สถานีคิดเลขที่12 : ‘ทองอยู่ พุฒพัฒน์’ โดย ปราปต์ บุนปาน

เพิ่งได้อ่านบทความ “ชีวิตอุทิศแด่ ‘พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน’ ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ.2442-2514)” โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนกันยายน

นริศพาคนอ่านไปทำความรู้จักกับ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ นักการเมืองยุค 2476-2500 ผู้มีชีวิตเปี่ยมด้วยสีสัน

ทองอยู่ผู้ยึดมั่นในหลักการว่า “จงยอมรับในสิ่งที่ถูกต้อง รู้แพ้ รู้ชนะ แต่จงยืนหยัดและต่อสู้อธรรมเพื่อยืนอยู่บนความถูกต้องเสมอ ถ้าเรารักจะเป็นนักการเมืองที่ดี และเป็นคนของประชาชน” เป็นคนบางกอกน้อย เกิดในครอบครัวข้าราชการกระทรวงกลาโหม

ก่อนจะสำเร็จวิชาครูมัธยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วรับราชการครูที่โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศวิหาร

Advertisement

“ครูทองอยู่ พุฒพัฒน์” ได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดธนบุรี รวม 2 สมัย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกปี 2476 เขาได้รับเลือกเป็น “ส.ส. ประเภท 1” ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยผู้แทนตำบล

ปี 2480 ครูทองอยู่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่สอง แต่นี่คือครั้งแรกสุดที่มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งตัดสินด้วยคะแนนเสียงของราษฎรโดยตรง

ผลงานเด่นของ ส.ส.ทองอยู่ คือการเสนอร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ อันถือเป็นต้นทางของ “พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484”

ทองสืบ ศุภะมาร์ค อดีต ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ และอดีต “พระศรีวิสุทธวงศ์” เจ้าคุณเปรียญ 9 แห่งวัดมกุฏกษัตริยาราม กล่าวถึงเพื่อนร่วมสภาอย่างทองอยู่เอาไว้ว่า

“เห็นจะทุกฝ่ายยอมรับกันว่าท่านเป็น ส.ส.สุภาพบุรุษ ไม่พยายามเอาเด่น
ไม่อยากดัง ไม่พูดพล่าม ไม่เป็นดาวสภา ไม่ทำงานนอกหน้าที่ ไม่ก้าวก่ายนอกอำนาจ ไม่ลืมตัว และไม่ลืมราษฎรที่เลือกตนขึ้นมา…”

หลัง พ.ศ.2481 ครูทองอยู่หันไปทำงานการเมืองใน “สนามเล็ก” และได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครธนบุรี และประธานสภาเทศบาลนครธนบุรี

หนึ่งในผลงานที่ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ฝากไว้ให้ฝั่งธนบุรี คือ โครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่

ซึ่งใช้เวลาขับเคลื่อนผลักดันรวม 20 ปี จาก พ.ศ.2477-2497

ในยุค “การเมืองสามเส้า” ก่อน พ.ศ.2500

“จอมพล ป. พิบูลสงคราม” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เลือกจะใช้นโยบาย “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” โดยยินยอมให้มีการชุมนุมที่สนามหลวง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนวิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเสรี

หรือที่รู้จักกันในนามกิจกรรม “ไฮด์ปาร์ก”

ครูทองอยู่คือบุคคลแรกที่หาญกล้าขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีผลงานของรัฐบาล กระทั่งได้รับฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ก”

ประเด็นสำคัญซึ่งอดีต ส.ส.ผู้นี้เสนอ ก็คือ ข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิก “ส.ส.ประเภท 2” ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การเคลื่อนไหวยกระดับขึ้นเป็น “การอดข้าวประท้วง” ก่อนที่ครูทองอยู่และคณะจะถูกจับกุมด้วยข้อหา “กบฏภายในราชอาณาจักร”

ภายหลังรัฐประหารปี 2500 ครูทองอยู่ปรารภกับเพื่อนสนิทว่า “เบื่อหน่ายในทางการเมือง” และตัดสินใจออกบวชที่วัดทองธรรมชาติ

ซึ่งด้านหนึ่ง วิถีชีวิตในเพศบรรพชิตก็สอดคล้องกับวัตรปฏิบัติของครูทองอยู่ครั้งยังเป็นฆราวาส ดังที่ พีร์ บุนนาค อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี ระบุว่าอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีผู้นี้เป็น “ส.ส.คนเดียวที่รักษาพรหมจรรย์มาโดยตลอด ไม่เคยมีลูกมีเมียและไม่เคยแตะต้องผู้หญิงเลย”

พระทองอยู่มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2514 ปีเดียวกับที่จังหวัดธนบุรีถูกควบรวมเข้ากับ “กรุงเทพมหานคร”

ชีวิตที่กระตือรือร้นในทางการเมืองของ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า “นักการเมือง” อาจไม่ได้น่ารังเกียจหรือเป็นศูนย์รวมความเสื่อมทรุดย่ำแย่ ดังที่หลายคนทึกทักเข้าใจ

ทว่าคุณภาพที่ “ดี” หรือ “แย่” ของ “นักการเมือง” นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยเชิงโครงสร้างว่าเรามี “สังคมการเมือง” แบบไหน? และ “เปิดกว้าง” มากน้อยเพียงใด? ต่างหาก

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image