บทนำมติชน : แผนยุทธศาสตร์ชาติ

ร่างรัฐธรรมนูญกำลังเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ เนื้อหาสาระในร่างเป็นที่สนใจของบุคคลทุกวงการ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ที่กำหนดและวางหลักต่างๆ โดยเฉพาะในทางการเมืองและการบริหารอำนาจรัฐ เนื้อหาหนึ่งที่กล่าวถึงกันมาก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จาก พ.ศ.2560-2579 นอกจากกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังออกเป็นร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ออกมาเพื่อบังคับให้เป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ในการจัดทำแผนดังกล่าว คณะผู้ยกร่างย้ำว่า เป็นความจำเป็นของชาติที่จะต้องมีกรอบแผนงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีเป้าหมายสอดคล้องและต่อเนื่องกัน ในประเทศต่างๆ หลายประเทศก็มีแผนงานระยะยาวทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่า หากประเทศต่างๆ มีแผนยุทธศาสตร์ แผนดังกล่าวร่างขึ้นโดยใคร องค์กรไหน ด้วยกระบวนการอย่างไร ภายใต้การเมืองแบบใด และผู้มีอำนาจดูแลจัดการให้เป็นไปตามแผนคือองค์กรไหน

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการท่านหนึ่ง นายเกษียร เตชะพีระ ได้เขียนบทความลงในมติชนสุดสัปดาห์ ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้มีอำนาจจัดทำแผนการแห่งชาติขึ้น กล่าวคือ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ขึ้นใช้ระหว่าง พ.ศ. 2504-2509 เริ่มจากการวิจัยของธนาคารโลก ทีมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำ โดยกำหนดให้เป็นแผนการถาวรที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติให้สืบเนื่องกันไป และบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

นักวิชาการท่านเดียวกันนี้ ยังชี้ว่า นอกจากมีส่วนที่เหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างสองแผนนี้ มีอาทิ ยุทธศาสตร์ชาติมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างกว่าด้านเศรษฐกิจ จุดริเริ่มและกระบวนการยกร่างที่แตกต่างกัน กลไกผลักดันไม่ใช่สถาบันเทคโนแครตอย่างสภาพัฒน์ หากเป็นองค์กรการเมืองที่มีฐานจากการแต่งตั้งเป็นหลัก และขยายอำนาจไปครอบคลุมการตรวจสอบ และการลงโทษหากหน่วยงานใดไม่ปฏิบัติตามด้วย

Advertisement

รัฐบาลเชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้ประเทศพัฒนาไปตามทิศทางที่ได้ประเมินไว้ล่วงหน้าถึง 20 ปี ซึ่งนับว่าเป็นแผนงานที่ท้าทายความเป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก แต่ผลที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ได้แก่ จะเป็นกรอบควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลในระยะแรกๆ ของแผน นอกเหนือจากองค์กรอิสระต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image