ชูศักดิ์ ชี้ คลายล็อกคสช.สะท้อนยังกระชับอำนาจ หวั่นปลดล็อกกระชั้นชิด จะเกิดปัญหา

ชูศักดิ์ ศิรินิล (แฟ้มภาพ)

“ชูศักดิ์” ชี้ ภาพรวมคลายล็อก 6 ประเด็น 9 เรื่อง คสช. ยังคงกระชับอำนาจ จี้ ปลดล็อกแบบเบ็ดเสร็จ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า คสช. จะคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถทำอะไรได้บ้าง ในขอบเขตแค่ไหนเพียงใด แต่เมื่อดูจากการให้ข่าวของผู้เกี่ยวข้องใน 9 เรื่องนั้น เมื่อมองในภาพอาจสรุปได้เป็นเรื่องหลักๆ 4 เรื่อง คือ เรื่องที่เกี่ยวกับสมาชิกพรรคที่ขยายเวลาการหาสมาชิกให้ครบ 500 คน 5,000 คน ให้พรรคหาสมาชิกเพิ่มได้โดยเพิ่มวิธีการหาสมาชิกทางไลน์ได้ การลดค่าบำรุงพรรคของสมาชิก การจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค เลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค จัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครเรื่องการทำไพรมารี่โหวต ที่ให้เปลี่ยนรูปแบบเป็นการตั้งคณะกรรมการจำนวน 11 คน เพื่อคัดเลือกผู้สมัครเสนอต่อคณะกรรมการบริหารพิจารณา สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก และการขยายเวลาจัดให้มีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ​เรื่องต่างๆ ข้างต้นก็มีความเกี่ยวข้องกับการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมือง บางส่วนแก้ปัญหาให้พรรคที่จัดตั้งใหม่ คสช. ยังไม่ปลดล็อค โดยสิ้นเชิง ยังไม่ยกเลิกคำสั่งที่ 57/2557 และประกาศที่ 3/2558 ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมและห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน แปลว่า คสช. ยังคงต้องการที่จะกระชับอำนาจอยู่ต่อไป  จะปลดล็อกโดยเบ็ดเสร็จประมาณกลางเดือนธันวาคม 61 แสดงว่าให้พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงไม่ถึง 2 เดือน เราเองเห็นว่าไม่ควรต้องรออะไรอีก ควรให้ทำได้ทันที ไม่ควรให้มีข้อจำกัดใดๆ ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีความจำเป็นใดที่จะล็อคไม่ให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเป็นเพียงการทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงมองว่าการคลายล็อกของ คสช. จึงล่าช้าไปเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ยิ่งเมื่อดูภาพรวมของสถานการณ์ขณะนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดจะห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ยิ่งเมื่อวันเลือกตั้งมีความชัดเจนก็ควรที่พรรคการเมืองจะได้เตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้งดังกล่าว หากให้เวลากระชั้นชิดเกินไป เกรงว่าจะเกิดปัญหาและก็จะมาอ้างเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก

​นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการหาเสียงผ่านสื่ออิเลคโทรนิคต่างๆ ที่มีการให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ให้เปิดเปิดเฟสบุ๊กเป็นสาธารณะต่างๆ ตนเข้าใจว่าคงสื่อความหมายกันผิดพลาด ความจริงการหาเสียงผ่านสื่อสามารถทำได้ เข้าใจว่า กกต. กำลังจะยกร่างระเบียบดังกล่าวอยู่ ที่สับสนกันอยู่คือจะหาเสียงได้เมื่อไร ตนเข้าใจว่า คสช. ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองหาเสียงในเวลานี้ ซึ่งในที่สุดจะเกิดปัญหาอีกว่าอะไรคือการหาเสียง หากมีคำสั่งให้คลายล็อคแล้วเราไปหาสมาชิกในพื้นที่จะถือเป็นการหาเสียงหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image