คำถาม/ปัญหา 6 ประการสำหรับ ร่าง พรบ.ข้าว ที่ยังรอคำตอบ

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้นำร่างกฎหมาย “ร่าง พระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. ….” เข้าสู่การรับฟังความคิดเห็น โดยกฎหมายนี้จะทำการบูรณาการห่วงโซ่การผลิตข้าวและยุทธศาสตร์ของไทย ทั้งในเชิงกายภาพและการตลาด ให้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน (เอกสารดูได้ในลิ้งนี้ https://www.senate.go.th/assets/portals//files/promote/Binder1.pdf)

ร่างกฎหมายฉบับนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวนาและเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นคนจำนวนกว่าร้อยละ 40 ของประเทศนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ และหลังจากได้อ่านตัวร่างกฎหมายกลับพบคำถาม/ปัญหาที่ยังรอคำตอบอยู่ 6 ประการดังนี้

ข้อแรก ร่างกฎหมายนี้ได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าว” เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่หลัก โดยสัดส่วนของคณะกรรมการข้าวเสียงข้างมากมาจากภาคส่วนราชการ และภาคเอกชนอีก 5 คน ในขณะที่ผู้แทนของเครือข่ายชาวนามีเพียง “จำนวนไม่เกิน 5 คน” ซึ่งเป็น “เสียงข้างน้อย” ในคณะกรรมการชุดนี้ แบบนี้จึงเกิดคำถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาชาวนา แต่ทำไมคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนชาวนาถึงมีจำนวนเป็นเสียงข้างน้อย? แบบนี้จะสะท้อนปัญหาที่ชาวนาเผชิญได้จริงหรือ?

ข้อสอง สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการข้าวในข้อแรก และปรัชญาของกฎหมายฉบับนี้ที่เน้นในเรื่องการเพื่อศักยภาพในการผลิต (productivity) และราคาตลาดที่ส่งเสริมการแข่งขัน (competitiveness) ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เหมือนเน้นไปที่ การผลิตจำนวนมากเพื่อตอบสนองตลาดเท่านั้น

Advertisement

ทำให้ร่างกฎหมายกำหนดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าว มีเพียงผู้มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจข้าว เทคโนโลยีข้าว และเศรษฐศาสตร์ แต่กลับไม่มีการกำหนดผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา และรัฐศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องของปัญหาและคุณภาพชีวิตทางสังคมของชาวนา แบบนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวละเลยปัญหาทางสังคมของชาวนาหรือไม่?

ข้อสาม คณะกรรมการข้าวชุดนี้สามารถกำหนด “ราคากลาง” ของข้าวได้ ทั้งราคาแนะนำสำหรับการรับซื้อข้าวเปลือก คำนวณต้นทุนการผลิตข้าวเปลือก และกำหนดราคาขายได้ แบบนี้เราจะทราบได้อย่างไรว่าราคากลางดังกล่าวเป็นธรรมกับชาวนา? และข้อสงสัยยิ่งมากขึ้นไปอีกเมื่อชาวนาเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการข้าว จะไม่ทำให้ราคากลางข้าวดังกล่าวเอื้อประโยชน์ต่อภาครัฐและกลุ่มทุนภาคเอกชนที่รวมกันแล้วเป็นเสียงข้างมาก ได้จริงหรือ?

Advertisement

ข้อสี่ คณะกรรมการข้าวจากร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีอำนาจมาก โดยดูได้จากอำนาจในการจัดเขตการผลิตข้าว (Zoning) ที่ร่างกฎหมายให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ด้านกายภาพและด้านการตลาด” เท่านั้น คณะกรรมการดังกล่าวสามารถกำหนดพื้นที่ พันธุ์ข้าว และรูปแบบการผลิต เพื่อตอบสนองความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่หากความคุ้มค่าดังกล่าวไปด้วยกันไม่ได้กับวิถีชีวิตของชาวนา จะทำอย่างไร? หากวันหนึ่งข้าวราคาตกต่ำ คณะกรรมการชุดนี้จะออกคำสั่งให้ชาวนาไปปลูกอย่างอื่น หรือให้เลิกทำนาในพื้นที่ดังกล่าว แบบนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่?

ข้อห้า ปัญหาเรื่องอำนาจคณะกรรมการข้าวกับเรื่องของ “พันธุ์ข้าว” ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน โดยคณะกรรมการมีอำนาจในการควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่และการตลาด และมีการกำหนดพันธุ์ข้าวที่เสื่อมคุณภาพและเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ข้อนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่หากลองพิจารณาในอีกทางหนึ่ง หากชาวนาต้องการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของชุมชนตนเองที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ชาวนาอาจไม่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่เพียงพอในการทำให้เป็นพันธุ์ข้าวบริสุทธ์ตามมาตรฐานของรัฐ แบบนี้จะเกิดปัญหาหรือไม่? การขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวจะช่วยสร้างความหลากหลายและอำนวยความสะดวกให้กับพันธุ์ข้าวชุมชน จริงหรือ?

หรือถ้ามองให้ลึกกว่านั้น จะมีกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอในการทดลองพันธุ์ข้าวบางสายพันธุ์และได้รับการรับรองจากรัฐ จะไม่เป็นการทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ข้าวในระบบการผลิตข้าวของไทยเพียงไม่กี่สายพันธุ์หรือ?

ข้อสุดท้าย ต่อเนื่องจากปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าว ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ตามประเภทความผิด ซึ่งมีโทษสูงสุดถึง 5 ปี หากเกิดกรณีเช่น ชาวนาได้ทำการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ปลูกเองตามวิถีชาวบ้าน และมีการแลกเปลี่ยนในชุมชน แบบนี้หากเจ้าหน้าที่รัฐพบเห็น จะโดนจับในทันทีเลยหรือ?

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปในนาข้าว และสถานที่ที่เก็บข้าวเปลือก ข้าวสาร หรือเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อตรวจสอบ รวมถึงการยึดหรืออายัดข้าวหรือเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายนี้ แบบนี้จะเป็นการเปิดช่องในการใช้อำนาจที่มากเกินสมควรหรือไม่?

แม้ว่าร่างกฎหมายจะไม่กำหนดโทษต่ำสุดเพื่อเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจของศาล  แต่การใช้อำนาจจากกฎหมายดังกล่าวจะมั่นใจได้เพียงใด ว่าจะได้เกิดกรณีปัญหาที่จะคุกคามชาวนา หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพันธุ์ข้าวบางสายพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนเป็นพิเศษ?

ด้วยเหตุเช่นนี้ ในการศึกษาเรื่องชาวนาได้มีแนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) ที่ชาวนาจะมีอำนาจอย่างไรในการกำหนดพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ ทรัพยากร และผลผลิตของตนเองได้ โดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมแบบเบ็ดเสร็จจากรัฐหรือการผูกขาดจากกลุ่มทุน ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงควรตอบคำถามสังคมทั้ง 6 ข้อนี้ให้ได้ เพื่อทำให้กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับ สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นธรรมให้กับชาวนาอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image