สถานีคิดเลขที่12 โซเชียลมีเดียกับการเลือกตั้ง โดย : ปราปต์ บุนปาน

เวลาผ่านไปเรื่อยๆ

จนถึงตอนนี้ สังคมไทยก็ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาเกิน 4 ปีแล้ว

ยิ่งถ้าพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ก็เท่ากับว่าพวกเราไม่มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกต้องชอบธรรมในเชิงกฎหมาย มาแล้วร่วม 7 ปี

Advertisement

การเลือกตั้งปี 2562 จึงไม่แน่ว่าจะเป็น “การเลือกตั้งแบบเดิมๆ” ที่หลายคนคุ้นเคย

แน่นอน โจทย์ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่ม แต่ละพรรค ดูจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มากก็น้อย

เช่นเดียวกับระบบการเลือกตั้งที่ต้องเปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกชุดใหม่

Advertisement

แล้วยังมีกลุ่มคนใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามาทำงานการเมือง หรือเพิ่งมีสถานะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก

อีกหนึ่งปัจจัยใหม่ๆ หรือพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งน่าจะมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งปีหน้าไม่น้อย ก็คือ “โซเชียลมีเดีย” หรือการติดต่อสื่อสารในสังคมออนไลน์

ระหว่างปี 2554-57 กิจกรรมการอ่านข่าวสารหรือแสดงความเห็นต่างๆ ในโลกออนไลน์เริ่มข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเพิ่มขึ้น และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น

แต่คงไม่มากหรือมีนัยยะสำคัญเท่ากับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคตข้างหน้า

มี 2-3 ประเด็นที่น่าครุ่นคิดถกเถียง ในวันที่โซเชียลมีเดีย/โลกออนไลน์ กลายเป็นพื้นที่สื่อสารหลักของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม และอาจจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองอันทรงพลานุภาพ

ประเด็นแรก โดยทั่วไปแล้ว สื่อออนไลน์และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายมีศักยภาพที่ดีและถูกต้องแม่นยำแค่ไหนในทางการเมือง?

เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อย้อนกลับไปยังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2556

ผู้สมัครที่ทำแคมเปญออนไลน์ได้ดีกว่า และมาก่อน ไม่ใช่ผู้ชนะ

ขณะเดียวกัน ผู้สมัครอิสระอีกหลายรายที่สามารถสร้างฐานผู้สนับสนุนในโซเชียลมีเดียได้อย่างน่าทึ่ง ก็ได้รับคะแนนเสียงจริงใกล้เคียงกับจำนวนแฟนออนไลน์

และแทบหาคะแนนจากคนนอก “ฟองอากาศ” นั้นไม่ได้เลย

นี่คือจุดท้าทาย ว่าพรรคการเมืองจะแปรจำนวนคนไลค์เพจหลักล้านหลักแสน คนไลค์โพสต์หลักหมื่น แชร์โพสต์หลักพัน และคอมเมนต์หลักร้อย ไปเป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีจำนวนทวีคูณได้อย่างไร?

ประเด็นต่อมา ในระดับอินเตอร์ ใครที่ได้ติดตามข่าวต่างประเทศ คงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า หากมีทรัพยากร กำลังเงิน และทีมงานที่มีความรู้เพียงพอ โซเชียลมีเดีย (และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการโซเชียลมีเดีย) ก็สามารถถูกฉวยใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงได้

ดังกรณีอื้อฉาวว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ, เคมบริดจ์ อนาไลติกา และเฟซบุ๊ก

อาจกล่าวได้ว่า นั่นคือภาพลักษณ์ที่น่ากลัวและอันตรายที่สุดในทางการเมืองของโซเชียลมีเดีย

แต่ภายหลังข่าวคราวระดับโลกดังกล่าว เฟซบุ๊กก็ปรับเปลี่ยนนโยบายหลายอย่าง จนกรณี “เคมบริดจ์ อนาไลติกา” ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อีกต่อไป

และเอาเข้าจริง ไม่แน่ใจว่าสำหรับสังคมไทย จะมีพรรค/กลุ่มการเมืองใด ที่มีประสิทธิภาพและความสามารถทางเทคโนโลยีมากพอ จะทำเรื่องแบบนั้นได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียหรือพื้นที่สื่อสารทางออนไลน์นั้นขยายตัวกว้างขวางกว่าเมื่อ 4-7 ปีก่อนโดยเด่นชัด

อย่างน้อย สื่อใหม่ประเภทนี้คงแทนที่คัตเอาต์, โปสเตอร์ เอกสารแนะนำตัวแบบเดิมๆ ตลอดจนสื่อกระดาษและโทรทัศน์แบบเก่าได้ดีพอสมควร

ไม่นับรวมว่าโซเชียลมีเดียนั้นตอบสนอง “ความต้องการ/จุดยืนเฉพาะ” ของผู้คนในสังคมร่วมสมัยได้รวดเร็ว ชัดเจน ถึงอารมณ์มากกว่า

แทบไม่มีทางที่เราจะควบคุม “พลังทางการเมือง” ของโซเชียลมีเดีย (หรือถึงพยายามจะควบคุม ก็คงไม่ประสบความสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์)

คำถามที่น่าสนใจกว่าอาจอยู่ที่ว่าพลังดังกล่าวจะส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่อย่างไร? หรือแปรเป็นจำนวน ส.ส.ได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก?

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image