สถานีคิดเลขที่ 12 อย่าบิดการเมือง โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข

ระยะนี้ อะไรๆ ดูจะโยงเข้าหาการเมืองที่กำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งในต้นปี 2562

พรรคการเมืองต่างๆ นั้น แน่นอน เมื่อเป็นองค์กรหรือสถาบันทางการเมือง ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้ทางการเมือง ขยับยังไง ก็ย่อมต้องตอบสนองเป้าหมายทางการเมือง

อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังจะเลือกหัวหน้าพรรค มีแคนดิเดตมาท้าชิงหัวหน้าคนเดิม ย่อมต้องมีนัยยะ

อย่างที่ตีความกันว่า เป็นการแข่งขันเพื่อชิงพรรคไปสนับสนุนแนวทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แค่คน 2-3 คน มาลงแข่งขันเพื่อวัดกันสนุกๆ ว่า ใครจะมีแฟนคลับ หรือมี “ติ่ง” มากกว่ากัน

Advertisement

ถ้า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับชัยชนะ ปชป.อาจจะเดินทางหนึ่ง หรือถ้า อลงกรณ์ พลบุตร หรือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ชนะ ปชป.ก็อาจไปอีกทางหนึ่ง หรือพรรคเพื่อไทย ที่ว่าโพลลับและโพลเปิดเผยระบุว่า มาแรง จะเข้าป้ายมา 100 อัพ แน่นอน ส่อเค้าว่าจะทำให้วงแตก เกิดรายการ “เสียของ” ขึ้นมาอีก

ตอนนี้มีการจดทะเบียนพรรคสำรองไว้ เผื่อว่าพรรคหลักเจอปัญหา “ไปต่อ” ไม่ได้ กรณีของ 2 พรรคหลักนี้ เกิดอะไรขึ้น หรือไม่เกิดอะไรขึ้น ย่อมมีกลุ่มที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ส่วนรัฐบาลเอง มีการอนุมัติงบประมาณต่างๆ ไฟเขียวโครงการต่างๆ ย่อมหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการเมืองอีกแบบหนึ่ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกแล้วว่าสนใจงานการเมือง และ รมต.อีกหลายคน ก็ออกมาแย้มๆ ทำนองเดียวกัน ก็ถือว่าสอดคล้องกับการบริหาร การตัดสินใจของรัฐบาล ของคณะรัฐมนตรีในช่วงนี้

การแข่งขันทางการเมืองก็จะมีบรรยากาศแบบนี้ เป็นบรรยากาศของการหาคะแนนนิยม เอาอกเอาใจประชาชน แม้จะรังเกียจเดียดฉันท์การหาเสียงด้วยโครงการประชานิยม แต่เอาเข้าจริงๆ ก็หนีไม่พ้น แล้วก็เป็นเรื่องปกติ ที่จะมีการถกเถียง หาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของฝ่ายตน และหักล้างทำลายความนิยมของคู่แข่ง บางทีอาจเกินเลย มีการใช้วาทกรรมแรงๆ สาดใส่กันบ้าง ก็ยังต้องถือเป็นเรื่องปกติ

Advertisement

หลายคนอาจจะไม่คุ้น หรือลืมไปแล้วว่าบรรยากาศแบบนี้ เคยเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็จะเงียบไป เป็นการยอมรับผลที่ออกมา รอเวลาที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

ถ้าไม่ยอมรับว่าสังคมนี้ต้องมีการถกเถียง ต้องแสดงความเห็นต่างได้ หรือเห็นว่าการถกเถียงเป็นภัยคุกคามกระทบความมั่นคงของประเทศ ก็คงจะกลับไปสู่ระบบปกติได้ยาก แต่การถกเถียงหรือเห็นต่างต้องมีกรอบ เมื่อได้ข้อสรุปต้องจบ เช่นเลือกตั้งแพ้ต้องยอมรับ ถ้าเห็นว่ามีการโกง ก็ใช้สิทธิร้องเรียนและยอมรับในผลสรุป ไม่ใช่แพ้แล้วพาลไปแอบจับมือคนภายนอกเอาเข้ามาล้มกระดาน ล้มโต๊ะเสียงข้างมาก อาจไม่ใช่ความถูกต้อง แต่เป็นกติกาในการตัดสินเรื่องทางการเมือง ถ้าไม่ยอมรับกฎนี้ ก็ต้องเดินถอยหลังไปสู่ความเงียบกันต่อไป

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image