มติเอกฉันท์! สนช. ผ่านกม.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

แฟ้มภาพมติชนออนไลน์

สนช.ผ่านกม.ปิโตรเลียม เปิดช่องเอกชนไม่ต้องวางหลักประกันรื้อถอนแท่นและดูแลสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเอกฉันท์ 164 คะแนนเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. …. ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยระหว่างการประชุมได้มีสนช.อภิปรายสอบถามถึงสาเหตุที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญได้ตัดเนื้อหาในมาตรา 4 และ มาตรา 8 ออกไป โดยมาตรา 4 เป็นบทบัญญัติว่าการให้เอกชนผู้รับสัมปทานหรือสัญญาในการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม ต้องวางเงินเป็นหลักประกันในการรื้อถอนแท่นที่หมดสภาพการใช้งานแล้วหลังหมดอายุสัมปทานหรือสัญญาการสำรวจผลิตปิโตรเลียม ส่วนมาตรา 8 เป็นเนื้อหาที่ว่าด้วยการให้เอกชนต้องวางเงินหลักประกันเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดปัญหาจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์

ด้าน พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร ประธานกมธ. ชี้แจงว่า กมธ.ได้พิจารณาลงในรายละเอียด มีเหตุผลที่ต้องตัดมาตรา 4 ออกไปด้วยเหตุผล 3 ประการ 1.โดยข้อเท็จจริงผลประกอบการสัมปทานของธุรกิจปิโตรเลียมช่วงปลายสัมปทาน มักจะประสบกับผลขาดทุน เพราะผลผลิตน้อย จึงจำเป็นต้องเอาผลการขาดทุนมาหักออกจากหลักประกันที่จะนำมาเป็นรายได้ก่อน ยกตัวอย่าง ในปีที่ผู้รับสัมปทานมาขอคืนหลักประกัน 1 แสนล้านบาท ปรากฎว่าบริษัทมีผลขาดทุน 5 หมื่นล้านบาท จะต้องนำผลขาดทุนหักออกจากมูลค่าหลักประกัน ซึ่งจะเหลือกำไรสุทธิ 5 หมื่นล้าน โดยเมื่อคิดภาษีเงินได้ 40 % เท่ากับ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้น แทนที่รัฐจะได้รับภาษีเต็มจำนวนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผลการขาดทุนเพิ่มมากขึ้นจนเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าหลักประกันที่นำมาวางไว้ จะทำให้รัฐไม่ได้รับภาษีส่วนนี้คืนเลย

“การขอคืนหลักประกันและนำมาเป็นรายได้ ยังจะเป็นภาระค่าจ่ายทางภาษีของบริษัท ซึ่งการที่บริษัทประกอบกิจการในช่วงปลายสัมปทาน เมื่อประสบผลขาดทุนและยังต้องมีภาระทางภาษีอีก ก็จะไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัททำผลกำไร ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนปีนั้น 5 หมื่นล้านบาท เมื่อขอคืนหลักประกันจำนวน 1 แสนล้านบาท บริษัทก็จะมีกำไร 5 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องพยายามไปหาเงินมาเสียภาษีอีก 2 หมื่นบาท ซึ่งจะไม่เกิดแรงจูงใจเพื่อจะประกอบธุรกิจให้มีกำไร ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐมีโอกาสสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้ค่อนข้างสูง โอกาสที่จะได้ภาษีมีน้อยมาก”

Advertisement

พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า 2.โดยข้อเท็จจริงแล้วค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทหรือผู้รับสัมปทานสามารถนำมาหักและนำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวนภาษีเงินได้ได้อยู่แล้ว หมายความว่า ถ้ารื้อถอนไปแล้วและบริษัทมีค่าใช้จ่าย 1 แสนล้านบาท ก็นำเงินจำนวนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหักภาษี และจะได้รับเงินภาษีคืนไป 4 หมื่นล้านบาท เหมือนกับบริษัทจ่าย 6 หมื่นล้านบาท และรัฐจ่าย 4 หมื่นล้านบาทในการรื้อถอน ดังนั้น หากมีกรณีที่ต้องจ่ายภาษีในส่วนของหลักประกันเพิ่มขึ้นอีก เท่ากับว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้ในส่วนนี้เป็นต่อที่สอง เช่น ถ้าบริษัทขาดทุนจนไม่ได้รับเงินคืนเลย แทนที่รัฐจะเสีย 4 หมื่นล้านบาทร่วมกับบริษัท รัฐจะเสีย8 หมื่นล้านบาท หรือ 80 % ของมูลค่าทั้งหมด ซึ่งรัฐเกือบจะเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนแต่เพียงผู้เดียว

พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า 3.การนำหลักประกันมาเป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีนั้นไม่เคยมีการดำเนินการมาก่อนในประเทศไทย ถ้าตราเป็นกฎหมายออกไปจะเป็นตัวอย่างให้ธุรกิจสัมปทานประเภทอื่นๆนำมาเป็นแบบอย่าง และจะเป็นปัญหาทางภาษีหรือรายได้ของรัฐต่อไปในอนาคต ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาทั้ง 3 เหตุผลแล้ว จึงเห็นควรให้ตัดมาตรา 4 และ มาตรา 8 ออกจากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้กมธ.ได้พยายามทางออกอื่นๆ เช่น การแก้ไขให้เก็บภาษีเต็มจำนวนโดยไม่นำเรื่องผลกำไรขาดทุนมาเกี่ยวข้อง แต่ได้รับคำชี้แจงจากกระทรวงการคลังว่าจะเป็นปัญหาในการเก็บภาษีในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image