‘ปัญหาใหญ่กว่าการทุจริต คือการต่อต้านทุจริต’ นักวิชาการญี่ปุ่นชี้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลาย ปชต.ไทย

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์จัดเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะรัฐศาสตร์ หัวข้อ “Anti-Corruption Politics สู้กับทุจริตเพื่ออะไร” บรรยายโดย ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ มหาวิทยาลัยเกียวโต ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ศ.โยชิฟูมิกล่าวว่า การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ แต่การต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาใหญ่กว่า เมื่อมีการทำลายประชาธิปไตย เมืองไทยปัจจุบัน การทุจริตเป็นต้นเหตุของเผด็จการทหาร เพราะเขาอ้างว่าทำเพื่อปราบปรามทุจริต กปปส.อ้างความร้ายแรงของการทุจริต เรียกร้องการแก้ปัญหาและการปฏิรูป โดย “คนดี” เหล่านี้ปฏิเสธทั้งทักษิณและประชาธิปไตย The Asia Foundation มีการสำรวจความเห็นผู้เข้าร่วม กปปส. ส่วนใหญ่อธิบายว่า มาชุมนุมเพื่อทำลายระบอบทักษิณ เพื่อปฏิรูประบบการเมือง เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อถามว่าการปฏิรูปคืออะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าปฏิรูปเรื่องการทุจริต และทักษิณทุจริตต้องกำจัด

“ถ้าเปรียบการทุจริตเป็นโรคมะเร็ง แต่การฆ่าผู้ป่วยไม่ใช่ทางที่ดี หากเข้าใจเรื่องการทุจริตไม่ดีพอ เราจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยง่ายขึ้น ‘การทุจริต’ ถูกมองได้ใน 4 มุมมอง 1.ตามกฎหมายกำหนด 2.ทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ 3.การทุจริตนอกอำนาจทางการ เช่น นักธุรกิจที่เป็นฝ่ายรุก ใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ 4.การร่างกฎหมายตามใจ เมื่อขาดคำนิยามการทุจริตที่ชัดเจนจึงเกิดปัญหา เช่น กรณีทางด่วนขั้นที่สอง (ทางพิเศษศรีรัช) บริษัทญี่ปุ่นลงทุนในบริษัทไทยทำสัญญากับรัฐบาลสร้างทางด่วนโดยเก็บค่าผ่านคันละ 30 บาท แต่หลังสร้างเสร็จรัฐบาลไทยขอร้องให้ลดเป็น 20 บาท ทางญี่ปุ่นปฏิเสธจึงต้องขายหุ้นทั้งหมด นักวิชาการคนหนึ่งอธิบายว่า นี่คือการทุจริตอย่างหนึ่ง

“เมื่อการทุจริตถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองและถึงที่สุดก็ปฏิเสธการเมือง โดยใช้เพื่อลบความชอบธรรมจาก 1.สิ่งที่คู่ต่อสู้ทางการเมืองกำลังกระทำอยู่ 2.กระบวนการหรือพฤติกรรมที่ตนเองไม่ชอบ ร้ายกว่านั้นคือ ด่าการทุจริตจนถึงรังเกียจการเมือง โดยมีแนวโน้มด่านโยบายอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทางการเมืองว่าเป็นการทุจริต”

Advertisement

ศ.โยชิฟูมิกล่าวอีกว่า กระแสต่อต้านการทุจริตทั่วโลกรุนแรงขึ้นใน 30 ปีที่ผ่านมา หลังปี 2540 เป็นต้นมา ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกมองการทุจริตเป็นศัตรูของธรรมาภิบาล จึงรับหน้าที่ต่อต้านการทุจริต ซึ่งมีส่วนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพราะไม่อยากเสียเปรียบนักธุรกิจที่ทุจริต และกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศมากขึ้น เมื่อองค์กรระหว่างประเทศช่วยอุดหนุนการต่อต้านการทุจริตบางพวก เช่น นักวิชาการกับเอ็นจีโอที่หากินกับงานนี้จนกลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง รวมถึงที่เมืองไทยมีเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น คอร์รัปชั่นเกิดเป็นศัตรูใหม่ในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อไม่มีคอมมิวนิสต์จึงต้องมีศัตรูใหม่เพื่อจับมือกันต่อสู้ เพื่อผู้ดำเนินการจะเกิดศีลธรรม

“การต่อต้านทุจริตในไทยรุนแรงขึ้นหลังตั้งองค์กรปราบปรามต่างๆ อย่าง ป.ป.ช. ที่เน้นด้านการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ปัญหาคือ การต่อต้านทุจริตไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เช่น ขบวนการยุติธรรมมีลักษณะเลือกปฏิบัติ การทุจริตเป็นข้ออ้างต่อต้านประชาธิปไตย และถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อีกทั้งไทยมีการปราบปรามการทุจริตที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่เสมอกัน เมื่อเทียบกับต่างชาติ เรื่องรถดับเพลิง กทม. ที่บริษัทออสเตรียติดสินบนให้ซื้อในราคาแพง กรณีนี้ประเทศไทยลงโทษหนัก แต่ที่ออสเตรียไม่เอาผิดบริษัทที่ติดสินบน แต่สั่งให้จ่ายค่าชดเชย กทม. หรือคดีมิตซูบิชิ MHPS ทำสัญญารับงานโรงผลิตไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช จ่ายสินบน 20 ล้าน อัยการญี่ปุ่นฟ้องพนักงานผู้ใหญ่สามคน ไม่โทษพนักงานพื้นที่ แต่ฝ่ายไทย ป.ป.ช.เปิดเผยว่า คนรับเงินคือข้าราชการกรมเจ้าท่า นักการเมืองท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจน้ำ 4-5 คน โดยอธิบายว่า จับมือกับฝ่ายญี่ปุ่นมาหลายปีแล้วจึงทราบว่าอะไรเป็นอะไร แต่ไม่นานนี้ กรรมการ ป.ป.ช.ตั้งใจพูดว่าการรับสินบนคดีเกิดขึ้นในการควบคุมของรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

Advertisement

“กรณี จีที 200 รัฐบาลไทยซื้อมาจำนวนมาก โดยเฉพาะกองทัพบก สมัย พล.อ.อนุพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. การใช้งานเกิดปัญหาตั้งแต่ปี 2551 มีผู้บริสุทธิ์ถูกจับจากการตรวจจับของเครื่องนี้ จนอังกฤษห้ามส่งออกปี 2553 และลงโทษผู้ผลิตปี 2556 มีคนร้องเรียนเอาผิดรวม 12 คดี ตั้งแต่ปี 2556 แต่ ป.ป.ช.ทำงานช้ามาก ล่าสุดกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ‘เครื่องนี้เป็นความเชื่อเหมือนพระเครื่อง ฉะนั้นมีประโยชน์’ มีบทความของบีบีซี เทียบคดี จีที 200 กับจำนำข้าวว่า ท่าที ป.ป.ช.ต่างกันมาก จีที 200 อยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐาน แต่จำนำข้าวความคืบหน้ารวดเร็วมาก มีการลงโทษไปแล้ว หรือในกรณีการขายข้าวแบบจีทูจีปลอมนั้น ที่มีการซื้อแพงขายถูกแล้วรัฐบาลขาดทุน ถ้าคิดแบบญี่ปุ่นไม่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นนโยบายสังคม (Social Policy) ค่าข้าวถึงมือชาวนาแล้วเรียกค่าเสียหายกับนายกฯได้อย่างไร หรือคดีโรงพัก 396 แห่ง สร้างไม่เสร็จตามสัญญาแต่บริษัทได้ค่าชดเชยจากรัฐบาล ดีเอสไอเห็นควรสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

“การเล่นการเมืองกับการทุจริต คือการตราหน้าว่าทุจริตเพื่อเรียกความชอบธรรมต่อการกระทำที่ผิดกติกา มีอะไรก็ตราหน้าว่าการทุจริตหมด ไม่ชอบนักการเมืองก็ว่าทุจริต โดยมีปัจจัยเสริมคือกระบวนการยุติธรรมที่ขาดความยุติธรรม แล้วองค์กรต่อต้านการทุจริตเชื่อถือได้แค่ไหน เมื่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นไทยแถลงว่าให้คะแนนร้อยเปอร์เซ็นต์ในความตั้งใจปราบปรามทุจริตในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

“ด้านประชาชนไทยที่สนับสนุนรัฐประหารสองครั้ง ปี 2557 และ 2549 เพราะหวังว่าทหารจะเข้ามาขจัดทุจริต และการเมืองจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการศึกษาว่าในบังกลาเทศและปากีสถานมีสถานการณ์เหมือนไทย ที่คนด่าการทุจริตของนักการเมือง ต้องการผู้นำที่อยู่เหนือการเมือง จึงเปิดทางให้ทหารเข้ามาแก้ปัญหา คนที่ไม่เชื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคพวกของคนโกง แต่ทำรัฐประหารแล้วก็ไม่ดีขึ้น เพียงแต่ทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น คนที่พอใจคือคนที่ต้องการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น”

ศ.โยชิฟูมิเสนอว่า ต้องแยกเรื่องการทุจริตกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะการบอกว่าขจัดทุจริตแล้วจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้นไม่จริง หรือบอกว่าเป็นประชาธิปไตยจะมีการทุจริตมากขึ้นก็ไม่เกี่ยวกัน ไม่มีการเลือกตั้งก็มีการทุจริต เราควรไว้ใจประชาชนมากขึ้น การเลือกตั้งเป็นวิธีที่ตรวจสอบอำนาจที่ดีอันดับหนึ่ง ถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีการตรวจสอบ ทหารข้าราชการทุจริตก็ทำอะไรไม่ได้ การให้ประชาชนตรวจสอบไม่ได้หมายความว่าลงโทษ แต่คือการให้ ส.ส.สอบตก เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับนักการเมือง

ด้าน ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยมีการคอร์รัปชั่น จนมีการเปรียบเทียบความสำคัญระหว่างคอร์รัปชั่นกับประชาธิปไตย จึงน่าคิดว่าสองสิ่งนี้เป็นเหตุเป็นผลกันหรือไม่ การต่อต้านคอร์รัปชั่นกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างไร กระแสต้านทุจริตมีอยู่ในหลายกลุ่มหลายพวก ทั้งจากการเคลื่อนไหวของประชาชน จากนักธุรกิจที่เสียประโยชน์ และจากองค์กรอิสระที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างเป็นทางการ เช่น ป.ป.ช. ซึ่งถูกลากเข้ามาหรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางการเมือง แทนที่จะเป็นองค์กรยับยั้งความขัดแย้งทางการเมือง การไม่ตัดสินของ ป.ป.ช.นั้นอาจน่ากลัวยิ่งกว่าการตัดสิน เพราะการลากยาวทำให้มีผลทางการเมืองมากกว่าการที่ ป.ป.ช.ตัดสินเสียด้วยซ้ำ เช่น หลายคดีในฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. ยิ่งทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น นำไปสู่คำถามว่าใครสามารถตรวจสอบ ป.ป.ช.ได้บ้าง

“ปัญหาคอร์รัปชั่นในไทยนอกจากถูกทำให้กลายเป็นการเมืองแล้ว คำจำกัดความการคอร์รัปชั่นก็ไม่แน่นอน เมื่อเข้าสู่การตัดสิน เรื่องจำนวนมากถูกทำให้เป็นปัญหาเชิงข้อกฎหมายมากกว่าจะมองว่าโกงหรือไม่ ทั้งที่การแก้คอร์รัปชั่นอาจไม่ได้แก้ด้วยกฎหมาย แต่เป็นเพราะระบบขาดการตรวจสอบจากประชาชน และ ป.ป.ช.เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปจัดการปัญหานี้ เมื่อทำหน้าที่นานเข้า ก็ถูกทำให้เป็นปัญหาเชิงข้อกฎหมายมากขึ้น

“4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราเห็นคือปัญหาคอร์รัปชั่นถูกฝังลงไปในรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรัฐที่ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือเผด็จการก็ไม่ได้ทำให้รูปแบบการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนแปลงไปนัก มีหลายกรณีในโลกที่การคอร์รัปชั่นลดลงในสังคมเผด็จการที่ต้องการการยอมรับจากประชาชน แต่ไม่ใช่เงื่อนไขอัตโนมัติว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการทำให้เกิดคอร์รัปชั่น แต่โครงสร้างรัฐต่างหากที่ทำให้คอร์รัปชั่นเฟื่องฟู จึงต้องแก้ที่โครงสร้างของรัฐ” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมฟังจำนวนมาก ทั้งนักศึกษา เจ้าหน้าที่สถานทูตต่างๆ และเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image