ต้องมองปวศ.แยกจากคน ‘กนกรัตน์’ เผยคนเดือนตุลาถูกตั้งคำถาม แต่ 6 ต.ค.เป็นพลังให้คนสู้ต่อ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่บริเวณสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานครบรอบ 42 ปี 6 ตุลา 2519 โดยมีผู้ทะยอยเดินทางเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ โดย เวลา 07.30 น. มีการตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป โดยมีผู้ร่วมทำบุญจำนวนมาก ต่อมา เวลา 08.30 น. เป็นพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ความถูกต้องในสังคมไทย เป็นบาดแผลของแผ่นดิน ที่ควรจารึกให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

จากนั้นเป็นการยืนสงบนิ่งเพื่อแสดงความอาลัยและคารวะต่อผู้เสียชีวิตโดยมีการอ่านรายชื่อผู้ล่วงลับทั้งหมด รวมถึงการวางพวงมาลาที่ “ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519” โดยผู้แทนองค์กรจำนวนมาก รวมถึงตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม LT1 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีการจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “เหตุการณ์ 6 ตุลากับอาจารย์ป๋วย” วิทยากร อาทิ มรว. สายสวัสดี สวัสดิวัตน, ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนายจอน อึ๊งภากรณ์. ดำเนินรายการโดย นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

Advertisement

จากนั้น เวลา 15.30 น. ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องคนเดือนตุลา ขึ้นกล่าวปัจฉิมกถา หัวข้อ “คนเดือนตุลาหลังเดือนตุลา”

ดร.กนกรัตน์ กล่าวว่าในวันที่ 6 ตุลา 2519 ตนอายุ 7 เดือน 8 วัน ยังอยู่ในท้องแม่ ซึ่งฝืนขับรถมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดี จึงกลับบ้าน ตอนเช้า พ่อโทรบอกว่าเกิดเหตุที่มธ. ต่อมา เมื่ออายุเพียง 3-4 ขวบ จำได้ว่าพ่อนำนสพ.เกี่ยวกับเดือนตุลาอ่านให้ฟังก่อนนอน เป็นการกล่อมด้วยการเล่าว่านักศึกษาถูกกระทำอะไรบ้าง และใครอยู่เบื้องหลัง ต่อมาเมื่อขึ้นม.ปลาย พ่อพาไปร่วมชุมนุมในช่วงพฤษภาทมิฬ จากนั้นในยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง พ่อยังเข้าร่วมชุมนุม แต่ตนกับพ่อคิดต่างกันแล้ว

Advertisement

สำหรับสถานภาพของคนเดือนตุลา และประวัติศาสตร์เดือนตุลา ตนมองว่าเป็นพัฒนาการที่แยกออกจากกัน ดังนั้น ถึงแม้คนเดือนตุลาจะขัดแย้งกัน หรือถูกตั้งคำถาม แต่ประวัติศาสตร์ บทเรียน และสถานะของ “เดือนตุลา” ยังมีพัฒนาการต่อไปท่ามกลางการเติบโตของการเมืองของคนธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายอนุรักษนิยม เดือนตุลายังเป็นเครื่องมือสำคัญของการเมืองและการอ้างอิง สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะชอบ ผิดหวัง หรือตั้งคำถาม กับคนเดือนตุลาหลังยุคตุลา แต่ในแง่ทางประวัติศาสตร์ พวกเขาคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่กลายเป็นต้นทุนทางการเมืองที่สำคัญ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการเมือง ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทยอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

“หลังการออกจากป่า เป็นยุคเริ่มต้นของคนเดือนตุลา หลังเดือนตุลา คนเหล่านี้ล้มเหลวในการรื้อฟื้นพลังนักศึกษา เพราะเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.ความสำเร็จในการกดขี่จนไม่เหลือพื้นที่ แม้การเมืองในประเทศดีขึ้น แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังมีอำนาจหลักทางการเมือง ระหว่าง พ.ศ.2526-2527 ยังมีการจับกุมนศ. เสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น มีนักข่าวถูกฆ่า 2.ความขัดแย้งกันเองทางความคิดตั้งแต่ก่อนเข้าป่า ไม่ไว้ใจกัน 3. การขาดการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง ไม่สามารถหาข้อสรุปทิศทางในอนาคตของขบวนการนศ. จึงล้มเหลวในการรื้อฟื้นขบวนการนศ.ฝ่ายก้าวหน้า

“นศ. ส่วนหนึ่งไม่สามารถกลับเข้าเรียนได้ ทั้งเงื่อนไขทางอุดมการณ์ และเงื่อนไขอื่น โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจาก พคท. บางส่วนมองว่าที่ผ่านมาเสียเวลาเปล่า ตอนเข้าป่า เพื่อนก้าวหน้าในหน้าที่การงานแล้ว หลายคนใช้เวลานานกว่าจะปรับตัวได้ คนเดือนตุลาถูกกลืนหายไป

“ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 คนเดือนตุลากลับมามีบทบาท แต่เป็นบทบาทในฐานะนักธุรกิจดาวรุ่ง นักวิชาการ นักนสพ. นักเขียน มีบทบาทนำขบวนการช่วง 2530-40 เช่น แกนนำมวลชนชั้นกลาง ช่วงพฤษภาทมิฬ คนเหล่านี้จัดตั้งมวลชนเป็น เข้าใจชนชั้นสูง พูดภาษาชนชั้นกลาง เข้าถึงชนชั้นล่าง” ดร.กนกรัตน์กล่าว

ดร.กนกรัตน์กล่าวอีกว่า บุคคลเหล่านี้มีบทบาทอย่างมาก ในกิจกรรมต่างๆ อาทิ การต่อต้านเขื่อน การปฏิรูปการเมือง เสนอความคิดวิพากษ์ เข่น นายธีรยุทธ บุญมี นอกจากนี้ส่วนหนึ่งกลับมาเป็นนักการเมือง ผู้ช่วยนักการเมือง ที่ปรึกษา และล็อบบี้ยิสต์ทั้งพรรคเทพ และพรรคมาร

“ช่วงปี 2531 คนเดือนตุลาสมัครส.ส. กลุ่มแรกที่สำเร็จคือกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ เป็นสายก้าวหน้า เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีฐานะ หลังพฤษภาทมิฬ ก็มีการเข้าสู่แวดวงการเมือง แต่ไม่ใช่ทุกคนสำเร็จ เพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง หลายคนไม่เคยชนะเลย เช่น อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย

ปลายทศวรรษ 2530 เราเห็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ สุนี ไชยรส ได้เป็น กรรมการสิทธิมนุษยชน บางคนได้เป็นส.ว.จากการเลือกตั้งชุดแรก เป็นการเฉลิมฉลองที่น่าตื่นเต้น

ต่อมาในยุค 2540 เราพบคนเหล่านี้ตามงานเสวนา ตามบทวิเคราะห์การเมือง โดยจุดสูงสุดคือช่วงกลางทศวรรษ 2540 ยุคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ทักษิณ ชินวัตร โดยอยู่ในฐานะสมาชิกพรรค ที่ปรึกษา นักวิเคราะห์นโยบาย นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันการจัดงานรำลึกเดือนตุลาอีกด้วย แต่ต่อมาคนเดือนตุลาถูกสั่นคลอนในยุคการเมืองสีเสื้อ ในยุคที่มีการเติบโตขึ้นของขบวนการต่อต้านทักษิณ คนเดือนตุลาโจมตีกันเอง หลายกลุ่มต่อต้านการเลือกตั้ง สนับสนุนการเมืองแบบราชการ ในขณะที่บางกลุ่มแม้ไม่เอาทักษิณ แต่ก็แสดงจุดยืนไม่เอารัฐประหาร ผลคือ ความขัดแย้งของคนเดือนตุลา งานรำลึกกลายเป็นเวทีปะทะคารม”

ดร.กนกรัตน์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้คนจำนวนมากตั้งคำถามต่อคนเดือนตุลา หมดความหวังกับคนเดือนตุลาโดยมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์หน้ามือเป็นหลังมือ หมดความภูมิใจในการเป็นคนเดือนตุลา อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าพัฒนาการของคนเดือนตุลากับเดือนตุลาแยกออกจากกัน แม้ความเป็นคนเดือนตุลาถูกสั่นคลอน สถานะของคนเดือนตุลามีพัฒนาการตลอดเวลา ในขณะที่สถานภาพ 6 และ 14 ตุลาได้ลงหลักปักฐาน ยังเป็นหมุดหมายของการเรียกร้องของประชาชน เหตุการณ์เดือนตุลาช่วยจุดไฟให้คนลุกขึ้นสู้ทางการเมือง เป็นแรงบันดาลใจให้ แม้ผิดหวังกับคนเดือนตุลา แต่ประวัติศาสตร์ยังเป็นพลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image