‘วิษณุ’หารือกกต. ยังไม่ปลดแค่จ่อคลายล็อก ชี้ข้อดีหากเลือกตั้งช้า มีเวลาหาเสียงเยอะ

วิษณุ หารือ กกต. ถก10 ประเด็น ยังไม่เคาะ”ไพรมารี” จ่อแก้กม.พรรคการเมืองเปลี่ยนใช้วิธีใหม่ สอดคล้องรธน.มาตรา 45 แย้ม ยังไม่มีปัจจัยทำเลือกตั้งช้ากว่า 24 ก.พ. 62 เตรียมคลายล็อกพรรคการเมืองหลังกม.ส.ส.ประกาศราชกิจจานุเบกษา ส่วนปลดล็อกรอหลังกม.บังคับใช้

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับกกต.ชุดใหม่ โดยมีนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานกกต.เข้าร่วม ทั้งนี้ ก่อนการประชุมนายวิษณุ ได้มอบดอกไม้แสดงความยินดีพร้อมอวยพรกกต.ชุดใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่า ชื่นชม เอาใจช่วยและปวารณาตัวที่จะให้ความร่วมมือกกต.ในทุกประการ ขณะที่นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.กล่าวขอบคุณต่อคำอวยพรดังกล่าวและยืนยันว่ากกต.ทุกคนขอปวารณาตัวทำงานเต็มที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง

จากนั้นเวลา 15.00 น. นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีการหารือกกต.รวม 10 ประเด็น ต่อยอดจากการประชุมช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำ 90 วันก่อนที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้หลังมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือนกันยายน โดยประเด็นที่จะทำให้ได้คือการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 อย่างโดยไม่ต้องขออนุญาตคสช. อาทิ การจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมาชิกใหม่ และการทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะมีความยุ่ง จึงจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน ซึ่งกกต.ระบุว่ามีหลายวิธีที่สามารถดำเนินการได้ และให้ความเห็นถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละแนวทาง ทำให้ยังไม่ได้สรุปในเวลานี้ โดยตนจะได้รวบรวมเสนอคสช.พิจารณาแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตามการแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอการประชุมร่วมกับระหว่างกกต. คสช. และพรรคการเมืองรอบที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งการแก้ไขคำสั่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 หรือออกคำสั่งใหม่แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าคำสั่งใหม่จะออกมาเมื่อไร แต่การปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีขึ้นหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปว่ากรอบเวลา 150 วันจะไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ แต่ในทางกฎหมายได้พิจารณาถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาแล้วว่ากรอบเวลาดังกล่าวไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคการเมืองก็มีเวลาหาเสียงไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือนพฤษภาคมก็จะมีเวลาหาเสียงมากกว่าการเลือกตั้งในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมาที่จะมีเวลาหาเสียงจริงประมาณ 30 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ช้าที่สุดก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร อย่างไรก็ตามการจะจัดเลือกตั้งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคสช.จะหารือกับกกต. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการหารือกับกกต. ยังได้สอบถามถึงการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งกกต.ชุดเก่าได้เดินหน้าไปแล้วครึ่งแรก เหลือครึ่งหลังในเรื่องของการรับรอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกกต.ชุดใหม่ โดยหากพบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ความประพฤติไม่เหมาะสมก็สามารถไม่รับรองได้ แต่ไม่สามารถยกเลิกทั้งหมดได้ เนื่องจากกกต.มีหน้าที่ในการเลือกส.ว.จึงถือว่าที่กกต.ชุดเก่าได้เตรียมการมาเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งช่วยกกต.ทำงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image