โครงร่างตำนานคน : ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ พิสูจน์เอกภาพประชาธิปัตย์ : โดย การ์ตอง

“ประชาธิปัตย์” ได้ชื่อว่าเป็นพรรคเก่าแก่ที่สุดในเวทีการเมืองไทย จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกคาดหวังอย่างสูงยิ่งว่าจะมั่นคงในการปกปักรักษาประชาธิปไตยให้อยู่ในกรอบของระบบ สมกับชื่อพรรค

ความคาดหวังนั้นนำสู่ความเชื่อถือ ศรัทธาว่า “ประชาธิปัตย์” เป็นหนึ่งเดียวกับ “ประชาธิปไตย”

ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าอะไรที่พรรคการเมืองเก่าแก่นี้กระทำ จะเป็นการง่ายที่จะบอกกล่าวให้ประชาชนเชื่อว่านั่นคือ “วิถีที่เหมาะควรสำหรับประชาธิปไตย”

ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ในยุคสมัยแห่งโกลาหลทางการเมือง ที่ “พรรคประชาธิปัตย์” ใช้วิธีก่อความวุ่นวายในรัฐสภา ไม่ยอมรับการประชุม ขว้างปาข้าวของ ทุ่มเก้าอี้กลางสภา ยกกำลังไปลากตัวประธานรัฐสภาลงจากบัลลังก์

Advertisement

นำสมาชิกพรรคออกมาเล่นการเมืองบนท้องถนน

ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง สร้างสถานการณ์ให้การเมืองถึงทางตัน เป็นเหตุให้กองทัพทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ

พาประเทศสู่การปกครองระบอบเผด็จการ

Advertisement

เมื่อผู้นำพรรคอธิบายว่า นี่คือหนทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปให้เกิดคุณภาพการเมือง สร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ประชาชนส่วนหนึ่งก็เชื่อตามนั้น

ว่าวิธีการเช่นนั้นคือ หนทางที่เหมาะสมของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เชื่อเพราะความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ปลูกฝังให้ประชาชนศรัทธาว่าฝากความหวังไว้ได้

หลังเผด็จการทหารครองอำนาจยาวนาน และมีแนวโน้มชัดเจนว่าวางแผนในทุกมิติที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป คล้ายกับเริ่มมีคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ

เป็นคำถามที่คำตอบเริ่มสั่นคลอนต่อศรัทธาในพรรคประชาธิปัตย์

มีประชาชนไม่น้อยที่เริ่มรู้สึก เริ่มลืมตาตื่นขึ้นแล้ว คำถามในใจถึง “ความจริงใจต่อประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์”

คำตอบเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมรูปธรรมมากมายที่สั่นคลอนความเชื่อถือศรัทธานั้น

ไม่เพียงภายนอกพรรค แต่ยังมีข่าวกระเส็นกระสายออกมาว่าภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ขัดแย้งกันรุนแรง

จนมีความเชื่อในระดับหนึ่งว่า หากประชาธิปัตย์ยังอยู่ภายใต้การนำของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไปไม่รอด พรรคจะแตกครั้งใหญ่อีกรอบ

นั่นเป็นข้อสันนิษฐาน เป็นการประเมิน

ความจริงจะเป็นเช่นไร เอกภาพของพรรคประชาธิปัตย์ยังมั่นคงแค่ไหน

การเลือกหัวหน้าพรรคที่กำลังจะมีขึ้น

โดย อลงกรณ์ พลบุตร กับ นพ.วรงค์ เดชวิกรมกิจ เป็นผู้ประกาศตัวชิงเก้าอี้จาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

และ “อลงกรณ์” แสดงออกชัดเจนถึงแนวทางพรรคที่ต่างไปจากพฤติกรรมที่เห็นต้นเหตุของ “ความกังขาเรื่องจริงใจต่อประชาธิปไตย”

จุดยืนของ อลงกรณ์ พลบุตร ที่ประกาศ เป็นทิศทางที่ชัดเจนว่าจะนำประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

สู่การพิสูจน์ความจริงใจต่อประชาธิปไตย

โดยมีความเชื่อว่าถึงวันนี้มวลสมาชิกประชาธิปัตย์หวั่นไหวกับภาพลักษณ์จนไม่น่าจะเป็นเอกภาพบ้างแล้ว

“เอกภาพ” ที่คือคำถามว่าเป็นอย่างความเชื่อ ความศรัทธาที่เคยมีมาหรือไม่

ผลการเลือกตั้งจะพิสูจน์ว่า “เอกภาพของประชาธิปัตย์” จะให้คำตอบอย่างไรกับความกังขาที่เริ่มเกิดขึ้นมากขึ้น มากขึ้น

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image