อดีตสส.ปชป. ชี้ล้มเหลว บัตรคนจน-บัตรแมงมุมใช้กับรถเมล์ไม่ได้ จี้ รมว.คมนาคมรับผิดชอบ

วันนี้ (6ก.ย.) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก ประเด็นบัตรคนจน-บัตรแมงมุมใช้กับรถเมล์ไม่ได้ โดย ระบุว่า

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ทำสัญญากับเอกชนกลุ่มหนึ่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ให้ติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมทั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรืออีทิกเก็ตบนรถเมล์จำนวนทั้งหมด 2,600 คัน โดย ขสมก.จะต้องจ่ายค่าเช่าระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,665 ล้านบาท นั่นคือ ขสมก.ต้องจ่ายค่าเช่ากล่องหยอดเหรียญและเครื่องอ่านอีทิกเก็ตที่ติดตั้งบนรถเมล์คันละประมาณ 640,000 บาท

วัตถุประสงค์ของการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญก็คือ ขสมก.ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจากข้อมูลของ ขสมก.พบว่า ค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเก็บค่าโดยสารได้ 1 บาท จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 60 สตางค์ ส่วนการติดตั้งเครื่องอ่านอีทิกเก็ตนั้น ขสมก.ต้องการใช้ในการอ่านบัตรคนมีรายได้น้อยหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่รัฐบาลได้มอบให้ รวมทั้งบัตรแมงมุมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารระบบขนส่งมวลชนโดยการใช้บัตรใบเดียวไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า

ขสมก.ประกาศชัดว่าพร้อมที่จะให้ผู้โดยสารใช้อีทิกเก็ตตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ขสมก.จึงได้นำรถเมล์ที่ติดตั้งเครื่องอ่านอีทิกเก็ตมาให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับชมและทดลองใช้ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ ของขสมก. โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมอยู่ด้วย

Advertisement

แต่เมื่อถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 การใช้อีทิกเก็ตและกล่องหยอดเหรียญมีปัญหา ใช้งานได้ไม่ราบรื่น ทำให้ ขสมก.ประกาศเลื่อนการใช้มาเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2561 แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ทั้งอีทิกเก็ตและกล่องหยอดเหรียญยังใช้งานไม่ได้ผล ทำให้คณะกรรมตรวจรับพัสดุของ ขสมก.มีมติไม่รับงาน ซึ่งจะนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับเอกชนต่อไป

นั่นหมายความว่า ผู้โดยสารที่ใช้บัตรคนจนหรือบัตรแมงมุมจะไม่สามารถใช้บัตรดังกล่าวกับรถเมล์ได้ตามที่ ขสมก.ประกาศไว้ว่าจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เป็นเพราะเครื่องอ่านอีทิกเก็ตบนรถเมล์ใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง

น่าเสียดายที่ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ได้ลงทุนเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับอีทิกเก็ตของ ขสมก.มาแล้ว แต่กระทรวงคมนาคมก็ไม่สามารถสานต่อเจตนารมณ์ที่ดีของท่านนายกฯ ได้

Advertisement

น่าเสียดายที่กระทรวงคมนาคมมีเวลาแก้ปัญหานี้นานนับปี แต่ก็แก้ไม่ได้

น่าเสียดายที่ผู้โดยสารรถเมล์พลาดโอกาสการได้รับความสะดวกในการใช้บริการรถเมล์

ทั้งหมดนี้ อยู่ที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image