นักการเมืองวิพากษ์ อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนเลือกตั้ง

หมายเหตุ – คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดงานเสวนา “อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง” โดยมีตัวแทนนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ร่วมเสวนา ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

อนาคตประเทศไทยคงไม่มีวันตาย และคงไม่มีวันตัน แต่ที่จะเดินหน้าไปสู่ทางตันคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เพราะว่าปัจจัยใหญ่ 2 ประการ คือ 1.ปัจจัยทางเศรษฐกิจปัญหาใหญ่ คือแม้รัฐบาลจะบอกว่า
จีดีพีโตต่อเนื่อง 4 ปี แต่ถ้ายกเว้นประเทศบรูไนกับสิงคโปร์ จะพบว่าประเทศไทยจีดีพีโตต่ำสุดในอาเซียน และที่สำคัญจีดีพีที่โตเม็ดเงินไม่ได้ไปตกสู่รากหญ้า สภาพสังคมยังเป็นแบบรวยกระจุก จนกระจายที่เป็นปัญหาใหญ่ จะกดดัน คสช.ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจฐานรากที่จะเป็นตัวเร่งเร้าให้ คสช.เดินหน้าไปสู่ทางตันมากขึ้น รัฐบาลก็รู้ปัญหาจึงพยายามหว่านเม็ดเงินลงไปช่วย แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเกาไม่ถูกที่คัน ไม่รู้จักปัญหาของประชาชนที่แท้จริง

2.ปัจจัยทางการเมืองทั้งต่างประเทศและในประเทศ ผลการสำรวจออกมาแล้วว่าประชาชนอยากเลือกตั้ง แต่ยังมีความลังเลเพราะกลัวว่าหลังการเลือกตั้งแล้วประเทศจะกลับไปขัดแย้งเช่นเดิมอีกหรือไม่ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่คลายล็อก หรือปลดล็อกเมื่อไหร่ ส่วนการหาเสียงก็มีแนวกำหนดกฎเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่สังคมควรตระหนักก็คือ สุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.ยังคงดำรงตำแหน่งผู้เขียนกติกา และเป็นกรรมการ ผู้กำกับการที่มีอำนาจสูงสุด ขณะเดียวกันจะเป็นผู้ลงแข่งในสนามเลือกตั้งด้วย

Advertisement

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่นำไปสู่รอยเดิม ผมขอพูดหลักการว่ามีทางออก 4 ประการ ที่จะนำการเลือกตั้งไปสู่การรู้รักสามัคคี คือ 1.ทุกฝ่ายต้องรู้รักสามัคคี และมีประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี 2.หลังการเลือกตั้งพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ต้องเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคเสียงข้างน้อยทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชน 3.ฝ่ายบริหารจะต้องไม่ใช้เสียงข้างมากตามอำเภอใจ โดยไม่รับฟังเสียงข้างน้อยจนนำประเทศสู่วิกฤตแบบที่ผ่านมา และ 4.ทุกฝ่ายต้องยึดมั่นในหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อสร้างสังคมสันติสุข


 

จาตุรนต์ ฉายแสง
แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.)

ข้อจำกัดต่างๆ เช่น การไม่ให้พรรคการเมืองทำนโยบาย การไม่ให้พรรคการเมืองกับประชาชนได้แสดงความเห็น การพยายามให้เวลาหาเสียงน้อย การเลือกปฏิบัติเพื่อจำกัดสิทธิของนักการเมือง และประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จะเป็นการทำลายความหมายของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เวลานี้สิ่งที่ คสช.กับพวกกำลังทำอยู่เป็นการทำลายความหมายของการเลือกตั้ง ประชาชนจะไม่มีข้อมูล ไม่รู้ว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายอย่างไร เพราะไม่มีโอกาสลงไปพบปะพูดคุยกับประชาชน วุ่นอยู่แต่กับการหา
สมาชิก การหาหัวหน้าพรรค

Advertisement

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งที่ขาดข้อมูลในการตัดสินใจของประชาชน เพราะห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจใจปัจจุบัน ทั้งนี้ หากผู้นำ คสช.สามารถรวม ส.ส.ได้มากกว่า 126 เสียง แล้วไปรวมกับ ส.ว.250 เสียงที่มาจาก คสช. แล้วไปบีบพรรคการเมืองอื่นให้ร่วมรัฐบาล เพราะหากไม่ร่วมอาจจะขู่ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ไปเรื่อยๆ ในอนาคตต้องดูว่าจะมีนักการเมืองเข้าไปร่วมมากแค่ไหน แต่มองดูแล้วพรรคที่สนับสนุนผู้มีอำนาจปัจจุบันไม่น่าจะรวมกันได้ถึง 50 เสียง แล้วแบบนี้จะรวมต่ออย่างไร

อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แม้ผู้นำ คสช.ถูกเสนอชื่อเป็น 1 ใน 3 ของคนที่จะเป็นนายกฯ ก็ไม่สนับสนุน และหาก คสช.เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยยินดีร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นในการเป็นฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบ

ทางจะตันหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะลดเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าเขาตั้งรัฐบาลได้ก็ตั้งไป ไม่ใช่ว่าจะต้องไปลดเงื่อนไข มีการหาทางออกว่า หากตกลงกันได้ว่าให้พรรคที่รวมเสียงได้ 250 เสียง เป็นรัฐบาลไปก็จบ แต่จริงๆ แล้วอันนี้เป็นเงื่อนไขเก่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดไว้แบบนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้ว่า ส.ว.ก็สามารถลงมติได้ ไปห้ามไม่ได้ เพราะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ สมมุติการเลือกนายกฯ ส.ส.รวมกันได้เพียง 126 คน ไปรวมกับ ส.ว.250 ก็ได้เป็นนายกฯ แล้วพรรคการเมืองหรือ ส.ส.ที่บอกว่า หากรวมกันได้ 250 คน เป็นคนจัดตั้งรัฐบาลยังรวมกันติดไหม หากยังรวมกันติด แม้เขาจะรวมกับ ส.ว.จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่เมื่อเปิดสภา แถลงนโยบาย แล้วโดนเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จบ เพราะตรงนี้วัดกันด้วยเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงบอกว่า ถ้าเขาตั้งรัฐบาลได้โดยการรวม ส.ส.250 คน ก็ตั้งไป พรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วเดินหน้าต่อไป

ส่วนตัวหากพรรคเพื่อไทยต้องจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ผมตอบคำถามนี้ไปบ่อยมาก แต่ตอบไปก็จะสร้างความไม่เข้าใจมากกว่าความเข้าใจ แต่หากวิเคราะห์ตามหลักคณิตศาสตร์ พรรคใดไม่จับมือกับพรรคไหน และไม่มีการสนับสนุนจาก ส.ว.จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรรีบตัดสินใจแต่เนิ่นๆ ว่าจะจับมือกับพรรคใด หรือไม่จับมือกับพรรคใด เพราะยังไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตัดสินใจ

แต่การจะร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยคงยังไม่เกิดขึ้น ถ้า คสช.เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน แล้วพรรคประชาธิปัตย์เกิดเป็นฝ่ายค้านด้วย ผมสามารถร่วมกับนายจุรินทร์ เป็นวิปฝ่ายค้านได้ เพราะแค่คุยกัน ไม่ได้ทำนโยบายอะไร


 

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ
ตัวแทนของพรรคชาติไทยพัฒนา

จุดยืนของพรรคชัดเจนว่าไม่เอานายกฯคนนอก เมื่อครั้งนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายก
รัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย มีชีวิตอยู่ ท่านพูดเสมอว่าต้องมาจับมือกัน แต่เหมือนไม่มีใครฟังท่าน ทั้งนี้ ระบบรัฐสภามีข้อด้อยอย่างหนึ่งว่า คนเลือกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครจะได้เป็นนายกฯ เพราะเขาเลือกผ่านผู้แทน ที่ผ่านมาจะไม่มีปฏิวัติเลยหากนักการเมืองไม่สร้างเงื่อนไข ถามว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะมาจับมือกันได้ไหม มันคือเพอร์เฟกต์โมเดล แต่มันทำได้หรือ เพราะประชาธิปไตยมันคือถ่วงดุล

ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน หากพรรคใหญ่ๆ จะจับมือกันตั้งรัฐบาล เพื่อให้ฟังก์ชั่นนี้มันสมบูรณ์ ไม่ได้ต้องการเป็นแต่รัฐบาลเท่านั้น ปี 2562 หากมีการเลือกตั้ง อยากออกจากวังวนความขัดแย้ง ทุกคนจะต้องออกมาจากมุมของตัวเอง ทั้งนี้ ถ้ารวมกับพรรคใดแล้วเป็นเสียงข้างมาก สามารถทำให้เกิดการพัฒนาได้ พรรคชาติไทยพัฒนาพร้อมที่จะเข้าร่วม แต่ถ้าเข้าร่วมแล้วไม่มีประโยชน์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ร่วม

ทุกคนอดทนแล้วเดินหน้าไปด้วยกันได้หรือไม่ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง หากถึงวันที่ไม่อยากให้มาถึง อย่าไปเร่งปฏิกิริยา อย่าให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก ทั้งนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาในวันที่ไม่มีนายบรรหารถือว่ายาก แต่เป็นความท้าทายของสมาชิกพรรคทุกคน พยายามที่จะเป็นทางเลือกให้ได้ ถือว่าสนุกดี


 

นพ.ระวี มาศฉมาดล
ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่

ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทย กับ คสช. ที่เป็นก๊กหลักจะรบกันในการเมืองครั้งนี้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังธรรมใหม่ไม่อยู่ในก๊ก เพราะไม่ได้อยู่กับเผด็จการทหาร แต่เป็นก๊กอิสระ ต้องอธิบายก่อนว่าพลังธรรมใหม่ไม่เอาประชาธิปไตยแบบตะวันตก ที่ประชาชนมีส่วนลงคะแนนกาบัตร 2-3 นาทีแล้วหมดสิทธิในการมีประชาธิปไตย พลังธรรมใหม่เอาระบบธรรมาธิปไตย เอาประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและประชาชนมีส่วนร่วม

ส่วนเรื่องเผด็จการนั้น ส่วนตัวผมต่อสู้กับเผด็จการทหารมาตลอด แต่วันนี้มีคำถามว่า เผด็จการทหารกับเผด็จการรัฐสภาอะไรดีกว่ากัน เพราะต่อจากนี้ไปเวลาพูดถึงเผด็จการ ต้องพูดถึงเผด็จการที่มีจุดยืนด้วย ปฏิเสธเผด็จการรัฐสภา และเผด็จการทหารที่ไม่ได้มีจุดยืนเพื่อชาติ และประชาชน

จุดยืนของพรรคพลังธรรมใหม่ต่อจากนี้ไป คือไม่ให้เกิดศึกสีเหลืองสีแดงหลังการเลือกตั้ง เสียงข้างมากจะต้องฟังเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ พรรคจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นจุดอ่อน จะไม่เสนอแก้ไขทั้งฉบับ


 

จตุพร พรหมพันธุ์
ปธ.แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกออกแบบให้มีเรื่องได้ตลอดเวลา วันนี้ทุกฝ่ายมีการเรียกร้องให้ปลดล็อกทางการเมือง แต่ก่อนอื่นคือต้องปลดล็อกจิตใจ คลายล็อกหัวใจให้ได้ก่อน เพราะขณะนี้มีความชุลมุน เสียงระฆังยังไม่ทันเริ่มก็มีการชกกันใต้เวที แบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งเกิดความวุ่นวาย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้ถ้าได้ ส.ส.เขตมา ส.ส.บัญชีรายชื่อจะหาย ยิ่งได้ ส.ส.เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ยิ่งหาย เป็นรัฐธรรมนูญที่มีคนบอกว่า แยกกันเราอยู่ รวมกันเราตาย

สำหรับกรณีนายกฯคนนอกนั้น ก่อนที่จะเข้าไปเป็นนายกฯเขามีดาบอาญาสิทธิ์มากมาย มีกฎหมายที่ทำให้ตัวเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่พอเข้าไปเป็นนายกฯคนนอกแล้ว ดาบนี้จะหายไป ท่านจะทนการตรวจสอบได้หรือไม่

วันนี้นักการเมืองและพรรคการเมืองทุกพรรคต้องคุยกัน อย่าเพิ่งหาเศษหาเลยกันตอนนี้ เพราะถ้าเริ่มต้นกันแบบนี้ หลังเลือกตั้งจะยิ่งมีเรื่องหนัก วันนี้ต้องสร้างบรรยากาศ มาหารือกันว่าภายใต้กติกาที่แก้ไขอะไรไม่ได้นี้จะทำอย่างไรให้สถานการณ์มันไม่เป็นแบบพฤษภา 2535

ผมไม่สนใจว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง แต่ผมสนใจว่าจะทำอย่างไรให้ไม่มีคนเจ็บ คนตาย เหมือนที่ผ่านมา คนไทยกลัวคำว่า “ไม่สงบ” คือไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็มักจะถูกอ้างด้วยคำว่าไม่สงบ สิ่งนี้คือสิ่งที่หลอกหลอนคนไทย ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยกันคือการสร้างบรรยากาศแห่งความสงบก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมอยากเห็นประเทศไทยในระยะที่เรียกว่าระยะเปลี่ยนผ่านนี้มีความสงบ จะฝากอนาคตไว้ที่ซีกใดซีกหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องฝากไว้กับทุกฝ่ายที่ต้องมาคุยกัน ตกลงกัน เอาประชาธิปไตยมาให้ได้ก่อน แล้วเอาเรื่องส่วนรวมมาก่อนเรื่องส่วนตัว

สิ่งที่ผมมองขณะนี้ถ้าพรรคการเมืองมาตกลงกันให้ได้ว่าใครจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนใหญ่ไม่ว่าใครมีอำนาจล้วนอยากจะฟังแต่ในสิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง เช่น วันนี้บอกว่าเศรษฐกิจดี มีความสุข การข่าวล้วนเป็นการข่าวแห่งความสุขทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจไม่รู้ว่าได้ฟังข่าวแห่งความทุกข์บ้างหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตกลง ให้จับมือในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่รวมกันมาจากเสียงข้างน้อย แล้วบีบให้กลายเป็นเสียงข้างมาก ในสภาใครรวมเสียงกันได้ 250 เสียง ก็เป็นรัฐบาล หากเป็นแบบนี้ก็จะปิดประตูนายกฯคนนอก

ถ้าซีกพรรคการเมืองได้มีโอกาสคุยกัน ตกลงกัน แล้วไปบอกผู้มีอำนาจว่าเราตกลงกันแบบนี้ ทำเป็นสัญญาประชาคม แล้วให้ประชาชนตัดสินแบบนี้ก็จะแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะเห็นต่างกัน ก็พูดคุยกันได้ โดยเคารพกติกา ถ้าทำแบบนี้ได้จะสามารถหาทางออกจากวิกฤตได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image