กระหึ่มโซเชียล ปรากฏการณ์ตั้งบุตรชายเป็นทหาร สะท้อน อำนาจการสื่อสาร อำนาจตรวจสอบ

กระหึ่มโซเชียล ปรากฏการณ์ตั้งบุตรชายเป็นทหาร สะท้อน อำนาจการสื่อสาร อำนาจตรวจสอบ

เรื่องที่คนพูดถึงกันมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ เห็นจะไม่พ้นเรื่องการแต่งตั้งเข้ารับราชการทหารของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ลงนามแต่งตั้งบุตรชาย คือ นายปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็น ว่าที่ร้อยตรี รับราชการเป็นนายทหารสัญญาบัตร ทำงานด้านกิจการพลเรือนเพราะจบนิเทศศาสตร์ โดยไม่มีการจัดสอบ

เรื่องนี้ถูกจุดประเด็นโดยเอกสารลับที่ถูกปล่อยออกมาทางสื่อออนไลน์ มี พล.อ.ปรีชา เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งด้วยตนเอง เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามท่านก็ยอมรับและระบุว่าเป็นเรื่องปกติ ทำไปตามระเบียบ ทั้งยังตัดพ้อเชิงน้อยใจ “คนอื่นๆ เขาก็ทำกัน”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ ระบุว่าการที่ปลัดกระทรวงกลาโหมลงนามแต่งตั้งบุตรชายเป็นนายทหารเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้ได้รับการแต่งตั้งมีคุณสมบัติตามระเบียบของกระทรวง และเหตุที่ไม่ต้องผ่านการสอบเพราะเป็นการแต่งตั้งจากตำแหน่งที่ขาดในการปฏิบัติหน้าที่ของกองทัพ จึงดูแค่คุณสมบัติและประวัติการกระทำผิดทางกฎหมายเท่านั้น

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะลุงแท้ๆ ระบุว่า การแต่งตั้งดังกล่าวทำกันมาทุกปี เป็นการแข่งขันส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับบน แล้วปลัดกลาโหมก็เซ็นชื่อไปในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจให้เซ็นชื่อ ซึ่งถ้าทำตามกฎหมาย ทุกอย่างก็จบ

Advertisement

ทั้งยังตัดพ้อกรณีมีคนวิจารณ์ว่า สงสัยคงจะต้องไปเปลี่ยนนามสกุล เลยดีไหม จะได้หมดเรื่อง

ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ ในสังคมและสื่อสารมวลชนมากพอสมควร ในเรื่องความถูกต้องและความเหมาะสม ตามมาด้วยกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือถึงประธานและกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบ โดยเห็นว่าอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่เพราะเป็นการอนุมัติให้ลูกชายเข้าเป็นนายทหาร จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์

ในประเด็นเรื่องการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม เป็นเรื่องหลักที่คนในสังคมจำนวนมากพูดถึง แต่เรื่องที่ชวนพูดคุยในกรณีนี้ จะชวนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสารและการปฏิวัติในเรื่องการรับรู้และการเข้าถึง “ข้อมูล”

Advertisement

ในโลกของการสื่อสาร โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีปัจจัยสำคัญมาจากพลวัตการเปลี่ยนแปลงบนโลกออนไลน์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนกับการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ ใครที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ทางการสื่อสารดังกล่าวได้ ก็จะมีอำนาจทางการสื่อสาร

เพราะโลกการสื่อสารในปัจจุบันไม่ได้ยึดติดว่าผู้ที่มีอำนาจทางการสื่อสารจะต้องเป็นผู้ที่มีทุน หรือมีอำนาจทางการเมือง-สังคมแบบในอดีต

แต่ในปัจจุบันอำนาจการสื่อสารจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า เรามีความสามารถในการผลิตหรือสร้างสรรค์เนื้อหาที่ดี ตรงใจกับประชาชน คนอ่านข่าวได้อย่างไรมากกว่า

ความเปลี่ยนแปลงเรื่องอำนาจทางการสื่อสารนี้เองซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญในปัจจุบัน เพราะการใช้อำนาจในรูปแบบระบบอุปถัมภ์ หรือการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตามระบบ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องที่ยากเย็นนักที่จะใช้รับรู้การกลไกของผู้มีอำนาจในการหาประโยชน์ส่วนตัว

แต่ในยุคที่อำนาจทางการสื่อสารของทุกคนเท่าเทียมกัน และการเปิดกว้าง สภาวะดังกล่าวทำให้การใช้อำนาจนอกระบบจะถูกพูดถึงในสาธารณะได้ง่ายขึ้น

ถามว่า ประเด็นดังกล่าวทำไมถึงถูกพูดถึงอย่างมากในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะในโลกออนไลน์

ก็เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ขัดต่อความรู้สึกของคนทั่วไปพอสมควร

และโดยสภาวะของโลกการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้การห้ามหรือการสั่งการไม่ให้พูด ทำไม่ได้มาก

ดังเช่นกรณีนี้ ด้วยรูปแบบสื่อที่เปลี่ยนไป หนังสือพิมพ์รายวันลดความสำคัญในแง่ของการเข้าถึงผู้คนลงไปมาก เพราะความต้องการในการเสพข่าวเป็นเรื่องของความเร็วไป สื่อออนไลน์ คือสื่อยุคใหม่ที่จะตอบสนองกับโลกทัศน์ของผู้คนได้มากขึ้น

ทันทีที่เอกสารหนังสือรับการแต่งตั้งดังกล่าวเผยแพร่ ได้มีการแชร์ต่อกันอย่างมาก โดยเฉพาะข่าวและบทสัมภาษณ์ที่ตอกย้ำความจริงในเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้น เพจข่าว และเพจแสดงความเห็นทางการเมือง ที่มีบทบาทสำคัญในการยกหรือชี้นำสังคม ให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่เป็นข้อขัดแย้งหลัก จนได้รับการพูดถึงทั้งบ้านเมือง ในหลายมุมมอง หลากสีสัน

ปฏิกิริยาจากโลกออนไลน์ เริ่มจากเพจดัง ขวัญใจวัยรุ่นและคนวัยทำงาน อย่าง Drama-addict ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่าล้านคน แสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวทันที โดยโพสต์ข้อความระบุว่า “อยากรู้จริงๆ ว่าถ้าในข่าวนี้ เป็นตระกูล ชินวัตร ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อข่าวนี้จะเป็นยังไง แต่ในยุคนี้ ก็นะ แบบว่า ทั้งหมดเป็นความผิดของคนที่ปล่อยเอกสารให้หลุดออกมาขอรับ!!!

หลังจากนั้น เพจ Drama-addict ได้โพสต์ เรื่องราวของ พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายของ “พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ก่อการใหญ่ ทำการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่ปฏิเสธกระบวนการฝากเข้าเป็นนายร้อย ปฏิเสธเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ และเลือกเรียน ร.ร.นายสิบ

เพจ Drama-addict ระบุอีกว่า “เราอยู่ในระบบที่เห็นเรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาไปเสียแล้ว เป็นแบบนี้ต่อไปมันจะดีแล้วจริงๆ หรือ ถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คงต้องเริ่มจากทุกคนนั่นแหละ ทั้งคนที่มีอำนาจมีเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ทั้งคนให้ ควรตระหนักว่า วิธีนี้มันไม่แฟร์เลย มาแข่งขันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เหอะ ส่วนประชาชนก็ควรจะเลิกมองว่าไอ้เรื่องพรรค์นี้มันเป็นเรื่องปรกติธรรมดาของสังคมไทยได้แล้ว แล้วที่สำคัญ ต้องยึดหลักการว่าอะไรไม่ถูกก็ต้องบอกว่ามันไม่ถูก ไม่ใช่เห็นว่าคนทำคือฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนแล้วก็หลับหูหลับตาชื่นชมกันต่อไปไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม รู้ไหมว่านั่นก็คือระบบอุปถัมภ์รูปแบบนึงเหมือนกัน”

ขณะที่เพจการเมืองหลักๆ อย่างเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 5 แสนคน ใช้รูปแบบการเปรียบเทียบกับตัวละครจากภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส เปรียบเรื่องดังกล่าวเป็นบทสนทนาสร้างเสียงหัวเราะ และมีคนเข้าไปกดไลก์หลายหมื่นคน และแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีการทำภาพอินโฟกราฟิกในประเด็นต่างๆ ในช่วงหลัง จนสร้างแรงสั่นสะเทือนและการรับรู้ในโลกออนไลน์อย่างมาก

เรื่องราวดูเหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ เมื่อมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพยายามไปย้อนหลังดู เฟซบุ๊กของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา ซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะ ในช่วงแรกพบว่า เจ้าตัวได้โพสต์รู้ตัวก่อนแล้ว ว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายทหาร เพราะมีการโพสต์ภาพเครื่องหมายของนายทหาร พร้อมข้อความแสดงให้เห็นถึงการพร้อมรับตำแหน่ง ขณะที่เมื่อเลื่อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ปี 2558 กลับพบเรื่องราวตรงกันข้าม เพราะปรากฏข้อความ ในทำนองตัดพ้อ และรู้สึกว่าตนเองไม่อยากเป็นทหาร และรู้สึกไร้คุณค่าที่คนใกล้ตัวไม่เข้าใจ บางสเตตัส บ่งบอกอารมณ์ของความไม่อยากเป็นทหารอย่างชัดเจน

เรื่องราวยังคงไม่จบ แม้ล่าสุดแม่ทัพภาคที่ 3 จะออกมายืนยันว่าขั้นตอนการแต่งตั้งทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดช่วยย้ำเตือนความสำคัญของการสื่อสาร ที่ถือเป็นพลังอำนาจหลักในการขับเคลื่อนสังคม ตั้งคำถามกับอำนาจและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

เพราะหากย้อนไปในอดีต การจัดการกับพลังการสื่อสารไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากสื่อถูกรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร หากแม้นผู้มีอำนาจจะใช้ความสามารถในการเข้าถึงและควบคุม คงไม่ใช่เรื่องยาก

แต่การเปลี่ยนแปลงด้านสื่อที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันสะท้อนให้เห็นว่า พลังของการตอบโต้ หรือต่อต้าน มันเกิดขึ้นได้ง่าย เห็นได้ชัด รวดเร็ว และสูงขึ้นอย่างมาก

ปัจจัยดังกล่าวเติบโตขึ้นพร้อมกับความสามารถในการตรวจสอบที่สูงขึ้น อีกทั้งประเด็นปัญหาดังกล่าวถูกนำมาแลกเปลี่ยนถกเถียงได้ตลอดเวลา ทั้งในโลกออนไลน์ และในชีวิตจริงด้วย

นี่คือพลังการต่อรองทางการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแม้ในชีวิตจริง การเปลี่ยนแปลงแบบเป็นทางการอาจจะยังไม่เกิดขึ้นรวดเร็วตามพลังของการสื่อสาร

แต่สิ่งที่วางใจได้คือพลังของการรับรู้ทางข้อมูล และการกดดันทางสังคมเริ่มขึ้นแล้ว

และหลายบทเรียนที่ผ่านมา สะท้อนว่ามันจะทำงานอย่างไม่มีวันหยุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image