ที่เห็นและเป็นไป : ‘ผู้ว่าฯ’กับการเลือกตั้ง : สุชาติ ศรีสุวรรณ

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ว่า “จะกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ในเรื่องการวางตัวเป็นกลาง เพราะฝ่ายการเมืองโวยมาว่าไม่เป็นกลาง”

คำตอบของ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” ก็คือ “ไม่ต้องถามหรอก รู้อยู่แล้วว่าจะต้องถามแบบนี้ คนที่รับผิดชอบคือ กกต.และ คสช.”

ฟังแล้วเกิดความรู้สึก “แปลยาก”

จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่างยิ่งสำหรับคนที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จะวางตัวในเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไร

Advertisement

ปกติเป็นประเพณีมาทุกยุคทุกสมัย ว่าข้าราชการจะถูกกำชับกำชาให้วางตัวเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไปเข้าข้างนักการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ไม่ว่าในทางปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ในทางจิตสำนึก ทางวัฒนธรรมประเพณี หรือกระทั่งทางกฎหมาย ข้าราชการจะต้องรู้ตัวเองว่าแสดงออกในทางที่ไม่เป็นกลางไม่ได้

ถ้าจะทำต้องแอบๆ ทำ ไม่นำเสนอตัวเองในทางที่ขัดกับวัฒนธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

และแทบจะถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่จะต้องมีคำสั่งจากกลไกบริหารส่วนกลางลงไปในพื้นที่ให้ข้าราชการทุกฝ่ายรักษาวัฒนธรรมที่จะต้องเป็นกลางในทางการเมืองไว้

โดยเฉพาะข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนในพื้นที่ อย่างฝ่ายปกครอง ยิ่งต้องกำชับกำชากันเป็นพิเศษ เพราะมีส่วนทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมืองได้ง่าย

การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมต้องเริ่มจากสำนึกที่ไม่เอาเปรียบ

การจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ย่อมต้องหมายรวมถึงการทำให้เกิดการยอมรับในผลการเลือกตั้งด้วย หรืออย่างน้อยต้องเป็นการกระทำที่อยู่ในวิสัยที่คนที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายให้ประชาชนเชื่อ

“อำนาจรัฐ” เป็นกลไกที่อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการสร้างความไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้ง

ดังนั้น เมื่อถึงเวลาใกล้เลือกตั้ง ทุกฝ่ายที่เป็นห่วงเป็นใยการเมืองหลังเลือกตั้ง จะช่วยกันส่งเสียงเตือนให้ “อำนาจรัฐ” อยู่ในที่ตั้ง คือ “วางตัวให้เกิดความเชื่อมั่นว่าไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”

และอย่างที่บอกโดยเฉพาะ “อำนาจรัฐ” ที่มีกลไกใกล้ชิดกับประชาชน

ซึ่ง “กระทรวงมหาดไทย” เป็นหัวขบวนข้าราชการในกลุ่มนี้ เพราะเป็น “ฝ่ายปกครอง” ที่มีเครือข่ายเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวาง และลงลึกได้มากที่สุด จากผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งแต่ก่อนถือเป็น “เจ้าเมือง” ไป “นายอำเภอ” ลงไปถึง “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” และ “กองกำลังอาสาต่างๆ ที่ขึ้นต่อฝ่ายปกครอง”

การเลือกตั้งจึงจำเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องดำเนินการภายใต้ความชัดเจนว่า “กลไกฝ่ายปกครอง” ต้องระมัดระวังในความเป็นกลาง อย่างน้อย ไม่แสดงออกในทางเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

วัฒนธรรมแห่งความสงบที่แท้จริงที่เกิดจากการยอมรับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสำนึกของ “นักปกครอง” อย่างสูงมาก

และสำนึกของ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” จะเกิดขึ้นได้ หรืออย่างน้อย “ไม่แสดงออกถึงความขาดสำนึก” นั้น ผู้บังคับบัญชาจะต้องชัดเจน ตั้งแต่ต้นว่ามั่นคงในการรักษาวัฒนธรรมแห่งความสงบเรียบร้อย

วัฒนธรรมการรักษาความสงบจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความชัดเจน

น่าเสียดาย ที่ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” รู้อยู่แล้วว่าผู้สื่อข่าว “จะถามอะไร”

หากใช้ “ความรู้อยู่แล้ว” นั้น ให้เป็นประโยชน์โดยเตรียมคำตอบเพื่อกำชับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาช่วยกันรักษาวัฒนธรรมความสงบ

จะเป็นเรื่องที่ใช้ความ “รู้อยู่แล้ว” ให้เป็นประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นได้

 

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image