วีรพงษ์ รามางกูร : บรรยากาศการเลือกตั้ง

ทันทีที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา บรรยากาศการเมืองก็คึกคักขึ้นฉับพลัน สื่อมวลชนทั้งที่เป็นสื่อมวลชนหลัก เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อมวลชนอื่นๆ ล้วนมีความคึกคักในการเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมากขึ้น ทั้งพรรคการเมืองใหญ่ พรรคการเมืองเล็ก พรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนขั้วการเมืองที่อยู่ในอำนาจปัจจุบันก็เริ่มขยับเขยื้อน พรรคการเมืองเก่าแก่เริ่มจะเป็นข่าวให้ติดตามกันมากขึ้นในขณะนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนก็ประกาศเข้าร่วมขบวนการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหาร ให้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง โดยบางส่วนก็ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง บางส่วนก็จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคใหม่ที่แปรสภาพจาก กปปส. บางส่วนที่เคยลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วก็ประกาศจะกลับพรรคประชาธิปัตย์ลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

บรรดาผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะมีอายุมากกว่า 18 ปี เพิ่มเข้ามา เป็นที่จับตามองว่าจะมีพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งคราวหน้านี้อย่างไร ผลของการเลือกตั้งจะเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองหรือไม่ จากระบอบเผด็จการทหารจะนำไปสู่ระบอบการเลือกตั้งโดยประชาชนอย่างไร

การที่มีกลุ่มการเมืองประกาศที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหารปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อสานงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามที่ได้ประกาศไว้ แต่หลังจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบาลมาเข้าปีที่ 5 นี้แล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองและสังคมก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจของประชาชนมากนัก

Advertisement

เป้าหมายหลักของ คสช.ที่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญระบอบประชาธิปไตย จัดตั้งรัฐบาล “คนดี” สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย กลั่นกรองงบประมาณแผ่นดิน อันเป็นการใช้จ่ายเงินภาษีอากรที่เก็บมาจากราษฎรทั้งปวง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน ข่าวต่างๆ ก็จะเริ่มซาลง ความกระตือรือร้นของประชาชนที่ต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชนที่ดูจะคึกคักก็ค่อยๆ เงียบลง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความกระตือรือร้นของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการปกครองและการบริหารจัดการกิจการบ้านเมืองก็ยังไม่เกิด แม้แต่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะมีอายุเกิน 18 ปี ในปีหน้า ที่จะมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560

ขณะเดียวกัน กระแสการเรียกร้องให้ประเทศเกิดใหม่หรือประเทศที่ด้อยพัฒนาทางการเมือง ที่ยังไม่มีประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ไม่กี่ประเทศแล้วในโลก ซึ่งเคยนำโดยผู้นำสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็แผ่วลงหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นอกจากจะแผ่วลงแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังมีท่าทีทำตัวเป็นเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

ปกติกระแสการเปิดกว้างทางการเมืองตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย มักจะเป็นกระแสการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ทั้งจากในและนอกประเทศ ตรงกันข้ามกับระบอบเผด็จการ ทั้งที่เป็นเผด็จการฝ่ายขวาอันได้แก่ สังคมนิยมทหาร เช่น พม่า เผด็จการฝ่ายซ้ายอันได้แก่ เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือโดยฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่มักจะควบคู่กับการควบคุมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่สนับสนุนการค้าเสรีตามแนวทางขององค์การการค้าโลก หรือ WTO

ขณะนี้กระแสของโลกทวนกลับไปสู่ความเป็นเผด็จการทางการเมือง การกีดกันทางการค้าและการลงทุน ไม่สนับสนุนการค้าและการลงทุนเสรี กระแสความคิดต่างๆ ดังกล่าวกระทบต่อความรู้สึกของคนไทยและสังคมไทยอย่างมาก เพราะคนไทยมักจะไหลไปตามกระแสของโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งคนไทยขนานนามว่า “นานาอารยประเทศ” เสมอมาเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้ว

กระแสสากลดังกล่าว ทำให้คนไทยรู้สึก “เฉยๆ” ต่ออุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายสังคมนิยม หรืออุดมการณ์ฝ่ายขวา “เผด็จการทหาร” ไม่ต้องพูดถึงเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้งแบบอเมริกา หรือเผด็จการโดยรัฐสภาแบบอังกฤษ ซึ่งประชาชนมีสิทธิเปลี่ยนรัฐบาลและผู้นำของตนได้ทุกๆ 4 หรือ 5 ปี
ความรู้สึก “เฉย” ไม่เรียกร้องอะไรในทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่ครั้งหนึ่งเมื่อไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลทหาร อย่างรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร และรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็จะดำเนินการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่บัดนี้กลับไม่มีแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยเลย

การเลือกตั้งซึ่งกำหนดเวลามาแล้วว่าจะเกิดขึ้นหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และก่อนวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 จึงเป็นไปอย่างเนือยๆ เช่นเดียวกับคราวที่ให้มีการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านมา

การเลือกตั้งคราวหน้าก็จะเป็นการเลือกพรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดไว้เกือบจะตายตัวแล้ว พรรคเพื่อไทยก็จะถูกเลือกให้เข้าไปเป็นฝ่ายค้านอีกฝ่ายหนึ่ง ผลการเลือกตั้งคงจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร พฤติกรรมของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็จะแบ่งเป็นเลือกพรรคที่จะได้รับการเลือกให้เข้าร่วมรัฐบาลและพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้าน ส.ส.พรรคที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลน่าจะทำอะไรให้ท้องถิ่น ทำประโยชน์ให้ผู้ลงคะแนนเสียงได้มากกว่า ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านที่นำผลประโยชน์มาให้ไม่ได้หรือได้ก็น้อยกว่า

ความคิดเช่นนี้มีในภาคอีสานและภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ดังนั้น พฤติกรรมของราษฎรในภาคอีสานและภาคเหนืออาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ เพราะปกติแล้วทั้ง 2 ภาค 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ส.เดิมจะสอบตกในการเลือกตั้งคราวต่อไปถ้าไม่มีผลงาน ซึ่งต่างกับพฤติกรรมของผู้มีสิทธิออกเสียงในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งในภาคใต้ ซึ่งนิยมเลือกพรรคไม่สนใจผลงานของ ส.ส.แต่ละคน

ประมาณเดือนธันวาคมเราก็คงจะได้เห็นองค์ประกอบของวุฒิสภาทั้ง 250 คน ซึ่งจะเป็นการแต่งตั้งมาจาก คสช. 200 คน เป็นการเลือกกันเองตามสาขาอาชีพ 50 คน ซึ่งจะเป็นเสียงที่สำคัญในการประชุมรัฐสภาจำนวน 750 คน โดยมี ส.ส.จำนวน 500 คน จำนวนกึ่งหนึ่งของการประชุมรัฐสภาก็คือ 375 คน จึงหาได้ไม่ยากในการจะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่จะอยู่บริหารประเทศได้ก็คงต้องอาศัยเสียงจากประชาธิปัตย์ไว้รองรับด้วย

โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลจึงแทบจะไม่มี

ปัญหาของประชาธิปัตย์ในขณะนี้ก็คือจะวางตัวหรือวางจุดยืนในการหาเสียงอย่างไร เพราะอย่างไรเสียผู้คนก็ต้องถามว่าหลังเลือกตั้งจะเข้าร่วมกับพรรคสนับสนุนทหารจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าตอบว่า “ไม่” ก็จะเสียโอกาสและกลายเป็น “เสียสัตย์” หลังจากเลือกตั้ง ถ้าตอบว่า “ร่วม” ก็เสียจุดยืนในการหาเสียงในการเลือกตั้ง แม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ว่าพรรคจะมีจุดยืนอย่างไร ผู้สนับสนุนจำนวนนี้ก็ได้แก่ อาซ้อ อาซิ้ม อาเจ๊ และผู้มีอันจะกินในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และภาคใต้ การเมืองในพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับ คสช.

และกองทัพฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็พยายามชูประเด็นว่าการเลือกตั้งคราวหน้าเป็นการเลือกตั้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยแต่สนับสนุนการต่อท่อของระบอบเผด็จการทหาร โดยมี “สามมิตร”

ซึ่ง “ดูด” ออกมาจากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำประสานใน “การดูด” อดีต ส.ส.และอดีต ส.ส.สอบตกให้เข้ามาอยู่ในพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนนายกฯคนเดิม เพื่อรวมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล
ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งแสดงจุดยืนอยู่แล้วว่าจะสนับสนุน คสช. และอีกส่วนหนึ่งประกาศไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ฟังดูค่อนข้างสับสน แต่จริงๆ แล้วก็คือเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับทหาร เพราะรัฐบาลทหารหลังเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” จะขาดเสียซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ การดำรงอยู่กับรัฐบาลคือการควบคุมกลไกรัฐซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ

นับเป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบของประเทศไทย ซึ่งใช้ได้ผลระหว่างปี 2520-2530 แต่ใช้ไม่ได้ผลหลังการเลือกตั้งปี 2535 เพราะปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไปมากแล้ว และจะใช้ได้ผลหรือไม่หลังปี 2561 นี้ แต่ก็น่าจะลองสังเกตการณ์ต่อไปในแง่วิชาการทางรัฐศาสตร์ เพราะการเมืองและโครงสร้างอำนาจ ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยเราไม่เหมือนใครและไม่มีทางลอกแบบใครได้ พยากรณ์ไปล่วงหน้าก็ไม่ได้ ปัจจัยทางการเมืองของไทยอ่อนไหวและเปลี่ยนอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของประเทศด้อยพัฒนาทางการเมือง

แม้ว่าจะได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ และกำหนดวันเลือกตั้งว่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 แต่หลายคนก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่กำหนด เพราะเหตุที่ไม่เคยรักษาคำมั่นสัญญาและอาจจะมีการสร้างเหตุแทรกซ้อนให้มีการเลือกตั้งไม่ได้

จะเชื่อก็เมื่อถึงวันเลือกตั้งนั่นแหละ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image