10 ปีรัฐประหาร “ลับ-ลวง-พราง” “พี่บัง” สอนน้อง “รธน.” ต้องฟังทุกฝ่าย

10 ปีรัฐประหาร "ลับ-ลวง-พราง" "พี่บัง" สอนน้อง "รธน." ต้องฟังทุกฝ่าย

10 ปีรัฐประหาร “ลับ-ลวง-พราง” “พี่บัง” สอนน้อง “รธน.” ต้องฟังทุกฝ่าย

จากที่เคยเป็นผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เป็นมือปฏิวัติ และผู้พลิกชะตากรรมประเทศในค่ำคืน 19 กันยายน 2549 ณ วันนี้ครบ 10 ปีพอดี

ผันตัวมาเป็น “นักการเมือง” เต็มขั้น ในบทบาทใหม่บนพรมแดนของ “ผู้ทรงเกียรติ” พรางตัวอยู่กลางดงของนักเลือกตั้งอาชีพ

เขาคือผู้เสนอญัตติร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เมื่อปี 2555 ร่วมกับ ส.ส. ขั้วข้างรัฐบาลเพื่อไทย จนสถานการณ์ในห้องประชุมสภาไม่มีทีท่า “ปรองดอง”

แม้หลังจากนั้นจะพยายามเป็นส่วนหนึ่งผลักดันการสร้างความปรองดอง “หลายครั้ง” แต่ก็ไม่สำเร็จกระทั่งเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ 22 พฤษภาคม 2557

Advertisement

หากแต่ชีวิตวันนี้ของ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในฐานะหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ต้องตกงานพร้อมๆ กับนักการเมืองหลายร้อยชีวิต เพราะพิษการยึดอำนาจเที่ยวล่าสุด เขายังติดตามการบริหารบ้านเมืองของนายทหารรุ่นน้องอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะช่วงที่สถานการณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังเข้าโค้งหักศอกสำคัญ ท่ามกลางคำถามสำคัญว่าสุดท้ายจะผ่านการทำประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคม หรือไม่

“เชื่อไหม ผมอ่านร่างรัฐธรรมนูญทุกมาตรา” พล.อ.สนธิ เอ่ยขึ้น พร้อมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะไม่อ่านร่างรัฐธรรมนูญ และจะลงประชามติไปตามการชี้นำ ของผู้นำทางการเมือง

Advertisement

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย ไม่รู้หนังสือก็เยอะ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ มีคนอ่านรัฐธรรมนูญจริงๆ แค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ในเมื่อลักษณะสังคมไทยไม่อ่านหนังสืออยู่แล้วด้วย ก็ทำให้ไม่มีใครรู้จริงเรื่องรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ จะกลายเป็นว่าการลงประชามติครั้งนี้ ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริงในการลงประชามติ”

“เมื่อคนไทยยังฟังผู้ใหญ่ ผู้นำในท้องที่ ท้องถิ่น หรือผู้นำทางการเมือง ผู้นำเหล่านั้นจะเป็นผู้ชี้แนะว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาของเราผู้นำทั้งหลายในประเทศอ่านรัฐธรรมนูญแล้วพิจารณาด้วยความเป็นธรรมหรือเปล่า หรือมีค่ายของตัวเอง”

“จะเห็นว่าทุกวันนี้มีกลุ่มการเมืองออกมาชี้นำ ถ้าจะทำให้รัฐธรรมนูญดีจริงๆ ได้รับผลเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ หรือพิธีกรรม ทุกค่ายจะต้องหยิบผลไปศึกษา ในเหตุผล ข้อเท็จจริง และไปชี้แจงกับประชาชน”

ทว่า ในบรรยากาศการเมืองที่ “ปิดตาย” ทางความคิดเห็น การจะชี้แจงกับประชาชนเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก แต่ “พล.อ.สนธิ” ไขทางออกให้บรรดา “นายพล” ที่มีอำนาจลองทบทวนว่า “รัฐบาลต้องฟังความคิดเห็น การจะร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนทุกฝ่าย”

“รัฐบาลสามารถปลดล็อกในบางส่วนได้ ให้ประชาชนมีสิทธิทำได้ ถ้าเผื่อทางรัฐบาลได้ให้โอกาสอย่างนี้ก็ทำได้ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย”

“ต้องให้โอกาสคนที่มีคิดต่างโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญบ้าง หรือแสดงความคิดทางการเมืองบ้าง เพราะคำว่าประชาธิปไตยจะต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิออกความเห็นได้ว่าจะปกครองประเทศตัวเองอย่างไร”

แต่ในความเป็นจริง ทั้งร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะบังคับใช้คุมการทำประชามติ มีดีกรี “บทลงโทษ” ที่เฉียบขาด หากบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ โทษจำคุกสูงถึง 10 ปี ขณะที่คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง มิเช่นนั้นจะถูกนำไปปรับทัศนคติ

นั่นอาจเป็นเพราะ คสช. ต้องการคุมสถานการณ์การเมืองให้ “นิ่ง” ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองสำคัญ แต่กลับกันในมุมของ “พล.อ.สนธิ” ผู้ที่เคยเสี่ยงตายทำรัฐประหารมาก่อน มองวิธีจัดการกับ “ภัยคุกคาม” รัฐบาล ในแบบฉบับที่ต่างออกไป

“ปัญหาภัยคุกคามคืออะไรต้องเห็นก่อน ถ้าเราเห็นปัญหาภัยคุกคามที่จะเกิดปัญหาต่อการทำงานของรัฐบาลก็ต้องไปคุย ไปทำความเข้าใจ อย่าไปแยกว่าคนนั้นคือฝ่ายโน้น ฉันคือฝ่ายนี้ ไม่ใช่ ตัวผู้บริหารประเทศหรือผู้ปกครองประเทศต้องเป็นกลาง เพื่อให้กระบวนการของปัญหาทั้งหมดรวมศูนย์เข้ามาด้วยกัน ไปด้วยกัน”

“เริ่มจากรัฐบาลเองต้องเป็นกลางก่อน การวางตัวเป็นกลางไม่ยากหรอก การพูดคุยกัน คนไทยง่ายๆ อยู่แล้ว ต้องทำใจให้เป็นกลางให้ได้ อย่าไปมองว่า คนเห็นต่างทางการเมืองคือศัตรูการเมือง”

ในช่วงการเมือง 5 ปีหลัง “พล.อ.สนธิ” ทิ้งคัมภีร์ ลับ ลวง พราง ก่อนตัดสินใจกระโดดเข้าร่วมวงการเมือง แล้วหันมาเปิดตำรา “ปรองดอง” ทัศนคติเขาที่ปรับจูนแล้วจึงมองคนที่ “เห็นต่าง” เป็น “ดอกไม้หลากสี”

“การเมืองต่างคนต่างคิดที่แตกต่าง ไม่ใช่ศัตรู การเมืองไม่มีทางคิดเหมือนกัน เพราะทุกคนยังเห็นดอกไม้สวยยังไม่เหมือนกันเลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็ต้องคุยกับทุกฝ่ายทางการเมืองให้เข้าใจว่าแต่ละคนมองภาพที่ไม่เหมือนกันแล้วเอามารวมกัน เหมือนที่พูดว่าดอกไม้หลากสี สวยกว่าดอกไม้สีเดียว ดังนั้น ในสังคมประชาธิปไตยมีความแตกต่าง ต้องมองว่ามันคือความสวยงาม”

ย้อนกลับไปในคืนยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 “พล.อ.สนธิ” ใช้แผน ลับ ลวง พราง ยึดอำนาจรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ขณะที่ผู้นำประเทศเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก ภารกิจของ “ทักษิณ” ในวันนั้น ต้องขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมยูเอ็น แต่ยังไม่ทันขึ้นปฏิบัติหน้าที่ กลับต้องมาเช็กข่าวปฏิวัติ เพราะกลิ่นรัฐประหารโชยข้ามทวีป

เมื่อแน่ชัดว่าจะมีทหารลงมือปฏิวัติ “ทักษิณ” จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. ผ่าน “โมเดิร์นไนน์ทีวี” พร้อมกับปลด “พล.อ.สนธิ” ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ทว่า การอ่านประกาศยังไม่ทันจบ สัญญาณภาพถูกตัด ต่อมาไม่นานก็ปรากฏภาพ พล.อ.สนธิ พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ นั่งอ่านประกาศคณะปฏิวัติ ในนามคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พล.อ.สนธิ อยู่ในอำนาจ 14 วัน ก่อนจะตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ

ในช่วงที่สับสนวุ่นวาย “พล.อ.สนธิ” เคยสนทนาผ่านทางโทรศัพท์กับ “ทักษิณ” ถามเขาว่านั่นอาจใช่ความ “เป็นกลาง” ที่นำไปสู่ “การปรองดอง” ในเวลาต่อมาหรือไม่ “บิ๊กบัง” แย้งทันทีว่า “โน โน ไม่ใช่ว่าต่อสาย ผมไม่เคยต่อสายถึงนะ ไม่รู้ว่าท่านมีเบอร์ผมหรือเปล่า ผมกับท่านทักษิณคุยกันสมัยแรกๆ ท่านโทร.มาก็คุยกัน นั่นคือครั้งแรก เราก็คุยกันในฐานะที่จบมาจากสถาบันเดียวกัน ก็คุยกัน ไม่มีอะไร ดังนั้น คนที่มีความคิดต่างรัฐบาลต้องคุยกันให้ได้”

แต่ในเวลาต่อมา “พล.อ.สนธิ” สวมบทปรองดอง ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภาร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มี “ทักษิณ” เป็นหัวใจสำคัญ

แต่ถ้าถามว่าจุดเริ่มต้นของการปรองดองในฉากการเมืองปัจจุบันอย่างไร พล.อ.สนธิ คิดว่า ทุกฝ่ายจะต้อง ลด “ทิฐิ” ส่วนตัว

“รัฐบาลรู้ว่าตรงไหนคือปัญหา ก็ทำปัญหาให้หมดปัญหาเท่านั้นเอง แต่คนไทยมีนิสัยทิฐิมานะมีสูง ตัวรัฐบาลเองต้องทำให้ทิฐิมานะตรงนั้นหายไป ลดลงไป ผ่อนคลายลงไป แล้วเดินไปด้วยกัน ต้องเข้าใจว่าทิฐิมานะของตัว ทิฐิมานะของพรรคการเมือง จะต้องสำคัญน้อยกว่าการเดินไปของชาติบ้านเมือง”

หลังจาก “เสี่ยงตาย” ในคืนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เพราะนาทีเป็น นาทีตาย เมื่อ 10 ปีก่อน ฝ่ายตรงข้ามมีแผนที่จะตั้งกองบัญชาการต่อต้านการปฏิวัติ ถือเป็นการ “เดิมพันชีวิต” มากกว่าการรัฐประหาร 2557 ที่สามารถควบคุมตัวแกนนำรัฐบาลได้โดยละม่อม

ในช่วงที่การเมืองเว้นวรรค “หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ” ไม่ได้รู้สึกอึดอัดจากการคุมเข้มของ คสช. เหมือนนักการเมืองคนอื่นๆ เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว ควบคู่กับการออกกำลังกายด้วยการตีเทนนิส ที่กรมการทหารสื่อสาร ย่านสะพานแดง เป็นประจำ

“พล.อ.สนธิ” บอกว่า “วันนี้มีความสุขมาก ถ้าพูดแล้วอย่าอิจฉา”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image