พลังประชารัฐเขต 4 ชลบุรี ระดมความเห็นชาวสวนยาง-ปาล์ม เร่งเสนอ’สนธิรัตน์’แก้ไขปัญหาตกต่ำ

นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ว่าที่รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 4 ชลบุรี เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ รองนายก อบจ.ชลบุรี และอดีต ส.ส.ชลบุรี นายอุดมศักดิ์ เจริญวุฒิ ที่ปรึกษานายก อบจ.ชลบุรี นายจารุวัฒน์ สุขพันธุ์ถาวร สมาชิก อบจ.ชลบุรี เขต อ.บ่อทอง ได้เชิญแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปลูกปาล์มในพื้นที่ อ.บ่อทอง อ.หนองใหญ่ ประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมสมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เพื่อสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เพื่อเสนอนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางในช่วยเหลือระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งนำข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นายสรวุฒิ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปลูกปาล์มได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมากมาย ซึ่งได้มีการสรุปเพื่อเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ในส่วนของยางพารานั้นได้มีการเสนอให้งดเก็บเงินเข้าสมทบกองทุนยาง 2 บาท เพื่อให้เงินส่วนนี้กลับมาช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งพยายามผลักดันให้มีการตั้งสหกรณ์ผู้ปลูกสวนยางพารา เพื่อรวมกลุ่มให้เกิดพลังในการเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ รวมทั้งการผลักดันให้นำยางพาราไปใช้ในการทำถนน ทำสนามกีฬา เพื่อให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ยังไม่สานต่อให้เป็นรูปธรรม

นายสรวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปาล์มนั้นเกษตรกรได้พยายามเรียกร้องให้ธนาคารของรัฐสนับสนุนในการสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีการดำเนินการมาแล้ว 3-4 ปี โดยมีการจัดซื้อที่ดินในการสร้างโรงงาน และทำการประชาพิจารณ์ ซึ่งผ่านหมดแล้วเหลือแต่การขออนุมัติงบประมาณจากธนาคารของรัฐเท่านั้น ซึ่งเกษตรกรทราบดีว่าปาล์มสดนั้นมีค่ามากกว่ากิโลกรัมละ 2 บาท หากนำมาแปรรูปจะมีราคามากกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจในเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะพื้นที่ของเกษตรกร ยังมีเอกสารสิทธิ์เป็น สปก. หรือ ภ.บ.ท. ที่ยังมีปัญหาในพื้นที่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี อีกมาก

นายอุดมศักดิ์ เจริญวุฒิ ที่ปรึกษานายก อบจ.ชลบุรี กล่าวว่า การสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มในพื้นที่ อ.บ่อทองนั้น เกษตรกรได้มีการรวมตัวและพยายามศึกษาเกี่ยวกับการตั้งโรงงาน รวมทั้งศึกษาผลกระทบ ขออนุญาตตั้งเครื่องจักรกล รวมทั้งบีโอไอ ซึ่งได้ดำเนินการหมดแล้ว หลังจากนั้นได้แผนการกู้เงินจากธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมานานกว่า 3 ปีเศษ แต่ไม่มีการอนุมัติงบประมาณโดยจะใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท ปรากฏว่าทางธนาคารไม่กล้าอนุมัติ เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง

Advertisement

นายประชา ทรัพย์พิพัฒนา ประธานสหกรณ์สวนยางบ่อทอง กล่าวว่า สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.เก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร ในอัตราคงที่ 2 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบนั้น อยากให้หยุดเก็บเงินชั่วคราว เพื่อผลักดันให้เงินส่วนนี้กลับมาสู่เกษตรกร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็สนับสนุนให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราแล้ว ประกอบกับราคายางพาราตกต่ำ ส่วนในเรื่องของปาล์มนั้นช่วงนี้เหลือราคากิโลกรัมละ 2 บาทเศษ ปกติราคาจะต้องมากกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท เกษตรกรถึงจะอยู่ได้ จึงอยากให้เพิ่มน้ำมันปาล์มผสมในน้ำมันดีเซลจาก 7 เปอร์เซ็นต์เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ จะได้มีการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศมากยิ่ง และควบคุมไม่ให้มีการนำน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในประเทศไทย

นายวิชา แสงวิรัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และสวนปาล์ม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการนำยางพาราไปใช้ในการทำถนนอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลเคยกล่าวว่าจะใช้ยางพาราไปทำถนน แต่ไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง ไม่รู้ว่าไปติดปัญหากับบางบริษัทหรือเปล่าที่เกี่ยวกับข้องกับการทำถนน จึงไม่ยอมผลักดัน อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด จะได้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image