‘วันนอร์-ทวี’ เปิดทิศทางนำ ‘ประชาชาติ’ สู้เลือกตั้ง

หมายเหตุ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ (ปช.) นำโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่หัวหน้าพรรค พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่เลขาธิการพรรค ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ถึงการก่อตั้ง และนโยบายต่างๆ ของพรรคประชาชาติ ที่จะใช้สู้ศึกในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

วันมูหะมัดนอร์ มะทา – พรรคเริ่มก่อตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา คำว่าประชาชาติ เราได้มีการให้ประชาชนทั่วประเทศส่งชื่อมา เพราะจะรวบรวมประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกศาสนา ทุกชาติพันธุ์ และประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับชื่อประชาชาติ ที่หมายถึงประชาชนของประเทศ แต่ในทางศาสนาอิสลาม ประชาชาติ จะตรงกับคำว่า อุมมะฮ์ หมายถึง คนที่มีความศรัทธา มุ่งหวังที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมของโลกใบนี้ โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดว่า พรรคประชาชาติ เป็นพรรคมุสลิม เป็นพรรคของคนใต้ หรือเป็นพรรคของคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่ผมยืนยันว่า พรรคประชาชาติ เป็นพรรคของประชาชนทั้งประเทศ แต่ที่มีกรรมการในภาคใต้เป็นจำนวนมากนั้น เพราะจุดเริ่มต้น ในการหาผู้ก่อตั้งให้ครบจำนวน 500 คนก่อน และด้วยเวลาอันจำกัด ทำให้เราจึงต้องร่วมมือก่อนก่อตั้งพรรคขึ้นมาก่อน แต่ในอนาคตจะต้องมีสมาชิกทั่วประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เราต้องมีสาขาอย่างน้อย 4 สาขา และยืนยันว่า พรรคจะส่งผู้สมัครทั่วประเทศ แต่จำนวนเท่าใดนั้นอยู่ที่กรรมการบริหารพรรคเป็นตัวกำหนด

ทิศทางและนโยบายที่สำคัญของพรรค ที่จะนำเสนอต่อประชาชนเป็นอย่างไร

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง – การรวมตัวของพรรคประชาชาติ วิธีคิดที่สำคัญ เราเป็นกลุ่มที่มา มีความภักดีต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรามองว่าประเทศไทยปัญหาหลักคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่อยู่อันดับ 3 ของโลก ยิ่งพัฒนาไป ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ตอนนี้ทุกกลุ่มที่มาร่วมตัวกันเป็นประชาชาติ เห็นว่าทุกคนมีศักดิ์ศรี จะต้องมีโอกาสเท่าเทียมกัน เพราะเวลาออกกฎหมาย เป็นการออกมาบังคับใช้กับคนทั้งประเทศ ไม่ได้ใช้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

Advertisement

การที่จะสะท้อนอุดมการณ์ หรือนโยบาย ถ้าเราได้เข้าไปมีโอกาส เราจะส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นการชิงพื้นที่ระหว่างความรู้ของประชาชน กับความรู้สึกของคนที่ถูกเอาเปรียบ พหุวัฒนธรรม คือความแตกต่าง ทั้งความเชื่อทั้งศาสนา ทั้งชาติพันธุ์ แต่ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ทิศทางการเมืองในอนาคต โดยสมาชิกต้องมาจากทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ทุกชาติพันธุ์ ต่อไปประชาธิปไตยจะต้องไม่ใช่ฟังเสียงส่วนใหญ่อย่างเดียว ทุกคนต้องมีส่วนร่วมจะต้องฟังเสียงส่วนน้อยด้วย เพื่อแก้ปัญหาด้วยกระบวนการยุติธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย ปฏิเสธการใช้กำลังในการปฏิวัติ การใช้การกดขี่ เราจะส่งเสริมสันติวิธี

ขณะที่นโยบายร่วมจะเห็นว่า เมื่อประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เราควรคืนสิทธิ คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วให้ประชาชนมอบอำนาจมา นอกจากนโยบายเรื่องการบริหาร ยังมีนโยบายด้านเศรษฐกิจ
3 ประการ คือ เศรษฐกิจเสรีนิยม เศรษฐกิจทางเลือก และเศรษฐกิจฐานคุณธรรม

Advertisement

ขณะที่นโยบายด้านสังคม เน้นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ยกตัวอย่างเรื่องตำรวจ ควรจะใช้ลำดับการรายงานจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง ตำรวจที่สำคัญคือตำรวจสายตรวจ และสายสืบ คนกลุ่มนี้ต้องให้ความสำคัญ ต้องอบรมและพัฒนา วันนี้สังคมไม่ได้ต้องการการปฏิรูปตำรวจ แต่ต้องการความยุติธรรม

ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ ที่มีวิกฤตอยู่ 2 วิกฤต คือวิกฤตด้านการเมือง ซึ่งอาจจะมาจากเรื่องความเหลื่อมล้ำ สีเสื้อต่างๆ การไม่เกิดความรักความสามัคคี การมีสองมาตรฐาน ซึ่งในการเขียนกฎหมายต้องใช้กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล อาจจะเป็นคำที่แสลงใจใครบ้าง แต่เราต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ ขณะที่นักวิจัยมองว่า ประชาธิปไตยเมื่อได้ใช้ไปแล้ว ประชาชนอยู่ดีกินดี ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าอำนาจลดถอย ก็จะกลายเป็นวิกฤตการเมืองขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นรายงานทางวิชาการ

สุดท้ายคือ วิกฤตปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ ที่มีความกังวล เราเชื่อมั่นว่าถ้าเรามีความจริงจังและเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เชื่อมั่นว่าเรื่องต่างๆ ในภาคใต้จะดีขึ้น เน้นการพูดคุย เพื่อแก้ไขปัญหาได้

วันมูหะมัดนอร์ – พรรคประชาชาติมองเห็นว่าเรื่องการเมืองมีปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 2-3 ปัญหา ทั้งการผูกขาดที่เป็นปัญหาใหญ่ลำดับแรก เพราะการผูกขาดเรื่องอำนาจ เราไม่มีการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกแล้วร่างใหม่ โดยที่ไม่ใช่ประชาชนเป็นคนร่าง เท่ากับเราถูกผูกขาดโดยคนคณะหนึ่ง

2.บ้านเมืองของเราโดนผูกขาดทางด้านเศรษฐกิจ ถึงแม้จะบอกว่ามีความเสรี จีดีพี โต 4.8% แต่ถ้าถามว่าที่โตคนรากหญ้าโตหรือไม่ คนรากหญ้าที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือคนระดับสูง ยากจนลงกว่าเดิม เพราะกระบวนการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือสิ่งที่เกิดขึ้น ถูกคนมีทุนมากผูกขาดคนรากหญ้า

3.เราถูกผูกขาดเรื่องการจัดการศึกษาที่เป็นเรื่องของประชาชน จะจัดอย่างไรโดยที่ไม่ทำลายความมั่นคงของประเทศ แต่เรามีหลักสูตร ของกระทรวงศึกษาธิการที่ผูกขาดทุกระดับ ดังนั้น ผมว่าเราเดินทางผิด เราน่าจะให้โอกาสทางการศึกษามากกว่านี้ วันนี้จะเห็นว่าการศึกษาของเราด้อยสุดทั้งในเอเชีย และอาเซียน หากพรรคประชาชาติได้เข้าสู่สภา เราจะเสนอกฎหมายเพื่อทลาย ขจัดการผูกขาดในทุกด้าน เราจะทำอย่างไรให้มันหมดไป

เราตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมาเพราะเห็นว่ามีความจำเป็น ถึงแม้จะเป็นพรรคที่เล็ก แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความหวังว่าบ้านเมืองจะไม่มีการแข่งขันกีฬาสี แยกสี แยกฝ่าย และอาฆาตมาดร้าย ใส่ร้ายกัน โดยที่ขาดความรัก พรรคประชาชาติมองว่าจะทำอย่างไรที่จะเติมความรัก เติมความปรองดอง ให้อภัยกัน มันไม่มีประโยชน์อะไรถ้าประเทศนี้มันโตด้วยเศรษฐกิจ แต่ความรักและความปรองดองลดลงมันไม่มีความสุข ความสุขที่แท้จริง คือมีความเหลื่อมล้ำน้อย ประชาชนให้อภัยซึ่งกันและกัน มีความปรองดอง เราขัดแย้งกันได้ แต่ไม่ทะเลาะกัน ยกพวกตีกัน พรรคประชาชาติเป็นพรรคเล็กๆ แต่เชื่อว่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าพรรคใหญ่ เพราะพรรคใหญ่บางทีทะเลาะกันนาน เลิกกันก็เสียหน้า เราจะไม่ทะเลาะกับใคร การเมืองในทางประชาธิปไตย คือมิตรกับเรา เราจะต่อต้านเผด็จการในทุกรูปแบบ

จุดเด่นของพรรคที่จะแข่งแย่งพื้นที่กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีฐานเสียงอยู่เดิม

วันมูหะมัดนอร์ – นโยบายเป็นเรื่องสำคัญ เราไปเอาความเดือดร้อนของประชาชนมากำหนดเป็นนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้หรือนโยบายอื่นๆ และพื้นที่ภาคใต้ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ผูกขาดว่าเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรค รปช.จะมาแย่ง หรือของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคประชาชาติ เราคิดว่าถึงเวลาทุกพรรคก็ช่วยกันทำงาน นโยบายที่แตะต้องใจประชาชนมากที่สุดก็จะได้รับการเลือกตั้ง ความคิดเก่าๆ ที่ว่า ปชป.หรือ พท.จะครองกี่ที่นั่งนั้น เลิกคิดได้แล้ว คนรุ่นใหม่ตัดสินใจด้วยโซเชียลมีเดียค่อนข้างเยอะ และ 4 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มีการเลือกตั้ง เชื่อว่าประชาชนก็คิดเยอะ เมื่อไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐบาลของประชาชนแล้วประชาชนได้อะไร ดังนั้น ในวันเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นวันที่ 24 ก.พ.62 หรือเดือน พ.ค.62 ประชาชนจะเป็นคนบอกให้กับผู้ปกครองประเทศนี้ได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร การเมืองอาจพลิกแพลงได้เหมือนการเลือกตั้งที่ประเทศมาเลเซีย ใครจะคาดว่าพรรคของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด จะชนะพรรคของนายนาจิบ ราซัค เป็นมติของประชาชนที่ไม่ต้องการรัฐบาลโกงและเอื้อประโยชน์เพื่อพวกพ้องตัวเอง ถึงเวลาที่คนมาเลเซียจะล้างประเทศให้บริสุทธิ์ ต้องการให้คนดี
คนที่มีผลงานเข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น 4 ปีที่ผ่านมาคงให้บทเรียนกับประชาชนพอสมควร และอย่าดูถูกประชาชนเพราะเขาจะบอกได้ว่าเขาต้องการรัฐบาลแบบไหน

ตั้งเป้าว่าได้ ส.ส.กี่ที่นั่ง

วันมูหะมัดนอร์ – เป็นเพียงเป้าหมายเริ่มต้น อย่างน้อยต้อง 20 คนขึ้นไป และหวังว่าจะได้มากกว่านั้น เราไม่ได้ประเมินเพราะเราฝัน เพราะในระบบการเลือกตั้งใหม่ มีทั้ง ส.ส.แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งการเลือกตั้งปี 62 จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ 70% หรือ 35 ล้านคน ดังนั้น ถ้าผมต้องการ ส.ส.20 คน ผมต้องการเสียงเพียง 1.4 ล้านคน จาก 35 ล้านคน ซึ่งไม่ได้มากมายอะไรถ้าเราทำงานอย่างมีระบบ และนโยบายต้องใจประชาชน หากประชาชนให้มากกว่านั้นเราก็พร้อม ซึ่ง 1.4 ล้านคนยังไม่ถึง 2% ดี ถ้าค้าขายแล้วได้ไม่ถึง 2% ก็น่าจะเจ๊งนะ ดังนั้น เราไม่ได้ประเมินมาก ขณะเดียวกันเราประเมินว่าถ้าจะทำอะไรแล้วต้องให้มันคุ้มค่า เพราะหลายคนยอมจะออกจากซี 11 บ้างก็ออกจากซี 9 เพื่อมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำขนาดนี้ แต่ถ้าขายออกไปแล้วได้ ส.ส.ไม่ถึง 20 คนก็น่าคิดนะ แต่ในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินในวันปิดหีบเลือกตั้ง

พรรคประชาชาติส่งผู้สมัครครบทุกเขตหรือไม่

วันมูหะมัดนอร์ – เราเป็นพรรคไม่ใหญ่มาก แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่นั้น ถ้าไม่ส่งผู้สมัครเขตใด เขตนั้นเท่ากับศูนย์ เขตก็ไม่ได้ ปาร์ตี้ลิสต์ก็ไม่ได้ ดังนั้นเราต้องการคะแนน แม้เพียง 1 คะแนนก็ต้องส่งทุกเขต เราตั้งเป้าจะส่ง ส.ส.ให้มากที่สุดเท่าที่เรามีศักยภาพจะส่ง ถามว่าประมาณเท่าไร ก็ต้องไม่น้อยกว่า 200 เขต ใน 350 เขต ที่เราไม่ส่งหมดเพราะเราก็ประเมินศักยภาพของเราเหมือนกัน เราไม่ทำอะไรเล่นๆ ส่งไปแล้วผู้สมัครได้เพียง 300 หรือ 500 คะแนน ดังนั้น ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า ทั้งนี้ เราจะมีผู้สมัครหญิงแน่นอนในสัดส่วนที่พอสมควรทั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะสนับสนุนด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้หลังการเลือกตั้งได้รัฐบาลผสม โอกาส 20 ที่นั่งของพรรคจะขับเคลื่อนนโยบายสำคัญได้แค่ไหน

วันมูหะมัดนอร์ – ถ้าเป็นนโยบายที่ดี แก้ปัญหาให้ประชาชนได้ เราคุยกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่เชื่อว่าจะรับฟัง และประชาชนจะเป็นฝ่ายกดดันให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ ของเราได้ บางทีพรรคเล็กๆ พูดในสภา แล้วมีเหตุมีผล เชื่อว่าสภาและประชาชนจะรับได้ แต่พรรคใหญ่ถ้าพูดเลอะเทอะ ไม่มีความเป็นเอกภาพ พูดน้ำท่วมทุ่งก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งนี้ ผมพูดเสมอว่าเราไม่ได้เป็นพรรคใหญ่ แต่ควรทำอะไรให้เป็นตัวอย่างกับคนรุ่นหลังและประชาชน ว่าเราจะรักษาคุณภาพของการอภิปราย เราจะไม่เกเร เราจะพูดด้วยเหตุและผล ถ้ารัฐบาลดีและเราเป็นฝ่ายค้าน เราก็จะสนับสนุน แต่ถ้าเราเป็นรัฐบาลแล้วฝ่ายค้านเสนออะไรดีๆ เรายินดียอมรับ ผมในฐานะอดีตประธานสภา รู้สึกว่าภาพพจน์ของสภาในสายตาของประชาชนไม่งามนัก ดังนั้น เวลาเลือกตั้งประชาชนจึงไม่พิถีพิถันในการเลือก ในที่สุดอย่างอื่นจะมาแทน

ดังนั้น เราจะพยายามสร้างคุณภาพของสภาให้ได้ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนพึ่งพาได้ จริงๆ สภาต่างประเทศไม่อภิปรายเยอะ แต่สภาเราอภิปรายเรื่องเดียวกัน 4-5 วัน เพราะไม่ยอมกัน เสียเวลาของสภาไม่เท่าไร แต่เสียเวลาของประชาชนนั้นผมว่าสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image