ปธ.กกต. แจงปรับหลักเกณฑ์ตั้งพรรค ไม่ได้เอื้อพรรคใด ลั่น ไม่เป็นเครื่องมือใครยุบพรรค

ปธ.กกต. แจงปรับหลักเกณฑ์ตั้งพรรค ไม่ได้เอื้อพรรคใด ลั่น ไม่เป็นเครื่องมือใครยุบพรรค พิจารณาตามหลักฐาน
                      
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวถึงกรณีที่ทางสำนักงานกกต. ได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณารับจดแจ้งตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วันว่า พรรคที่มายื่นขอจดแจ้งจัดตั้งเป็นพรรคใหม่นั้นมีเป็นร้อยพรรค หน้าที่ของกกต.คือกลุ่มการเมืองหรือบุคคลใดที่ยื่นขอตั้งพรรคการเมืองเราต้องทำให้มั่นใจว่าเมื่อเขาขอจดแจ้งมาแล้วเราต้องจดจัดตั้งให้เขาทันเวลา เมื่อมีจำนวนหลายกลุ่มเราต้องเอาความเท่าเทียมกันเป็นเกณฑ์มากกว่าเอาพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยในการปฏิรูปการเมืองนั้นเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าพรรคใหม่หรือพรรคเล็กพรรคใหญ่เราก็ต้องสนับสนุนให้เขาสามารถดำเนินการให้ตรงวัตถุประสงค์ของเขา ดังนั้น เมื่อเขาขอจัดตั้งพรรคมาเราก็ต้องทำให้เขามั่นใจว่าเราจะจดให้เขาเป็นพรรคการเมืองได้ และให้เขาเข้าสู่สนามการเลือกตั้งได้ แต่คงไม่ใช่เป็นการปรับกันเพื่อเอื้อกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งถ้าจะปรับก็ให้มีมาตรฐานเดียวกัน
            
นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า ส่วนหลักเกณฑ์ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน ถ้านับจากวันที่มายื่นจดแจ้งกับวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีผลบังคับใช้แล้ววันที่‪11 ธันวาคม มองว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน ‬150 วัน การเลือกตั้งที่อาจจะมีขึ้น‪ในวันที่‬ ‪24 กุมภาพันธ์ 62‬  ฉะนั้น กกต.ต้องเร่งรัดการพิจารณาการยื่นขอจดแจ้งตั้งพรรคให้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อพรรคที่จะเกิดขึ้นใหม่จะได้มีเวลาทำตามขั้นตอน การที่เราจะใช้เวลาตามขั้นตอนจดทะเบียนพรรคตามที่เราคาดการณ์ไว้ว่า 60 วันนั้นเราจึงจำเป็นจึงปรับเวลาให้ทุกกลุ่มที่ยื่นขอตั้งพรรคสามารถดำเนินการเพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้งให้ได้ เพราะต้องการให้มีพรรคใหม่ๆเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ให้มากที่สุด
นายอิทธิพร กล่าวถึงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ออกมายืนยันว่าคสช.ไม่มีแผนยุบพรรคเพื่อไทยระบุเป็นหน้าที่ของกกต.หากพรรคเพื่อไทยกระทำความผิด ว่า เราคงไม่ได้เป็นเครื่องมือของใครในการจะยุบพรรค เพราะกกต.เองมีหน้าที่ที่จะต้องสอดส่อง ตรวจสอบการกระทำใดๆที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม ดังนั้น การตรวจสอบจึงเป็นหน้าที่ของกกต. ถ้ามีใครร้องเรียนหรือเราทราบเรื่องเองก็สามารถดำเนินการได้เลย ตามขั้นตอนเราต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก่อนดูว่ามีพยานหลักฐานหรือไม่ ถ้ามีพยานหลักฐานก็ดูว่าพยานนั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ที่ผ่านมาที่ปรากฏเป็นข่าวหรือเรื่องที่เราทราบเองก็จะมีการนำเสนอเรื่องเข้ามายังสำนักงานฯ แล้วถ้ามีมูลก็จะเสนอให้กกต.พิจารณาถ้าเห็นด้วยก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image