ถอดสัญญาณ ‘บิ๊กตู่’ พรรคคะแนนเสียงมากสุดตั้ง รบ.

หมายเหตุ ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุถึงผลการเลือกตั้งว่าหากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรี รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการปลุกทำบัตรเสีย


ถวิล ไพรสณฑ์
อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดเรื่องการเลือกตั้งว่าผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 จะได้จัดตั้งรัฐบาล และต้องมาเป็นคะแนนที่มาจากการเลือกตั้งหรือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯเท่านั้น ท่านนายกฯพูดไปตามหลักการของกฎหมายโดยทั่วไป และเป็นหลักการของประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง ส่วนในอนาคต นายกฯจะทำตามที่ท่านพูดหรือไม่นั้น ผมมองว่าในเมื่อผู้นำประเทศพูดอะไรออกมาแล้ว ก็ต้องทำตามให้ได้ ตามหลักความเป็นจริงการทำงานระบบรัฐสภาจะเดินหน้าไปได้ก็ต้องให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรีถึงจะทำงานได้ ถ้าคนจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ คนที่เป็นนายกฯคือผู้ที่จะทำงานลำบากที่สุด เพราะไม่มีเสียงข้างมากในสภา ต่อให้มี ส.ว.250 คน ก็ยังลำบากอยู่ดี เพราะว่าในการทำงานออกกฎหมายบางอย่าง ส.ว.ไม่ได้มามีส่วนร่วมทั้งหมด เช่น กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่จะต้องเป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯก่อน ถ้านายกฯมีเสียงข้างน้อยจะทำงานอย่างไร สภาอาจจะอนุมัติงบให้น้อย หรือไม่อนุมัติงบให้เลยก็เป็นได้

ดังนั้น การทำงาน นายกรัฐมนตรีต้องมาจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีได้เสียงข้างมากจากสภาผู้แทนฯนั้นถูกต้องที่สุดแล้ว

Advertisement

ส่วนเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์มีความเป็นห่วงว่าบางพื้นที่เริ่มมีการรณรงค์ให้โนโหวตแล้วจะเป็นผลเสียของประชาชนเองนั้น เรื่องการโนโหวตเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ แต่การจะมาบอกว่าอยู่ดีๆ เรียนเชิญให้พวกคุณไปโนโหวตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะมีประชาชนมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งเยอะมาก เพราะผู้คนเขาเฝ้ารอการเลือกตั้งมากว่า 5 ปี ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจมา และสิ่งสำคัญคือ คนรุ่นใหม่ ที่เขาอยู่มาตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีคนรุ่นใหม่ที่อายุเข้าเกณฑ์มีสิทธิเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งมากกว่าล้านคน ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้แหละ ที่เป็นตัวแปรในการเลือกตั้งครั้งนี้ แล้วจะไปชี้นำคนกลุ่มนี้เขาไม่ได้ง่ายๆ ด้วย เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนทันยุคทันสมัย มีความกระตือรือร้นมากกว่าคนรุ่นเก่าๆ

 

Advertisement

ชัยเกษม นิติสิริ
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.)

หากเสียงมาจากการเลือกตั้ง สมมุติว่าไม่ใช่พรรคที่สนับสนุนรัฐบาลมาที่ 1 แล้วจัดตั้งไม่ได้ เขาก็ต้องดูว่าใครคือผู้มีเสียงในสภา ซึ่งเขาเองมีอยู่แล้ว 250 เสียง ก็มาบวกกับใครก็แล้วแต่ก็เป็นได้ ฟังได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย คือ ยังไงผมก็ยังเป็นได้ต่อ ทั้งนี้ จริงๆ แล้วท่านพูดตามรัฐธรรมนูญนั่นแหละ ถ้าท่านพูดเพียงแค่ว่า ถ้าใครได้เสียงข้างมากจากการเลือกตั้งก็ตั้งรัฐบาลไปถ้าแบบนี้ก็ชัดเจนแจ่มแจ๋วสิ นักเลือกตั้งทั้งหลาย หรือนักการเมืองทั้งหลายคงจะนั่งยิ้มได้ แต่นี่ยิ้มไม่ออกกันหรอก เพราะเหมือนเดิม คือเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่วางไว้แล้ว ไม่ได้มีอะไรที่ผิดแผกไปเลย การพูดอย่างนี้ คือใครได้เสียงข้างมากก็จะมีสิทธิเสนอนายกฯได้ก่อน แต่หากคุมเสียงข้างมากในสภาไม่ได้ ในที่สุดก็เป็นเรื่องของสภาที่เอาคนนอกเข้ามาเป็นได้ ทั้งนี้ จะไปว่าอะไรไม่ได้ที่พูดแบบนี้ เพราะถ้าให้ท่านอธิบายท่านก็ต้องบอกว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น คุณไปลงประชามติรัฐธรรมนูญมาแล้ว ก็เป็นไปตามนั้น พูดง่ายๆ ว่าท่านก็ยังมีสิทธิอยู่นั่นแหละ ก็สะท้อนว่า อย่าลืมผมก็แล้วกัน ผมยังมีสิทธิ แต่อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีดูแลประเทศอยู่อีกหลายเดือนอาจจะสะดุดขาตัวเองล้มลงไป หรือมีใครที่คิดว่าไม่เหมาะสม ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้

ส่วนกรณีที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาระบุนายกห่วง เรื่อง รณรงค์ ให้ทำบัตรเสีย หรือโหวตโนนั้น ผมยังไม่เห็นว่าจะมีใครทำแบบนั้นเลย ท่านมโนเอาเองหรือไม่ ใครไปให้ข้อมูลอะไรถึงทำให้ท่านคิดได้แบบนั้น อยากถามว่าท่านคิดได้อย่างไรว่าคนจะไปทำเช่นนั้น วันนี้ทุกคนอยากเลือกตั้ง อยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราอยากเห็นทุกคนไปใช้สิทธิแล้วเลือกพรรคที่ตัวเองชอบ และเห็นว่าดี รวมถึงมีนโยบายที่ถูกใจ ไม่มีใครไปคิดรณรงค์อะไรแบบนั้นหรอก

 

ภราดร ปริศนานันทกุล
แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

พรรคชาติไทยพัฒนามีความชัดเจนว่า เราไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอกอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีที่เราจะสนับสนุนหรือคัดเลือกนั้น จะต้องเป็นคนในโดยเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องฟังเสียงประชาชน เพราะเมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แล้วนั้นย่อมแสดงว่า ประชาชนให้ความมั่นใจกับพรรคการเมืองนั้น ดังนั้น พรรคก็จะดำเนินการตามเสียงของประชาชน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดว่า พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.เกิน 25 คนมีสิทธิที่จะเสนอชื่อบุคคลสนับสนุนแข่งขันให้โหวตเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยตนมั่นใจว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะได้ส.ส.เกินจำนวนดังกล่าวแน่นอนเพื่อให้ได้รับสิทธิเสนอชื่อ โดยพรรคจะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคไว้ในบัญชีนายกรัฐมนตรี แต่หากได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอก็ต้องไปสู่ก๊อก 2 คือการมาเลือกกันเอาจากบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอชื่อมาว่า ใครจะมีความเหมาะสมที่สุด แต่เราจะไม่เดินไปถึงก๊อก 3 ด้วยการเลือกคนนอกที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นมา

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานราชการไปทำความเข้าใจกับประชาชนหลังพบการรณรงค์ให้กาบัตรเสียและโหวตโนนั้น ผมไม่เคยเห็นกระแสข่าวว่า มีการรณรงค์เช่นนั้น แต่อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้โหวตโนไม่น่าจะผิดกฎหมาย เพราะในบัตรเลือกตั้งก็มีช่องให้ลงคะแนนว่า ไม่ประสงค์ที่จะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดเลยอยู่แล้ว ดังนั้นคนบางกลุ่มที่เขาปฏิเสธการเมืองสามารถรณรงค์ให้โหวตโนได้ ตรงนั้นถือเป็นสิทธิ แต่ในทางตรงกันข้ามหากรณรงค์ให้โนโหวต หรือไม่ให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผิดกฎหมายแน่ เพราะในรัฐธรรมนูญระบุว่าการเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของพลเมือง

 

ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

ส่วนตัวไม่ทราบเรื่องการรณรงค์ว่ามีกระแสจากที่ไหนและใครเป็นคนทำ ไม่ว่าเป็นเรื่องโหวตโนหรือบัตรเสียนั้น ความจริงการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะอยู่ในกรอบของกฎหมาย เป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้ ซึ่งนายกฯชอบพูดในประเด็นต่างๆ ว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น
ขอให้ท่านไปเปิดดูกฎหมายก็จะทราบว่าสิ่งนี้สามารถทำได้ ไม่เช่นนั้นก็ไปพูดคุยกับที่ปรึกษาทางกฎหมายของท่านได้เลย

การที่นายกฯอยู่มา 4 ปี จะต้องกลัวหรือกังวลอะไรกับประเด็นนี้ บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยเพียงพอหรือ ถ้าจะกลัวเรื่องแค่นี้ แสดงว่าการทำงานเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผลใช่หรือไม่

การโหวตโนหรือกาบัตรเสียไม่น่าจะส่งผลต่อคะแนนระหว่างพรรคการเมืองและคู่แข่งต่างๆ คาดว่าการรณรงค์เช่นนี้น่าจะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดการแห่ไปโหวตโนเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคนั้นๆ นอกจากนี้ แต่ละพรรคก็มีฐานเสียงของตนเองอยู่แล้วเช่นกัน ส่วนจะโหวตโนหรือกาบัตรเสียนั้น คิดว่าเป็นการบ่งบอก เป็นการแสดงออกทางประชามติแบบหนึ่งของประชาชน ฉะนั้น นายกฯควรจะได้ทราบว่าประชาชนคิดอย่างไรกับรัฐบาลและการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเหตุผลที่มีกระแสข่าวดังกล่าวมาจากการที่ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความหมายอะไร อย่างไรก็ตาม แม้ประชาชนจะโหวตโนก็ไม่น่าจะมีผลอะไรมากนัก เพราะถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

ทั้งนี้ ขอให้นายกฯแสดงออกให้ชัดเจน หากอยากเป็นนายกฯต่อก็ชี้แจง และขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคนั้นๆ เลย ไม่ควรหน้าไหว้หลังหลอก และไม่ควรบ่ายเบี่ยงที่จะประกาศจุดยืนของตัวเอง

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ด้านผลดีผลเสียมองว่าไม่มี แต่เป็นการแสดงออกถึงสิทธิทางการเมืองบางอย่างต่อการเลือกตั้ง ต่อกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ที่คนปฏิเสธ แม้ยังไปใช้สิทธิในฐานะพลเมือง แต่แสดงสิทธิไม่ยอมรับกติกาการเลือกตั้ง น่าสนใจว่า ถ้าคนออกมาแสดงสัญญะเช่นนี้จำนวนมาก นั่นคือกาบัตรเสียหรือไม่เลือกใครเลย แสดงว่ากระบวนการหรือกติกาทั้งหมดมีปัญหา ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก รวมทั้งกระบวนการทางการเมืองที่ คสช.ทำไว้ สะท้อนว่าคนไม่ยอมรับ อยากแก้ปัญหา อยากร่างรัฐธรรมนูญ หรือออกกฎหมายที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากกว่านี้ ดังนั้น เมื่อคนไม่ยอมรับกติกาเหล่านี้ทำให้ความชอบธรรมของ คสช.ทั้งหมดยิ่งตกต่ำลงไปอีก

คสช.ได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว แต่ก็บอกว่าจะใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดในประเทศ 4 ปี ปรากฏว่าออกมาเป็นรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายลูก แล้วไปสู่การเลือกตั้ง แต่หากคนจำนวนมากไม่ยอมรับแสดงว่ากติกานี้ไม่มีความชอบธรรม แสดงว่า 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ล้มเหลวด้านปฏิรูปการเมืองและการปรองดองการเมืองใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนเข้าสู่กระบวนการแสดงสิทธิพลเมือง แต่ไม่ยอมรับ แสดงว่าคุณล้มเหลว ทั้งแง่การแก้ปัญหาการเมืองตลอด 4 ปี และแง่การออกกฎหมาย ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และกฎหมายเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ถ้ามีจำนวนบัตรเสียหรือโหวตโนจำนวนมาก หรือเกิน 200,000 เสียง หมายความว่าเสีย 1 ที่นั่ง ส.ส.และปาร์ตี้ลิสต์ แต่ต้องดูสัดส่วนในการเฉลี่ยว่า ถ้า 200,000 เสียงเท่ากับ ส.ส. 1 คน เท่ากับว่าโอกาสที่จะได้ ส.ส.ย่อมเสียไป โอกาสปาร์ตี้ลิสต์ก็เสียไปด้วย โดยจำนวนที่มากขนาดนี้แสดงนัยว่าเป็นกติกาที่ร่างมาโดยไม่ชอบธรรม กระบวนการโดยไม่ชอบธรรม แต่คิดว่าคงไม่เกินแสนเสียง

เมื่อไม่รู้ว่าคนกลุ่มไหนเชิญชวนให้ทำ แต่เข้าใจว่ากลุ่มนี้เป็นขบวนการต่อเนื่องจากการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลุ่มคนที่แสดงจุดยืนต่อเนื่องว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านแล้วก็ต้องแสดงให้เห็นว่ากติกาฉบับนี้ใช้ไม่ได้ แม้จะยังยอมรับสิทธิพลเมืองในการไปใช้สิทธิ แต่ไม่ลงคะแนนเสียง ทำให้บัตรเสีย ซึ่งเป็นการต่อสู้อย่างหนึ่งของภาคพลเมืองที่ไม่ยอมรับกติกาที่ไม่ชอบธรรม ขณะเดียวกันการเลือกตั้งยังดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น ถ้าอยากแก้ปัญหานี้ รัฐบาลต้องมีความจริงใจมากกว่านี้ เช่น ปลดล็อกทางการเมือง เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ และนายกฯต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรต่อ และอย่าให้สถานการณ์คลุมเครือ เพราะเมื่อสถานการณ์คลุมเครือแล้ว รัฐบาลกลับใช้มาตรา 44 เป็นเครื่องมือจัดการความคลุมเครือนี้ สร้างแรงกดดันรอบด้านมากขึ้นกับการเมือง กับรัฐบาล ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองในภาพรวมด้วย

เมื่อมาขนาดนี้แล้วควรแสดงจุดยืน ยกเลิกมาตรา 44 ปล่อยให้กลไกทางการเมืองทำงานตามระบบปกติ จะผิดหรือถูกก็ให้กติกาทางกฎหมายเป็นตัวจัดการ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องกล้าไว้ใจประชาชน เพื่อประชาชนจะได้เติบโตพอเพื่อเรียนรู้การเมืองด้วยตัวเอง ไม่ต้องผูกขาดความเป็นห่วงเป็นใย ไม่ต้องคิดแทนประชาชนอย่างที่ผ่านมา

กรณีพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดสามารถจัดตั้งรัฐบาลและตั้งนายกฯนั้น ถ้อยคำของนายกฯชัดเจนอยู่แล้ว นั่นคือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคที่ต้องมีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุด แต่ถ้าเป็นเสียงในสภาสามารถแปลความถึงอย่างอื่นได้ เช่น การนำ ส.ว.มารวม มีการจัดตั้งรัฐบาลก่อน หรือยกมือโหวต โดยใช้เสียงข้างมากในสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image