ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ “ขอความเชื่อมั่น-ไว้วางใจให้ คสช.เป็นผู้ดูแลผืนแผ่นดินไทย”

หมายเหตุ – พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ประเด็นมาตรการรักษาความสงบในช่วงก่อนจัดทำประชามติ

– มาตรการด้านความเรียบร้อยในช่วงก่อนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คสช.มีแผนรองรับอย่างไร

ในช่วงนี้ คสช.ต้องดำรงรักษาสภาพบ้านเมืองให้มีความสงบสุขร่มเย็น พร้อมทั้งสนับสนุนงานบริหารราชการแผ่นของรัฐบาลด้วยการติดตามข่าวสารข้อมูล อีกทั้งวิเคราะห์ ประเมินข้อมูลต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ติดตามการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในภาพรวมปัจจุบันเรายังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติอันจะนำมาซึ่งความไม่สงบสุขเรียบร้อยในบ้านเมือง ทำนองเดียวกันทาง คสช.ไม่ได้ประมาท เนื่องด้วยสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะยังคงมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังทุกพื้นที่เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน สถานีรถไฟ ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อรักษาความปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่นในพี่น้องประชาชน และชาวต่างชาติ

– ในช่วงใกล้ลงประชามติประเมินว่าจะมีสถานการณ์ที่รุนแรงหรือไม่

จากช่วงนี้ไปจนถึงกระบวนการประชามติ คสช.ยังมีเวลาประมาณเกือบ 4 เดือน มีการติดตามสถานการณ์เหล่านี้ไปต่อเนื่อง หากว่ามีอะไรที่เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่เรียบร้อย คสช.ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทันที ทั้งประเด็นการเมือง ประเด็นเศรษฐกิจ และภัยพิบัติต่างๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน เราจำเป็นต้องรีบเข้าดำเนินการทันที

Advertisement

– คสช.มีมาตรการเฝ้าระวังเช่นนี้ กรณีนักการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีมาตรการเชิญมาพูดคุยทำความเข้าใจอีกหรือไม่

ในเวลานี้ได้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 โดยหลักๆ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นต้นเรื่องที่จะดูแลว่าอะไรทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ฉะนั้นคนไทยทุกคนจะต้องเร่งศึกษา และทำความเข้าใจต่อกฎหมายฉบับนี้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องอ่านกฎหมายฉบับนี้ด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่คงต้องปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกัน เพื่อดูแลไม่ให้ใครกระทำผิดทั้งตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ทั้งนี้ความเข้มข้นของกฎหมายประชามติ คิดว่าน่าจะมีมากกว่าประกาศ หรือคำสั่งของ คสช. ในเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว คสช.คงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการเชิญคนมาพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว แต่จะลดระดับลงไป ต้องว่าไปตามกรอบของกฎหมาย ถ้าผิดก็ว่าไปตามนั้น ไม่ใช่ว่าหากทำผิดแล้วเราจำเป็นต้องเชิญมาพูดคุยแบบนี้ คงไม่ใช่แล้ว

– คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นยาแรง โดยเฉพาะมาตรา 61 ที่จะกำราบคนเห็นต่าง หรือไม่

เข้าใจว่า กกต.ร่างกฎหมายนี้ออกมาเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รู้ และรับทราบว่าอะไรทำได้บ้าง อะไรที่ทำไม่ได้ ซึ่งคิดว่าเป็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย ถ้าเราทุกคนรู้ว่าอะไรถูก อะไรที่ผิดแล้ว และดำเนินการไปตามกรอบกฎหมายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่คนที่คิดว่าจะกระทำผิด ทั้งจงใจ หรือไม่จงใจก็ตาม คือเป็นการละเมิดกฎหมาย ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการลงโทษ

– เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้วการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์อันเป็นพื้นฐานเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แปลว่าทำไม่ได้เลย

Advertisement

ต้องไปดูกรอบกฎหมายว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ประเด็นนี้ทาง กกต.จะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น ถ้าทุกคนเข้าใจแล้วจะต้องปฏิบัติตามก็เท่านั้น สำหรับคำถามที่ว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาชนไม่สามารถแสดงออกอะไรได้เลยนั้น ผมคิดว่าไม่เป็นแบบนั้นหรอก เพราะว่าเป็นกติกาของการทำประชามติให้เป็นความบริสุทธิ์ยุติธรรม อำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นอะไร ในทางตรงกันข้ามถือเป็นการวางกฎเกณฑ์ให้คนในสังคมมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากกว่า

– ให้พูดตรงๆ ก็คือการรณรงค์ทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐสามารถทำได้

กกต.เป็นต้นเรื่องในการชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ แต่การตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอำนาจของประชาชนว่าจะเลือกอะไร ขอย้ำว่าเราไม่ได้มีเจตนาไปชี้นำประชาชนว่าต้องรับหรือไม่รับ ในทางเดียวกันเราเพียงแค่รณรงค์ให้พี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิของตนเองเท่านั้น

– ประเด็นสำคัญองค์กรนานาชาติต่างๆ คงไม่เข้าใจเจตนาที่แท้จริง เพราะมองว่าเป็นการจำกัด และลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกมากกว่า ดังนั้นจะมีแนวทางการชี้แจงอย่างไร

หลักๆ คสช.ชี้แจงต่อประชาคมโลกตลอด โดยบอกถึงโรดแมปเสมอว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจะอธิบายเวลาที่เราเหลืออยู่ว่าจะทำอะไรบ้าง อาทิ จากนี้ไปจะมีการทำประชามติ หลังจากนั้นแล้วถ้าประชามติผ่านไปได้ก็จะมีการจัดทำกฎหมายลูกที่ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะมีการเตรียมการเลือกตั้ง จะไปลงเอยที่ปี 2560 พอดี แต่ว่าในช่วงบรรยากาศปีกว่าๆ คสช.ต้องดำรงรักษาความสงบสุข เพื่อให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย พร้อมทั้งวางอนาคต และมีการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้ประเทศเราที่ความเป็นสากลทัดเทียมนานาประเทศ นี่คือสิ่งที่เราได้ทำความเข้าใจในเวทีนานาชาติมาโดยตลอด และชี้แจงไปตามนี้ทุกครั้ง ไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเรายินดีที่จะชี้แจงทุกช่องทาง ผมขอย้ำว่าประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีมิตรประเทศไม่ว่าจะภูมิภาคใดก็ตาม เราต้องคบค้าสมาคมกับชาวต่างชาติ เนื่องด้วยมีความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน มีความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง การทหาร ความมั่นคง ฯลฯ แต่สิ่งที่เป็นข้อห่วงใยในเรื่องความกดดันอะไรต่างๆ เราจะมีการอธิบาย และการปฏิบัติที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ยืนยันได้ว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่นานาชาติแสดงความห่วงใย คสช.ปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ

– ในเมื่อชี้แจงให้ประชาคมโลกเข้าใจตามโรดแมปแล้ว แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่

ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติขึ้นมา คงมีกระบวนการต่างๆ ที่ฝ่ายกฎหมายได้เตรียมการไว้แล้วว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ทั้งนี้คงไม่เกินกรอบเวลาที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2560 และกรอบโรดแมปคงไม่ขยับเลื่อนออกไปไม่ว่าจะช้าหรือเร็วจะไม่เกินปีหน้าแน่นอน

– แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติที่ระบุว่าขอเวลา 5 ปี ประเด็นนี้จะอธิบายอย่างไร

อันนี้เข้าใจว่าท่านมองถึงกระบวนการวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาประเทศต้องมีความต่อเนื่อง หากผ่านการเลือกตั้งไปแล้วรัฐบาลมีความเข้มแข็งพอที่จะสานงานต่อให้เกิดความต่อเนื่อง คงไม่ใช่เจตนาที่จะอยู่ยาวหรอก คสช.ตระหนักและเข้าใจดีว่าที่เข้ามาบริหารประเทศ เนื่องด้วยมีความรุนแรงของแต่ละฝ่าย เราเข้ามาเพื่อระงับความรุนแรง ย้ำว่า คสช.เองต้องไม่กระทำตนเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ต้องระมัดระวังในการบังคับใช้กฎหมาย และใช้อำนาจที่ต้องอยู่ในขอบเขตมีความเป็นธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาล รวมทั้ง คสช.ยืนอยู่กับพี่น้องประชาชนตลอดเวลา ไม่มีเลยที่เรายืนอยู่ตรงข้ามพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก หากพี่น้องประชาชนที่ยังไม่เข้าใจ คสช. และอาจจะมีความคิดเห็นแตกต่าง เข้าใจไม่ถูกต้องเราต้องอธิบายผ่านสื่อมวลชนให้พวกเขารับรู้ว่า กรอบเวลา คสช.มีเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งปฏิรูปประเทศ และมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจให้ไปสู่การเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่เราอธิบายมาเสมอ ขณะเดียวกันเราขอความเชื่อมั่น และความไว้วางใจให้เราเป็นผู้ดูแลผืนแผ่นดินไทย

– สำหรับคนที่ยังเห็นต่าง และพยายามไม่เข้าใจจะมีวิธีการอย่างไร

ประชาชนคนไทย 70 ล้านคน คงเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะให้คนคิดเหมือนกันทั้งหมด แต่เราจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อให้คนหมู่มากในประเทศเห็นถึงความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา และดูแลพี่น้องประชาชน ในที่นี้ยอมรับว่าเราไม่สามารถที่จะทำให้คนทั้งหมดเห็นคล้อยตามได้ แต่เราต้องการให้คนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าใจถึงการปฏิบัติงาน และเชื่อมั่น พร้อมทั้งให้โอกาส คสช.ทำงาน ส่วนคนที่เห็นต่างรู้สึกไม่ดี หรือรู้สึกแย่นั้น ผมขอร้องให้มีความอดทน และปล่อยวางสักระยะหนึ่ง อีกไม่นานจะให้มีการเลือกตั้งแล้ว เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนต่อไป

– สุดท้ายเจตนารมณ์ของรัฐบาล และ คสช.วาดฝันอนาคตประเทศอย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ต้องเป็นประเทศที่มีความสงบสุข มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งความมั่นคง หมายความว่าประเทศมีความสงบสุข ส่วนความมั่นคงแปลว่าพี่น้องประชาชนมีความมั่งคั่ง ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของตนเอง มีอาชีพทำ ไม่ตกงาน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่มีความลำบากยากแค้น ส่วนความยั่งยืนเราพยายามทำให้ประเทศจะต้องไม่ถอยกลับไปสู่ความไม่เรียบร้อยแบบที่ผ่านๆ มาอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image