บทนำ : จีที200-พระเครื่อง

จีที 200 เป็นอุปกรณ์ที่ผู้ผลิตอ้างว่า สามารถตรวจจับได้ตั้งแต่กระสุน สารระเบิด ยาเสพติด ฯลฯ จนสงสัยว่า เอ่ยอ้างประสิทธิภาพเกินจริงหรือไม่ ราชการไทย 15 หน่วยงาน ซื้อ จีที 200 มาใช้ในภาคใต้และปราบยาเสพติดระหว่างปี 2548-2553 จำนวน 1,398 เครื่อง เป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ยเครื่องละกว่า 9 แสนบาท ต่อมาปี 2553 รัฐบาลอังกฤษสั่งงดการส่งออกอุปกรณ์นี้ ไม่ว่าจะ จีที 200 และเอดีอี 651 ต่อมาปี 2556 ศาลอังกฤษตัดสินจำคุกผู้ผลิต จีที 200 เอดีอี 651 และอัลฟ่า 6 ฐานหลอกลวงและฉ้อโกง สั่งยึดทรัพย์ผู้ผลิตเพื่อใช้คืนลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อ นำมาสู่การตั้งคำถามหน่วยงานในประเทศไทยที่ซื้อมาใช้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังสอบเรื่องนี้อยู่หลายคดีด้วยกัน

นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการสอบ จีที 200 และอัลฟ่า 6 ว่า การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้ แล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า คำสัมภาษณ์ดังกล่าว มีการทักท้วงจาก รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ป.ป.ช.ได้สืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ไปมากแล้ว การสอบควรจะเป็นไปในแนวทางคุ้มค่า หรือไม่คุ้มค่า ไม่ใช่การเอาความรู้สึกมาวัด ว่ารู้สึกคุ้มค่า หรือรู้สึกไม่คุ้มค่า เพราะจีที 200 ไม่ใช่พระเครื่องที่จะสร้างคุณค่าทางใจหากเรื่องออกมาเช่นนี้ ทำให้สังคมอดคิดไม่ได้ว่า จะมีการยื้อคดีให้หมดอายุความหรือเปล่า หาก ป.ป.ช.ขาดข้อมูลขอให้บอก ไม่ใช่เอาเรื่องของความรู้สึกมาบอกกัน

ปัญหาประสิทธิภาพของจีที 200 ได้ข้อยุติแล้วว่าเป็นการหลอกลวง การวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดจึงไม่ยากและไม่ควรช้า เว้นแต่มีเจตนาช่วยกัน ซึ่งยากแน่ๆ การอ้างว่า เจ้าหน้าที่ผู้ใช้จีที 200 รู้สึกเชื่อมั่น ไม่ใช่เหตุผลที่จะมายืนยันว่า การจัดซื้อถูกต้อง การใช้งบประมาณคุ้มค่าแล้ว การที่ ป.ป.ช.กล่าวออกมาเช่นนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่นของสังคมแน่นอนว่าจะนำไปสู่ผลสรุปอย่างไร จะมีการยื้อเรื่องออกไปให้หมดอายุความอย่างที่ รศ.เจษฎาสงสัยหรือไม่ ทางออกในเรื่องนี้ ป.ป.ช.ควรเร่งพิจารณาและชี้แจงต่อสังคมและประชาชนโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image