‘วิษณุ’ ขอ​อย่าวิจารณ์ 4 รมต.พปชร.​มาก​ ชี้ ทำหน้าที่-หาเสียง​ แยกกันยาก​

‘วิษณุ’ ขอ​ อย่าวิจารณ์มาก​ ปม​ 4 รมต.พปชร.​ แนะ ต้องระวัง​ เพราะการทำหน้าที่กับการหาเสียง​ แยกกันยาก​-เสี่ยงกว่านักการเมือง เพราะถูกเพ่งเล็งด้วย​ โต้​อาจารย์จุฬาฯ​ แจง​ กรณี​ 4 รมต.ไม่ใช่รักษาการ​ แค่มีบทบาทในพรรคการเมือง​

เมื่อเวลา 10.10 น. วันที่ 3 ตุลาคม ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี 4 รัฐมนตรีที่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ซึ่งไม่ได้ลงพื้นที่ จ.ลำพูน ร่วมกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ว่า การลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรีในเวลาราชการสามารถทำได้ หากไม่ได้ไปหาเสียง การเป็นรัฐมนตรีนั้นจะพูดว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ได้ เพราะเมื่อมีหน้าที่ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็บกพร่องต่อหน้าที่ ดังนั้น เมื่อปฏิบัติหน้าที่ก็อาจถูกมองว่าเป็นการหาเสียงได้ง่าย เพราะการทำหน้าที่กับการหาเสียงเป็นเรื่องที่แยกกันยาก แต่ถ้าทำดีๆก็สามารถแยกออกจากกันได้ ดังนั้น ความระมัดระวังจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ นอกจากนี้ รัฐมนตรียังมีหน้าที่ที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่น การเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) การบริหารงานในกระทรวง แต่ถ้าเอาหน้าที่เหล่านี้ไปใช้ในการหาเสียงก็เป็นเรื่องที่ผิด

“อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์กันทุกวัน เพราะรัฐมนตรี 4 คนนั้นได้ประกาศชัดแล้วว่า เมื่อถึงเวลาก็จะเคลียร์สิ่งที่ค้างคาที่สื่ออาจไม่ทราบและเป็นเรื่องที่อธิบายยาก” นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ฝ่ายการเมืองวิจารณ์ว่า ขณะที่ 4 รัฐมนตรีลงพื้นที่ได้ แต่พรรคการเมืองห้ามลงพื้นที่ นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไม่ได้ห้ามลงพื้นที่ ก็เห็นลงพื้นที่กันอยู่ทั่วประเทศไม่ใช่หรือ และไม่เห็นมีใครไปจับ รัฐบาลมีส่วนได้เปรียบเพราะรัฐบาลมีหน้าที่ ส่วนนักการเมืองนั้นไม่มีหน้าที่ พอทำสิ่งเดียวกันจึงอาจถูกมองว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เสียเปรียบเพราะถูกจับตาเพ่งเล็ง

Advertisement

เมื่อถามว่า หาก 4 รัฐมนตรีลาออก จะมีการปรับครม.ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่เคยพูด ในอดีตเคยมีกรณีที่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าง แต่มีคนอื่นรักษาการแทนอยู่ และตนไม่ขอพูดถึงเรื่องปรับครม. เพราะเป็นเรื่องของนายกฯว่าจะมีความคิดอย่างไร แต่รัฐมนตรี 4 คนนั้นเขาพูดแล้วไม่ใช่หรือว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะทำให้ข้อสงสัยหายไป เมื่อเขาตอบชัดแล้วจึงไม่ต้องแปลเป็นอย่างอื่น เมื่อถามต่อว่า เวลาที่เหมาะสมของ 4 รัฐมนตรีนั้น หมายถึงเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)การเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ถามพวกเขาสิ เพราะพวกเขาเป็นคนพูด”

ต่อข้อถามว่า ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงการที่ 4 รัฐมนตรีไม่ลาออก จะเป็นการสร้างมาตรฐานทางการเมืองในอนาคต นายวิษณุกล่าวว่า มันเคยมีมาตรฐานมาแล้วในอดีต และถ้าจะมีมาตรฐานตอนนี้หรือจะมีในอนาคตก็ไม่ใช่ปัญหา ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ผู้ร่างจะคิดเผื่อไว้ว่าถ้ารัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี หรือยุบสภา แล้วไปหาเสียงเพื่อเลือกตั้งเป็นรัฐบาลต่อไป ให้ดำรงตำแหน่งเดิมเพื่อรักษาการได้ แต่จะมีข้อควรระวังที่ห้ามปฏิบัติไว้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่กรณีที่คณะรัฐมนตรีหมดวาระ แต่เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีบางคนมีบทบาททางการเมืองในฐานะพรรคการเมืองก็เท่านั้น ดังนั้น จะเรียกว่ารักษาการก็ไม่ได้ เป็นเหตุการณ์ที่เบากว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลยุบสภาแล้วพากันไปลงเลือกตั้งเสียอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image