โครงร่างตำนานคน : สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร คำถามถึง‘กติกาใหม่’

กลายเป็น “ความเห็น” ที่ฮอตสุด ส่งท้ายเดือนสิงหาคม และมีปัจจัยที่ส่งให้ร้อนแรงต่อเนื่องสู่กันยายนได้สบายๆ คำสัมภาษณ์ของ สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ในนาม “กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.” เมื่อถูกถามถึงความคืบหน้าเรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200

“การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่เขานำไปใช้แล้วรู้สึกว่าคุ้มค่า”

พลันที่ความเห็นนี้ปรากฏสู่สาธารณะ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ระเม็งเซ็งแซ่ โดยแบบทั้งหมดเจือไว้ด้วยความขมขื่นต่อท่าทีของผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของชาติ

เหมือนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะต่อเนื่องเพียง 3-4 วัน แต่เมื่อตามด้วยข่าว ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายรายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 2 ชั่วโมง ด้วยเสียงล้นหลาม 206 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่มีคัดค้านแม้แต่คนเดียว

Advertisement

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการตรวจสอบการใช้เงินจึงกระหึ่มขึ้นมาอีก

โยงไปไกลถึง “หนี้สาธารณะ” ที่ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเพิ่มขึ้น

แม้จะพยายามชี้แจงว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว “สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย” ยังถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศ

Advertisement

แต่นั่นดูจะไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หยุดลง เนื่องจากเกิดคำถามขึ้นว่า “ประเทศอื่นกู้ไปใช้อะไร แต่ประเทศเรานั้นใช้เงินกันแบบไหน”

เมื่อโยงถึงความรู้สึกว่า “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ไม่ทำหน้าที่ในบทบาทของผู้ตรวจสอบผลประโยชน์ อันเกิดจากการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศอย่างเต็มที่ ปล่อยให้ผ่านไปโดยมีการซักถามให้เกิดความรอบคอบน้อยมาก

ทำให้เรื่องราวของการบริหารจัดการประเทศที่ระบบการตรวจสอบทำงานได้ไม่เต็มที่ กลับมาเป็นคำถามกระจายไปกว้างขวางมากขึ้นไปอีก

และเมื่อย้อนไปยังการแสดงทรรศนะต่อ “การไต่สวนจีที 200” ของ “กรรมการ ป.ป.ช.” ที่ให้คุณค่ากับการใช้งบประมาณ ตามความเชื่อของคนใช้ โดยไม่ได้พูดถึงความเป็นเหตุเป็นผล
ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจนอยู่ว่าอังกฤษซึ่งเป็นประเทศผู้ขายจีที 200 ได้ดำเนินคดีกับผู้ขายจีที 200 ไปแล้วเลยยิ่งไปกันใหญ่

ภาพของหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของประเทศ หรือการทุจริตประพฤติมิชอบ ยากจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้ติดตามชะตากรรมของประเทศด้วยความเป็นห่วงเป็นใยได้

และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงหนีไม่พ้นที่จะหยิบยกระบบการปกครองที่สร้างค่านิยมให้ยกย่องเชิดชู “ผู้มาจากการแต่งตั้ง” ด้วยความเชื่อว่า “คนดี” ย่อมเลือก “คนดีด้วยกันมาทำงาน ได้ดีกว่าประชาชนทั่วไปเป็นผู้เลือก”

ทามกลางสถานการณ์การเมืองที่กติกาเขียนให้บทบาทของ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” สูงขึ้น โดยสร้างกลไกที่จะลดบทบาทของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ลง

ทรรศนะของ “ป.ป.ช.” และบทบาทของ “สนช.” ซึ่งล้วนแล้วมาจากการแต่งตั้ง

ได้สร้างคำถามถึง ผลแห่ง “กติกาใหม่” ที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชู “ผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง”

ทำนองว่า “กติกา” เช่นนั้นจะส่งผล อย่างไรให้ประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image