ปิดตำนาน’มังกรสุพรรณ’ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’

เช้ามืดของวันที่ 23 เมษายน นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จากภาวะหอบหืดกำเริบ สิริอายุได้ 83 ปี 8 เดือน สร้างความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

นายบรรหารเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของ นายเซ่งกิม และ นางสายเอ็ง แซ่เบ๊ เจ้าของร้านขายผ้า เดิมมีชื่อว่า นายเต็กเซียง แซ่เบ๊ มีข้อมูลการเกิดตามทะเบียนราษฎร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2475 แต่บางแหล่งกล่าวว่า วันเกิดที่แท้จริงคือ 19 กรกฎาคมของปีเดียวกัน ที่ จ.สุพรรณบุรี

เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนในตัวจังหวัด แล้วมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ในช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องหยุดเรียนไปช่วยพี่ชายทำงาน

ด้วยพื้นฐานอาชีพเดิมจากทางบ้านที่เกี่ยวข้องกับการตัดเย็บผ้า ทำให้มีความฝันอยากเปิดร้านตัดสูท แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันไปเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง

Advertisement

ซึ่งเริ่มต้นจากการมีโต๊ะทำงานเพียงตัวเดียว รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้การประปาส่วนภูมิภาค กระทั่งมีฐานะมั่งคั่ง

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ คุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา และหญิง 2 คน คือ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา และ น.ส.ภัคณีรัศ ศิลปอาชา

การจากไปของ นายบรรหาร ศิลปอาชา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แวดวงการเมืองไทยมาก

Advertisement

เพราะเขาคือตัวละครหลักที่โลดแล่นและสร้างสรรค์อยู่บนเวทีนี้มานานถึง 43 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้าวงการการเมืองตามคำชักชวนของ บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ

ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทย พ.ศ.2517 ในครั้งนั้นนายบรรหารดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกวุฒิสภาปี พ.ศ.2518

ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2519

นับตั้งแต่นั้นมานายบรรหารได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทยในปี 2523

นายบรรหารดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (5 สิงหาคม 2529 – 3 สิงหาคม 2531)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (4 สิงหาคม 2531 – 9 มกราคม 2533) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (มกราคม 2533 – ธันวาคม 2533)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (14 ธันวาคม 2533 – 23 กุมภาพันธ์ 2534) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร (7 เมษายน 2535 – 9 มิถุนายน 2535)

จังหวะเวลานั้นระดับความนิยมในตัวนายบรรหารเพิ่มขึ้น จากการดูแลและใส่ใจความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างสม่ำเสมอ และการนำความเจริญไปสู่จังหวัดบ้านเกิดอย่างสุพรรณบุรี

กระทั่งมีสมญานามมากมายตามมา ทั้ง “มังกรสุพรรณ”, “มังกรการเมือง”, “เติ้งเสี่ยวหาร” อันเป็นชื่อที่ถูกตั้งตามรูปลักษณ์และบุคลิกของเติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน

ปลายปี 2529 นายบรรหารและคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา มีหนังสือแจ้งความประสงค์จะบริจาคที่ดินจำนวน 9 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา

ให้กรมอาชีวศึกษาเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนสารพัดช่างในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยต้องการให้คนสุพรรณมีโอกาสร่ำเรียนวิชาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

กรมอาชีวศึกษาจึงเสนอกระทรวงศึกษาธิการขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนสารพัดช่างบรรหาร-แจ่มใสขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2529

ในปี 2537 นายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

นายบรรหารในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกเป็น ส.ส.จำนวนมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

และขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม 2538 -พฤศจิกายน 2539

“มังกรสุพรรณ” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 27 กันยายน 2539 เกิดการยุบสภา

การเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เป็นนายกรัฐมนตรี หนึ่งในผลงานที่เรียกได้ว่าสร้างรากฐานทางประชาธิปไตยแก่สังคมไทย คือ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540

พรรคชาติไทยนำโดยนายบรรหาร ริเริ่มทำให้เกิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองเข้ามาดำเนินการ

กระทั่งเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ถือได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง

นายบรรหารโลดแล่นทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีบางทีที่ต้องพบกับอุปสรรค อาทิ กรณีพรรคชาติไทยต้องคำสั่งให้ยุบ

แต่ถึงกระนั้นนายบรรหารไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรค ได้มีการจัดตั้งพรรคชาติไทยพัฒนาขึ้นมาแทนที่

ในด้านการพัฒนาเมือง นายบรรหารยังดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง

ในการจะการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ทั้งนี้เมื่อปี 2553 นายบรรหารได้ประสานให้กรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร และอำเภออู่ทอง พัฒนาคูเมืองโบราณอู่ทองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี

โดยอู่ทองนั้นเป็นเมืองโบราณที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเคยมีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิในยุคแรก

ดังนั้นเพื่อนำไปสู่เมืองสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม สะท้อนความเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแห่งแรกในประเทศไทย ศูนย์กลางการค้าขายทะเลโบราณ

และศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อารยธรรมสุวรรณภูมิ นายบรรหารจึงได้ตัดสินใจจับมือกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วน

ทั้งจากจังหวัดสุพรรณบุรี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมศิลปากร กรมโยธาธิการ กรมทางหลวง ฯลฯ

มาวันนี้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้วถึงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ควรศึกษา เรียนรู้ และเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การทุ่มเททั้งมวลที่นายบรรหารมีให้ประชาชนนั้น ได้รับการตอบแทนกลับคืนในรูปลักษณ์หอเกียรติยศ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา

หอเกียรติยศนี้ ชาวสุพรรณบุรีร่วมใจกันบริจาคเงินก่อสร้างโดยไม่ใช้งบราชการ

หอเกียรติยศดำเนินการออกแบบโดยกรมศิลปากร มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ภายในจัดแสดงประวัติและผลงานของ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการกรมศิลปากร ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 340) ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

รวมถึงหอเกียรติยศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตแก่เยาวชน

หอเกียรติยศมีอาคารจัดแสดง 2 ชั้น แต่ละชั้นมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ อาคารจัดแสดงชั้นที่ 1 จำลองบรรยากาศร้าน “ย่ง หยู ฮง” ในตลาดสุพรรณบุรี ราวปี 2487 แสดงภาพชีวิตวัยเด็กและหน้าที่รับผิดชอบที่เด็กชายบรรหารในวัย 12 ปีมีต่อครอบครัว

เล่าชีวิตนักสู้ของบรรหารจากสุพรรณบุรีที่ต้องช่วยเหลือพี่ชายทำงานจนในที่สุดก็มีกิจการเป็นของตนเองจนฐานะมั่นคง และชั้นนี้ได้จัดแสดงช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ของ “มังกรสุพรรณ”

เช่น อุปสมบท สมรส และจัดแสดงผลงานด้านต่างๆ

ขณะที่อาคารจัดแสดงชั้นที่ 2 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 21

การจัดแสดงผลงานและนโยบายสำคัญของรัฐบาลขณะบรรหารดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตลอดจนเกียรติคุณต่างๆ ที่ท่านได้รับ

เหล่านี้ล้วนเป็นเกียรติคุณ เกียรติยศที่นายบรรหารได้รับ ภายหลังทุ่มเทแลกทั้งแรงใจแรงกายเพื่อประชาชน

ระยะเวลาขณะที่นายบรรหารดำรงตำแหน่งทางการเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีได้หลุดพ้นจากภาพลักษณ์แบบ “ล้าหลัง”

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเขียนบทความถึงความเจริญของสุพรรณบุรีและอธิบายภาพรวมการพัฒนาของบรรหารในบทความ “อำนาจแห่งเอกลักษณ์ : ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556

มีใจความว่า เดิมทีแล้วสุพรรณบุรีเป็นแบบฉบับของจังหวัดที่ดู “ล้าหลัง” อันเนื่องมาจากรัฐส่วนกลางทอดทิ้งละเลย

กระทั่งในเวลาต่อมานายบรรหารได้พัฒนาทั้งจังหวัด นำมาสู่ถนนสายใหญ่ โรงเรียน และโครงการพัฒนาคุณภาพต่างๆ ไปจนกระทั่งความภาคภูมิใจในระดับท้องถิ่นของคนสุพรรณ

และนี่คือคำตอบว่าทำไม “บรรหาร ศิลปอาชา” จึงเป็นที่รัก

ข่าวอนิจกรรมของนายบรรหารจึงเป็นข่าวเศร้าของผู้ที่รักนายบรรหาร ศิลปอาชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image