ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พท.-สามมิตร ยื่น กกต.โคราช ทบทวนรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ (คลิป)

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 11 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (สนง.กกต.จ.) นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรชตะ ด่านกุล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต อ.ด่านขุนทด พรรคเพื่อไทย (พท.) ร.ต.อ.สุปชัย หรือ ร.ต.อ คมกฤช อินทรักษา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 กลุ่มสามมิตร และนายศุภเดช จีบขุนทด ประธานนายกพุทธสมาคมอำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้เดินทางมายื่นเอกสารแสดงความคิดเห็นรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส.เขต จ.นครราชสีมา กับนายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จ.) นครราชสีมา เพื่อต้องการให้ กกต.นำไปพิจารณา และดำเนินการจัดรูปแบบเขตเลือกให้มีความเหมาะสม และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนมากกว่านี้

นายรชตะ ในฐานะตัวแทนชาวด่านขุนทด กล่าวว่า รูปแบบการจัดแบ่งเขตเลือกตั้งพื้นที่ อ.ด่านขุนทด ถูกกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้งที่ 13 และ 14 ทั้ง 3 รูปแบบได้แยกตำบลออกจากอำเภอ จึงไม่มีตัวเลือกใดๆ ที่จะรวม 16 ตำบล ของ อ.ด่านขุนทด เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันได้ ทำให้ชาวด่านขุนทดรู้สึกไม่ค่อยดี และย้อนแย้งกับความรู้สึกตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ส.ส.พื้นที่ อ.ด่านขุนทด ไม่เคยถูกแยกตำบลแต่อย่างใด การนำไปรวมกับ อ.ขามสะแกแสง ที่มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างกัน รวมทั้ง พืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญ เส้นทางสัญจรมีแต่ถนนสายรองต้องผ่านตัวหมู่บ้าน ตำบล ก่อนใช้ถนนทางหลวงชนบทเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับที่ว่าการ อ.ขามสะแกแสง ย้อนอดีตกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เป็นครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายที่ อ.ขามสะแกแสง และ อ.ด่านขุนทด เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวในยุคสมัยเป็นเขตใหญ่ มีจำนวน ส.ส. 3 คน ขอให้ กกต.พิจารณาจัดรูปแบบเขตเลือกตั้งใหม่ ที่ตน และชาวด่านขุนทด ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่แยกตำบลออกจากอำเภอ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยรวม อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ และ อ.พระทองคำ เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน เมื่อรวมจำนวนราษฎรจะอยู่ในสัดส่วนบวกลบไม่เกิน 10%

ร.ต.อ.สุปชัย หรือนายกหลี กล่าวว่า ขอให้ กกต.พิจารณาปรับเขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบ พบบางตำบลไม่มีพื้นที่ติดต่อกัน และไม่เคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน การสัญจรอยู่คนละฝั่งของตัวเมือง แต่ถูกจับมารวมเขต ขอเสนอให้จัดเขตเลือกตั้งที่ 3 ดังนี้ ต.บ้านใหม่ ต.ปรุใหญ่ ต.หนองจะบก ต.สีมุม ต.พลกรัง และ ต.โคกสูง อ.เมือง รวมกับ อ.สูงเนินและ อ.ขามทะเลสอ จะได้สัดส่วนราษฎรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และอยู่ในเส้นทางสัญจรเดียวกันที่สำคัญในอดีตเคยเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน

ด้านนายศิริชัย กล่าวว่า การจัดแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ใช้จำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จ.นครราชสีมา มี 2,639,226 คน เฉลี่ยราษฎร 188,516 คน ต่อ ส.ส. 1 คน คิดสัดส่วนต้องลดจำนวน ส.ส. 1 คน โดยเหลือ 14 เขตเลือกตั้ง กกต.ได้ยึดหลักเกณฑ์การจัดรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ดังนี้ 1.พื้นที่ติดต่อใกล้ชิดกัน 2.ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน 3.เป็นรูปแบบที่แยกตำบลออกจากอำเภอน้อยที่สุด และ 4.ใกล้เคียงกับรูปแบบการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

Advertisement

นายศิริชัยกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากสัดส่วนแตกต่างกันเกินไป ให้แบ่งตำบลของแต่ละอำเภอมารวมเป็น 1 เขตเลือกตั้ง เพื่อจัดให้ได้จำนวนราษฎรเพียงพอต่อเขตเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถแยกหมู่บ้านออกจากตำบลมารวมได้ โดยมีจัดทำทางเลือก 3 รูปแบบ ล่าสุดมีพรรคการเมือง และประชาชนใน จ.นครราชสีมา แสดงความคิดเห็น 10 ราย โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และช่วยกันคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และมีผลกระทบน้อยที่สุด กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จากนั้นจะประมวลข้อมูล ข้อเสนอแนะที่เป็นความคิดเห็นของพรรคการเมือง และประชาชน ซึ่งอาจต้องจัดแบ่งเป็นรูปแบบที่ 4 เพื่อสรุปรายงานผลการดำเนินการให้ กกต.กลาง คาดประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน กกต.กลาง พิจารณาให้ความเห็นชอบรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การจัดแบ่งเขตย่อมมีผลกระทบต่อพรรคการเมือง และประชาชน หากมติ กกต.เห็นชอบในรูปแบบใดถือเป็นที่ยุติ กกต.ไม่สามารถทำให้ถูกใจได้ทุกคนทุกพรรคการเมือง

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image