ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดย : นิมิตร จินาวัลย์

สิ่งที่ท้าทายในอนาคต คือประชา ธิปไตยมีความผกผัน ไม่แน่นอน ถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เพราะการเมือง แต่เป็นวิถีชีวิต การเคารพความเห็นแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ให้เกียรติเสียงส่วนน้อยเชื่อมั่นว่าแก้ปัญหาได้แม้ว่าจะช้าและยาก คำกล่าวของ ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นบทสรุปเนื้อหาทางการเมืองไทยจากอดีตที่ผ่านมา 85 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย บ่งบอกถึงความล้มเหลวทางการเมือง

นักวิชาการทางกฎหมายมหาชนเคยยกย่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย และที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ เมื่อมีการประเมินผลตลอดระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่ปี 2540-2549 กลับพบข้อบกพร่องมากมายทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ปัญหาการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การแทรกแซงองค์กรการตรวจสอบ รวมถึงปัญหาการขาดคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติให้มีการจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมทางการเมือง แต่ในทางปฏิบัติก็มีการละเมิดคุณธรรมตลอดเวลา ที่ร้ายแรงที่สุดคือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2560 ที่ได้รับสมญาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงที่ผ่านการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าประชาชนต้องการที่จะแสดงออกอย่างนั้นหรือไม่ เพราะอย่างน้อยประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงอีก 20 ล้านคนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ และยังมีประชาชนอีก 10 ล้านคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง

ดังนั้น ตัวชี้วัดที่แท้จริงจึงอยู่วันที่จะมีการหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาชนจะชี้ขาดเองว่าต้องการที่จะให้ประเทศเดินไปในทิศทางใด

Advertisement

เนื้อหาทางการเมืองไทยเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมีหลักการและแนวคิดอย่างไรเพื่อที่จะจัดองค์กรสถาบัน อำนาจหน้าที่ของผู้ปกครอง รวมถึงสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ใต้การปกครองเพื่อให้เกิดความสมดุลหรือมีความกลมกลืนแบบ “ลงตัว” มีความสมดุลทั้งความสมดุลทางสังคม ความสมดุลทางการเมือง และความสมดุลทางสถาบันนักวิชาการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ให้คำอธิบายไว้แตกต่างกัน แต่พอสรุปได้ดังนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสาขาหนึ่งที่กำหนดกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างของรัฐ การใช้อำนาจรัฐ องค์กรทางบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ในส่วนของการใช้อำนาจทางการเมือง กำหนดกฎเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐทางการเมืองของผู้ปกครองต่อผู้อยู่ใต้ปกครอง รวมถึงการมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกผู้ปกครอง อำนาจหน้าที่รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของผู้อยู่ใต้ปกครอง

การที่รัฐใดรัฐหนึ่งมีกฎหมายรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดผลอย่างน้อย 3 ประการ คือเป็นรัฐที่มีกฎหมาย มีระเบียบ มีระบอบกฎหมาย และระบอบการเมือง ประการสุดท้ายรัฐธรรมนูญจะแยกตัวบุคคลที่เป็นผู้ใช้อำนาจออกจากรัฐที่เป็นสถาบัน

สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่มีพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 แม้จะมีชื่อเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” แต่ก็มีเนื้อหาสอดคล้องกับความหมายดังกล่าวข้างต้น มีเพียง 39 มาตรา ฉบับต่อๆ ก็มีการเพิ่มเติมรายละเอียดเนื้อหามากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงที่จะยกขึ้นพิจารณาคือ รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแม้จะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ก็ยังมีผลผูกพันครอบคลุมกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จะเห็นได้จากมาตรา 5 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับหรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้….”

Advertisement

แต่ในบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 279 มาตราสุดท้ายข้อความที่บัญญัติไว้จะมีความหมายขัดแย้งว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีโครงสร้างแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ทั้งระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีวิธีคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแตกต่างออกไป และที่มาของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งจากบุคคลคนเดียวแม้จะมีกระบวนการได้มาแตกต่างกันและวุฒิสมาชิกโดยตำแหน่งจากเหล่าทัพยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศที่เกี่ยวกับการบริหารงานราชการแผ่นดินปกติที่ควรจะมาจากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับความสมดุล ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความไม่เท่าเทียม (Unequal)

ฉะนั้น ตราบใดที่ยังยึดมั่นการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องคำนึงถึง 2 สิ่ง คือคำว่าความมั่นคงกับประชาธิปไตย การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต เกียรติภูมิผลประโยชน์แห่งชาติ ความมั่นคงแห่งรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นความชอบธรรมที่พึงกระทำ หากแต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วจะยกเลิก แก้ไข ปรับปรุงโครงสร้างหลักของประเทศ เรื่องของประชาธิปไตยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านที่อาจจะส่งผลถึงโอกาสของประเทศ

อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวไว้ว่า ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเสรีภาพทางการเมือง คือการที่พลเมืองทุกคนมีโอกาสที่จะสับเปลี่ยนกันเป็นผู้ “ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง” ซึ่งความสมดุลพื้นฐานเช่นว่านี้สะท้อนให้ปรากฏในกฎหมายรัฐธรรมนูญในระยะเริ่มแรกที่ปรากฏความตึงเครียด ซึ่งมีการควบคุมและทำเป็นสถาบันระหว่างฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก และฝ่ายค้านซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายนี้ เป็นของคู่กันโดยไม่อาจแยกออกจากกันได้และนำไปสู่การสับเปลี่ยนกันขึ้นสู่อำนาจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือมีการเปลี่ยนฝ่ายที่มีชื่อเสียงข้างมากทางการเมืองโดยอีกฝ่ายหนึ่งภายหลังการเลือกตั้ง กล่าวโดยสรุปก็คือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีอำนาจที่จะขจัด “ผู้ปกครอง” ของตนโดยสันติวิธี

ครับ….เนื้อหาทางการเมืองไทยที่ปรากฏ สะท้อนให้เห็นจุดที่การเมืองยืนอยู่แต่ใต้เส้นพัฒนา (under-developed)

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับเห็นได้จากการช่วงชิง อุปสรรคทางกฎหมาย บุคลิกภาพ และพฤติกรรมทางการเมืองที่เป็นตัวแปรสำคัญ บนความไม่เท่าเทียม เราอยากเห็นนักการเมือง พรรคการเมืองกอบกู้วิกฤตศรัทธาที่เคยเป็นมา อยากเห็นการต่อสู้ทางความคิด และอุดมการณ์

ณ เวลานี้คือโอกาสที่พรรคการเมืองจะพิสูจน์ตัวเอง ปฏิรูปพรรคให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง

นิมิตร จินาวัลย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image