‘บิ๊กตู่’คุยเงินสำรองระหว่างปท.สูงเฉียด 2 แสนล.ดอลลาร์ ส่วนหนี้ตปท.เหลือแค่ 4%

เมื่อวันที่ 14 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่ผ่านมาคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับ การเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อค่าเงิน ราคาหุ้น และราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ในหลายประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ในช่วงแรกๆเกิดวิกฤตในประเทศเวเนซุเอลา จากปัญหาในประเทศ และลุกลามจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ ในเดือนสิงหาคมสูงขึ้นมาถึง 200,000 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะสูงขึ้นได้ ถึง 1,000,000 เปอร์เซ็นต์ ในสิ้นปีนี้ ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน ประเทศอาร์เจนติน่า ประสบปัญหาเงินทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง จนต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น ร้อยละ 60 เพื่อพยายามดึงดูดนักลงทุน

“หลายประเทศที่ประสบปัญหาภาวะการขาดดุลแฝด ด้านแรกคือ การขาดดุลการคลังของรัฐบาล เพราะรัฐบาลมีการใช้จ่ายสูงกว่ารายได้มากเกินไปทำให้ต้องชดเชยโดยการกู้ยืมอย่างต่อเนื่อง มักเป็นผลจากความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สูงเกินความจำเป็น ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศปรับสูงขึ้นจึงต้องประสบปัญหาเงินเฟ้อ หรือ เงินเสื่อมมูลค่าในอัตราที่สูง อีกด้าน คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หมายถึง การที่รายได้สุทธิ จากการขายสินค้าและบริการ กับต่างประเทศติดลบ เพราะมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าสูงกว่า ที่ขายสินค้าส่งออก ทำให้ต้องสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศออกไป การขาดดุลแฝดนี้ได้บั่นทอนความมั่นคงด้านการคลัง ส่งผลต่อขีดความสามารถของประเทศ ในการรองรับความเสี่ยง และลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มีการนำเงินทุนออกจากประเทศเหล่านี้ และเงินตราของประเทศก็ได้อ่อนค่าลงมาก ในช่วงที่ผ่านมา”นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ ประเทศไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เห็นได้จากค่าเงินที่อ่อนลงไม่มากและ ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ได้ปรับลดลงมากนักที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากปี 40 ที่ทุกภาคส่วนของประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน ธนาคารพาณิชย์ ต่างตั้งอยู่บนความพอเพียง มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกันส่งผลให้มีความเข็มแข็งในทุกภาคส่วน ที่สำคัญ ในด้านต่างประเทศ เรามีปริมาณ“เงินสำรองระหว่างประเทศ”ในระดับสูง ล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าอยู่ในระดับที่ “สูงมาก” เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของไทย” และเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศของไทย พบว่ามีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า หนี้ระยะสั้น ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ถึง 3.5 เท่า หมายถึง มีเงินตราต่างประเทศในระดับเกินพอ หากต้องการที่จะชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศในวันนี้ หนี้ต่างประเทศของรัฐบาล ได้ทยอยคืนจนเหลือเพียง ร้อยละ 4 ของ GDP รวมทั้งพยายามปรับโครงสร้างให้เป็นการกู้ยืมระยะยาวมากขึ้น เป็นการกู้ภายในประเทศมากขึ้น ฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งนี้ เป็นผลมาจากการสะสมความมั่งคั่งของประเทศ การส่งออกสินค้า และบริการที่เติบโตสร้างรายได้ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ให้กับไทยได้อย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชน และธนาคารพาณิชย์ ที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง รวมถึงการดำเนินนโยบายภาครัฐ อย่างระมัดระวัง มีวินัยทางการเงิน-การคลัง โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 41 อยู่ในกรอบที่เรากำหนดไว้ และถือเป็นระดับที่ดีกว่าหลักเกณฑ์สากล ที่กำหนดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะ ไม่ควรสูงเกิน ร้อยละ 60 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image