ครม.อนุมัติหลักการ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาใน 33 จังหวัด พร้อมให้เงินกู้

ครม.อนุมัติหลักการ โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในพื้นที่ 33 จังหวัด พร้อมให้สินเชื่อเงินกู้เกษตรกร วงเงินไร่ละ 2,000 บาท ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 25 มกราคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยการแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวโดยให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนนั้นมีมานานแล้ว และพบว่าราคาข้าวในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้น ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาไม่ให้ราคาข้าวตกนั้นคือการให้เกษตรกรไม่ฝากชีวิตไว้กับการปลูกข้าว แต่ให้ปลูกพืชชนิดอื่นด้วย แต่ต้องเป็นพืชที่ตลาดต้องการ และอยู่ในพื้นที่ที่สามารถบริหารจัดการเรื่องน้ำได้ ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง ในแต่ละปีมีผู้ประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน ขณะที่เราสามารถผลิตได้ปีละ 4 ล้านตัน ยังมีความต้องการอีก 4 ล้านตัน

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเข้ามาทดแทนการปลูกข้าวได้ จึงมีโครงการเชิญชวนเกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูการทำนา โดยมีเป้าหมายการดำเนินการอยู่ในพื้นที่ 33 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.กำแพงเพชร แพร่ พิษณุโลก เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ ลำพูน นครสวรรค์ สุโขทัย ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ น่าน พิจิตร และอุทัยธานี ภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ นครพนม บุรีรัมย์ หนองคาย สกลนคร ศรีษะเกษ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท และสระบุรี และภาคตะวันออก ได้แก่ ปราจีนบุรี รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ โดยพิจารณาพื้นที่ที่จะทำโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นอกเขตชลประทานที่มีศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เว้นแต่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสถาบันเกษตรกร และมีความประสงค์ขอรับสินเชื่อ

Advertisement

“ครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้เงินเหมือนที่ผ่านมา ที่เคยให้ไร่ละ 2,000 บาท แบบให้เปล่า แต่ครั้งนี้จะให้สินเชื่อ คือให้กู้วงเงินไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย และ ธ.ก.ส. จะคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี แต่เก็บพี่น้องเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรร้อยละ 0.01 ที่เหลือร้อยละ 3.99 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระยะสั้น ซึ่งเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่กู้ไปต้องชำระเงินคืนภายในไม่เกิน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่กู้ หากมีเหตุจำเป็น ต้องชำระเงินคืนภายในไม่เกิน 12 เดือน ถ้าไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามกำหนด ก็ให้ ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเพิ่มกับเกษตรกร โดยเป็นไปตามประกาศของธนาคารได้” โฆษกรัฐบาลระบุ

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งเขาก็ตอบรับ ทั้งนี้หากเกษตรกรทำได้ตามกติกา จะมีกำไรตันละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกข้าวแล้วจะต่างกันมาก โดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จะมีรายการสั่งซื้อข้าวโพดเข้ามาก่อนที่จะกำหนดว่าจะปลูกในพื้นที่ไหน เท่าไร ดังนั้น ยืนยันได้ว่าข้าวโพดที่จะปลูกสามารถจำหน่ายได้ครบทั้งหมด ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ลดงบประมาณลงได้มาก จากเดิมจ่ายให้เกษตรกรแบบฟรีๆ ไร่ละ 2,000 บาท ใช้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ ใช้งบประมาณ 461 ล้านบาท รวมถึงทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอเรื่องการประกันภัยความเสี่ยงให้เกษตรกร โดยรัฐจะสนับสนุนเบี้ยประกันภัยให้ 65 บาทต่อไร่ งบประมาณ 130 ล้านบาท ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ หากมีอะไรเกิดขึ้นเกษตรกรก็ยังได้รับเงินชดเชย แต่ครม.เห็นว่าเรื่องการประกันภัยต้องให้คณะกรรมการนโยบายและการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการก่อน

“ ถือเป็นทางเลือกอีกทางที่ทำให้เกษตรกรสามารถมีพืชที่จะปลูกแล้วเป็นรายได้ดีกว่าปลูกข้าว และไม่ทำให้ปริมาณข้าวล้นตลาด รวมถึงราคาไม่ตก นี่คือความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งระบบ ไม่ใช่ลักษณะที่ใครอยากปลูกข้าวก็ปลูกตามอำเภอใจ แล้วซื้อทุกเมล็ด จำนำทุกเมล็ด เราไม่ทำแบบนั้น ” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image