โดยไม่เห็นด้วยที่จะมีเพราะมีปัญหามากมายไม่คุ้มค่ากับการลงทุน คนไปใช้สิทธิน้อย อย่างไรก็ดีในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมี 2 ท่านที่เป็นอดีต กกต.มีความรู้เรื่องนี้ดี เขาคงจะให้ความชัดเจนในเรื่องต่างๆ

Advertisement

สมชัย ศรีสุทธิยากร
กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง

การขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเพิ่ม ส่วนตัวมองว่าโดยหลักการการขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ดี หากไม่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กกต.ก็มีแนวนโยบายที่จะขยายเวลาการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิมเวลา 08.00-15.00 น. มาเป็นเวลา 08.00-18.00 น.อยู่แล้ว เท่ากับว่าเพิ่มอีก 3 ชั่วโมง โดยขณะนี้ทาง กกต.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต.เตรียมการขยายเวลาปิดหีบถึงเวลา 18.00 น. โดยการดำเนินการดังกล่าวจะใช้ครั้งแรกในการจัดทำประชามติ

ทั้งนี้ พบว่ามีหลายประเทศที่ปิดหีบการใช้สิทธิลงคะแนนในเวลา 18.00 น. 20.00 น. และ 22.00 น. แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ปิดหีบการลงคะแนนเลือกตั้งเวลา 20.00 น. ประเทศสกอตแลนด์ปิดหีบการลงคะแนนเวลา 22.00 น. เป็นต้น โดยข้อดีคือทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะมาใช้สิทธิในช่วงเวลาที่สะดวกที่สุดและเป็นช่วงเวลาที่มากที่สุด แทนที่จะใช้สิทธิได้แค่เพียงเวลา 08.00-15.00 น.เพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้การขยายเวลาจะส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความยากลำบากต่อการเตรียมงานมากขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถที่จะบริหารจัดการได้เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เกิดความเหนื่อยล้าเกินไป

ส่วนแนวโน้มที่ กรธ.จะยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศนั้น ผมเห็นต่างกับ กรธ.แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการทุจริตเลือกตั้ง มีการขนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นการกระทำของผู้สมัครที่ต้องการปิดการขาย หมายความว่าเมื่อเขาซื้อเสียงไปแล้ว หากเกณฑ์คนมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ เขาก็จะไม่ไปพะวงว่าวันเลือกตั้งจริงจะมีใครมาซื้อเสียงทับหรือทำให้ผลการซื้อเสียงเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น ผู้สมัครจำนวนหนึ่งจึงเลือกใช้วิธีรีบจ่ายเงิน เพื่อปิดบัญชีให้เสร็จสิ้นไป ต้องยอมรับว่าลักษณะเช่นนี้มีจริง แต่ไม่ใช่ปัญหาส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นเพียงบางพื้นที่ ซึ่งต้องหาทางป้องกันและแก้ไขการทำผิดกฎหมายนี้

อย่างไรก็ตาม วิธีการคิดออกแบบการเลือกตั้งล่วงหน้า ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าถ้าประชาชนประสงค์ที่จะออกมาใช้สิทธิเราต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากที่สุด ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีเลือกตั้งแค่วันเดียวแต่มีระยะเวลา 10 วันเต็มๆ ดังนั้น อย่าเอาปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือบางพื้นที่ มาเป็นตัวจำกัดประชาชนที่ประสงค์ใช้สิทธิต้องเกิดความยากลำบากหรือต้องเสียสิทธิ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้า และอย่างน้อยต้อง 2 วันด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image