มีชัย ฤชุพันธุ์ เปิดหัวใจ กรธ. ผ่าน ‘บันทึกไว้กันลืมž’

ด้วยมติ 135 ต่อ 105 ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 36 อรหันต์Ž ที่มี “ดร.ปื๊ดŽ” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นมติการหักกันเองระหว่างแม่น้ำ 2 ใน 5 สาย ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้กำเนิดขึ้น

ท่ามกลางกระแสข่าวว่านี่คือ “ใบสั่ง”Ž จากผู้มีอำนาจ ได้เกิดวลีอมตะที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”Ž จากปากของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคณะใหม่ที่ได้เข้ามารับหน้าที่ต่อ

เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกสั่นๆ ว่า “กรธ.”Ž ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซือแป๋ด้านกฎหมาย มาเป็นประธานให้ พร้อมกับคณะ รวม 21 คน

จากวันนั้น 5 ตุลาคม 2558 ที่ได้รับแต่งตั้งมาจนถึงกันยายน 2561 เป็นเวลาเกือบ 3 ปี

Advertisement

สามารถสถาปนากฎหมายสูงสุดฉบับใหม่ขึ้นได้ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พร้อมๆ กับวางเงื่อนไขสำคัญไว้ที่ร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับที่ กรธ.จะต้องจัดทำเพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.พิจารณาต่อ

เมื่อทั้ง 10 ฉบับประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กรธ.ทั้งคณะจะต้องพ้นหน้าที่ไปโดยปริยาย

ล่าสุด ในการประชุม กรธ.นัดสุดท้ายก่อนเสร็จสิ้นภารกิจตรวจทานเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ได้มอบหนังสือ “ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560Ž” ไว้เป็นที่ระลึก บันทึกความทรงจำของ กรธ.แต่ละคนในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

แน่นอน ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ “บันทึกไว้กันลืม”Ž ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้เขียนบอกเล่าไว้ถึง 37 หน้า โดยย้อนกลับไปตั้งแต่มีเหตุให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ไปจนถึงความยากลำบากในการจัดทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ

นายมีชัย เล่าตอนหนึ่งว่า ครั้งแรกภายหลังจากมีการปฏิวัติ มีการพูดกันว่าตัวเองสมควรจะเป็นผู้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ได้ปฏิเสธไปทันที ด้วยเหตุผลว่าตนเองอายุมากแล้ว แต่ได้แนะนำไปว่า อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เหมาะสมที่สุด เพราะผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 มาแล้ว

”แต่ อ.บวรศักดิ์กลับปฏิเสธ โดยอ้างว่าบารมีไม่พอ แต่ผมได้ยืนยันว่าเขามีบารมีพอ ผ่านงานมาเยอะ ความรู้กว้างขวาง ลูกศิษย์เต็มเมือง ต้องโอ้โลมปฏิโลมกันอยู่พักใหญ่ที่สุด อ.บวรศักดิ์ก็ยอมรับด้วยความรู้สึกที่ไม่ค่อยจะยินยอมพร้อมใจนัก”

พร้อมกันนี้ นายมีชัย ยังเล่าเหตุที่ไม่ได้มีการคิดที่จะให้ อ.วิษณุ เครืองาม ไปร่างรัฐธรรมนูญ เพราะคาดการณ์กันได้ว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นภายหลังมีรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 อ.วิษณุคงต้องถูกขอร้องให้ไปช่วยงานรัฐบาลอย่างหลีกหนีไม่พ้น

เขาบอกด้วยว่า ระหว่างที่ อ.บวรศักดิ์ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ค่อยได้ติดตาม นอกจากในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย เมื่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญมารายงานความคืบหน้าจะได้ซักถามบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น วันที่ สปช.ลงมติยังอุ่นใจ เพราะมีคนบอกว่าจะได้คะแนน 140 กว่าๆ แต่พอคะแนนออกมาไม่รับที่ 135 ต่อ 105 จึงรู้ว่าเข้าใจผิดที่คนมาบอกว่า 140 กว่า หมายถึงคะแนนไม่รับ จึงได้แต่เสียดายแทน อ.บวรศักดิ์

นั่นจึงเป็นที่มาทำให้ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ กำหนดไว้

นายมีชัย เล่าว่า ตอนนั้นเป็นความสนุกสนานของสื่อต่างๆ ที่เดาว่าใครจะมาทำหน้าที่ ก็มีชื่อไปโผล่กับเขาด้วย ซึ่งได้สร้างความทุกข์ตงิดๆ ให้แก่ตัวเอง ใครมาถามก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง และก็ไม่อยากไปทำ

แต่ในระหว่างเดือนกันยายน 2558 นายกฯ เดินทางไปราชการต่างประเทศ มีผู้ใหญ่ใน คสช.โทรมาบอกว่าอยากให้ไปเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ แวบแรกที่เกิดขึ้นในใจคือ เคราะห์กรรมมาถึงตัวเราอีกแล้วหรือนี่

“ผมได้ตอบผู้ใหญ่ท่านนั้นไปว่า ผมขอคุยกับนายกฯก่อน และเมื่อนายกฯกลับจากต่างประเทศ ก็เชิญผมไปพบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2558 พร้อมกับบอกว่า ขอให้ไปช่วยเป็นประธาน กรธ. ผมถามท่านว่ามีความจำเป็นขนาดไหนที่ผมจะต้องไปทำ ท่านตอบว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ เมื่อท่านตอบเช่นนั้นผมก็หมดทางเลี่ยง ในฐานะคนไทยผมจะปฏิเสธได้อย่างไร ที่มีความรู้เป็นตัวเป็นตนอยู่ทุกวันนี้ก็ได้อาศัยทุนรัฐบาลไปเล่าเรียนมา บุญคุณนั้นผูกพันอยู่ชั่วชีวิตที่จะต้องทดแทนต่อแผ่นดิน”

เมื่อถึงวันที่ คสช.ประชุมแต่งตั้ง กรธ. นายมีชัยเล่าว่า ได้ถาม คสช.ว่าเมื่อออกไปแล้ว ผู้สื่อข่าวคงต้องถามว่า คสช.ได้สั่งอะไรให้ กรธ.บ้าง ถ้าบ่ายเบี่ยง ก็คงถูกนำไปคาดการณ์หรือเดากันต่างๆ นานา ดังนั้น หาก คสช.มีอะไรจะสั่งก็สั่งเสียเลย จะได้เอาไปเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าว

จึงเป็นที่มาของกรอบ 5 ข้อที่ คสช.กำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ

1.ให้ร่างเป็นที่ยอมรับนับถือของสากล ในขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประเทศไทยและคนไทยที่มีหรือเป็นอยู่

2.ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้

3.ให้มีมาตรการป้องไม่ให้การเมืองใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องโดยใช้เงินแผ่นดินไปอ่อยเหยื่อกับประชาชนเพื่อสร้างความชอบธรรม โดยมิได้มุ่งหมายให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขในระยะยาว จนเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรงและเกิดวิกฤตที่หาทางออกไม่ได้

4.มีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติชอบอย่างได้ผล

5.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในอันที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และร่วมกันรับรู้และรับผิดชอบต่อความเจริญและการพัฒนาประเทศ และสังคมโดยรวม

นอกจากนี้ ยังมีกรอบจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 35 ยังได้กำหนดให้ กรธ.ต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมอีกจำนวน 10 เรื่องด้วย

นายมีชัย เล่าด้วยว่า ตอนแรกที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่หลังชุดนายบวรศักดิ์ถูกคว่ำได้เสนอให้มีการทำ “ประชามติŽ” ด้วย

แต่ คสช.ลังเล เพราะมองว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก และสิ้นเปลือง แต่คณะผู้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้พยายามอธิบายถึงความคุ้มกับการดำเนินการ เพราะจะไม่มีใครมากล่าวหาในภายหลังว่า คสช.เป็นผู้ทำเอง การทำประชามติจะได้ไปอธิบายให้ประชาชน หากเข้าใจเขาก็จะเป็นเกราะให้แก่ผู้ร่างและ คสช.ได้

จนในที่สุด คสช.จึงเห็นดีเห็นงามด้วย แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม

แต่ “มีชัย”Ž ก็ยอมรับเช่นกันว่า ได้มาพบภายหลังว่าข้อเสนอการทำประชามติ ได้สร้างความยากลำบาก เหนื่อยยากแสนสาหัสให้แก่ กรธ.เป็นอย่างมาก แต่ยังเคราะห์ดีที่องค์ประกอบของ กรธ.ได้ช่วยทำให้ความลำบากและเหนื่อยยากนั้น ผ่านพ้นมาได้ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เมื่อผลประชามติมีผู้เห็นชอบกว่า 16 ล้านเสียง กรธ.ทุกคนจึงดีใจ โล่งใจ เสมือนยกภูเขาออกจากอก

เขาเล่าด้วยว่า ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญ ได้พบกับ คุณฟองสนาน จามรจันทร์Ž หรือ แม่หมอสมัครเล่น เธอพบหน้าแล้วบอกว่า การทำประชามติจะผ่านอย่างน่าแปลกใจ แต่เมื่อผ่านแล้วจะต้องแก้ไขถึง 3 หน จึงจะใช้ได้

”ผมฟังคุณฟองสนานแล้วก็นึกขำอยู่ในใจว่าผ่านประชามติแล้ว จะมาแก้ไขอะไรกันได้อีก ถ้าจะแก้ไขต้องแก้ไขเมื่อประกาศใช้แล้ว”

แต่เมื่อผ่านประชามติแล้ว นายมีชัย บอกว่า มีการแก้ไขถึง 3 ครั้งจริงๆ

ครั้งแรก เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ครั้งที่สอง เป็นการแก้ไขคำปรารภเพื่อให้เป็นปัจจุบัน ครั้งที่สาม เป็นการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามข้อสังเกตที่พระราชทานมา

“วันที่พวกเราได้ทราบข่าวด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งตรงกับวันจักรี”

นายมีชัย บอกว่า ในรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีการประกอบพระราชพิธีอย่างใหญ่เพียงแค่ 5 ครั้ง โดยรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งที่ 5 เป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 และเป็นฉบับเดียวที่ผ่าน 2 รัชกาล โดยร่างในรัชกาลที่ 9 และมาประกาศใช้ในรัชกาลที่ 10 ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัชกาลที่ 10 ด้วย

เป็นความในใจส่วนหนึ่งของ มีชัย ฤชุพันธุ์Ž ประธาน กรธ.วัย 80 ปี ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ยกร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image