ปลายหอก แหลม พุ่งใส่ กกต. พุ่งใส่ คสช. ปลดล็อก ปลอมๆ

ลํําพังคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก็สะท้อนลักษณะ “แปลกปลอม” ในทางการเมืองอย่างยิ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นการออกมาทั้งๆ ที่มี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อยู่

เป็นการมีอยู่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แต่ไม่ยอมให้ “ปฏิบัติ”

เป็นการออกมาเพื่อยืนยันบทบาทและความหมายของประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

นั่นก็คือ ห้ามพรรคการเมืองประชุม

Advertisement

นั่นก็คือ ห้ามมีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองเกิน 5 คน อันเท่ากับมัดตราสังหรือยุติการเคลื่อนไหวใดๆ อันมีลักษณะในทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

แล้วทำไมจึงต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561

คำประกาศอันมาจาก คสช.คือ เพื่อการคลายล็อกให้กับพรรคการเมือง แต่ที่หลายคนหงุดหงิดและไม่พอใจในขณะนี้ก็คือ มิได้เป็นการคลายล็อกหากแต่เพิ่มล็อก

Advertisement

นั่นก็คือ การสกัดในเรื่อง “หาเสียง” และในเรื่อง “โซเชียลมีเดีย”

หากเริ่มต้นตั้งแต่รากฐานการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประสานเข้ากับการคลายล็อก เพิ่มล็อก จากประกาศและคำสั่งของ คสช.

จึงถูกต้องแล้วที่จะสรุปว่า มาจาก “ความกลัว”

ความกลัวโดยพื้นฐานก็คือ กลัวว่าพรรคการเมืองจะเติบใหญ่ แข็งแกร่งและพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมือง

จึงต้องทำให้พรรคใหญ่ กลายเป็นพรรคเล็ก

จากความกลัวนั่นเองจึงไม่เพียงแต่จะกำหนดกฎกติกาให้พรรคใหญ่กลายเป็นพรรคเล็ก ขณะเดียวกัน ฝ่ายของตนมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ที่จะ “ลากตั้ง” ของคนจำนวน 250 อยู่ใน ส.ว.

ตรงนี้เท่ากับพับสนามเล่น ปิดประตูแพ้โดยสิ้นเชิง

ได้กฎกติกามาหนักแน่น ใหญ่หลวงถึงเพียงนี้แล้วก็ยังไม่มั่นใจ และยังบังเกิดความหวาดกลัวว่าจะแพ้ จึงต้องเพิ่มล็อก คลายล็อก เพิ่มล็อก

สกัดขัดขวางแม้กระทั่งใน “โซเชียลมีเดีย”

ทั้งๆ ที่มีรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ ทั้งๆ ที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ทั้งๆ ที่จะมี 250 ส.ว.อยู่ในมือแล้วเหตุใดจึงต้องไปปิดกั้นผ่านกระบวนการ “โซเชียลมีเดีย” อีก

คำตอบ 1 เพราะแผน “จำกัด” ความใหญ่เล็กของพรรคการเมืองอาจล้มเหลว

อาจล้มเหลวเพราะฝ่ายตรงกันข้ามไม่ยอมเป็น “เป้านิ่ง” หากกำหนดแผนยุทธศาสตร์ผ่านกระบวนการสร้างพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองขึ้น

นั่นก็คือ มิได้มีแต่เพียงพรรคเพื่อไทย

หากแต่จากสถานการณ์ที่ขยายตัวไปเริ่มมีพรรคการเมืองอย่างพรรคอนาคตใหม่ เริ่มมีพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาชาติ ขยายการเจาะทะลวงทางการเมืองออกไปอีกหลายจุด

เท่ากับเป็นการสร้างแนวต้านใหม่ในทางการเมือง

พรรคประชาชาติเจาะเฉพาะกลุ่มมุสลิม เจาะเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคอนาคตใหม่เจาะเฉพาะคนรุ่นใหม่และใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นอาวุธสำคัญ

จึงจำเป็นต้องสกัด ขัดขวางผ่าน “โซเชียลมีเดีย”

เชื่อได้เลยว่าการนัดประชุมระหว่าง กกต. กับพรรคการเมืองในวันที่ 28 กันยายน จะกลายเป็นการประชุมที่ร้อนแรงอย่างยิ่งยวด

เหมือนกับ “กกต.” จะตกเป็น “จำเลย”

ไม่จริงหรอก กกต.อาจดำรงอยู่อย่างเป็นเหมือนหนังหน้าไฟ แต่ในที่สุดแล้วปลายหอกย่อมพุ่งเข้าใส่ “คสช.” จากทุกพรรคการเมือง

เว้นแต่บางพรรคที่งอก่องอขิงกับ “คสช.”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image